ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ท้องถิ่นไทย ย้อนกลับ
กาญจนบุรี - เวทีสามประชุมย่อยโครงการอุโมงค์น้ำเขื่อนศรีนครินทร์!!
25 เม.ย. 2567

 ชาวบ่อพลอยเห็นด้วยโครงการผันน้ำจากเขื่อนศรีฯ แต่โครงการออกแบบในพื้นที่ขอมีส่วนร่วม หวั่งชาวบ้านได้ใช้น้ำไม่ครอบคลุม

วันนี้ 25 เม.ย.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมพลอยไพลิน เทศบาลตำบลบ่อพลอย อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี นายสุรสิทธิ์ จันอุทา นายอำเภอบ่อพลอย  มอบหมายให้นางสาวกนกวรรณ อรรถการุณพันธ์ ปลัดอำเภอบ่อพลอย เป็นประธานเปิดการประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 1 เวทีที่ 3 งานจ้างสำรวจ ออกแบบ โครงการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง จังหวัดกาญจนบุรี 

โดยมีนายอรรถพล พรหมศิริ วิศวกรโยธา/ชลประทาน กล่าวรายงานถึงที่มาของโครงการฯมีนายชลเมธ มงคลศิลป์ วิศวกรโครงการงานจ้าง สำรวจ ออกแบบโครงการฯผู้แทนกิจการร่วมค้า PFWFT JV นายประยุทธ เจริญกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม บริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด นายกรกช เหล่านุญชัย วิศวกรโยธา /ชลประทาน ร่วมนำเสนอข้อมูลโครงการ วัตถุประสงค์ลักษณะและรายละเอียดโครงการ แนวคิดการออกแบบ เกณฑ์ในการออกแบบ และรูปแบบการพัฒนาโครงการ 

มีนางสาวลำยอง ยิ้มใหญ่หลวง นายก อบต.หนองรี นายอิทธิพัทธ์ รัตนสุวรรณาชัย นายก อบต.หลุมรัง ผู้แทน อบต.หนองกร่าง รวมทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ในพื้นที่ ต.หนองรี ต.หลุมรัง และ ต.หนองกร่าง อ.บ่อพลอย กว่า 100 คน เข้าร่วม ที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็นพร้อมเสนอแนะ เสนอปัญหารวมทั้งข้อกังวลเกี่ยวกับโครงการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง จังหวัดกาญจนบุรี ได้อย่างเต็มที่

โดยนางสาวลำยอง ยิ้มใหญ่หลวง นายก อบต.หนองรี และนายอิทธิพัทธ์ รัตนสุวรรณาชัย นายก อบต.หลุมรัง ได้เสนอแนะในที่ประชุมสอดคล้องกันว่า การสำรวจ ออกแบบ โครงการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง จังหวัดกาญจนบุรี บริษัทคู่สัญญาจ้างกับกรมชลประทานควรให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม เพราะชุมชนรู้พื้นที่เป็นอย่างดี และนอกจากนี้นายอิทธิพัทธ์ ยังขอให้แก้ไขการออกแบบบ่อรับน้ำหลุมรังจากที่ลึก 4 เมตร ให้เพิ่มเป็น 8-10-15 เมตร ตามความเหมาะสม เพราะหากพบตาน้ำใต้ดินด้วยก็จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน เพราะลำพังน้ำที่ผันมาจากเขื่อนศรีนครินทร์นั้นคงไม่เพียงพอ 

ขณะที่ตัวแทนชาวบ้านบางส่วนมีความกังวลว่าหากโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จชาวบ้านในพื้นที่จะไม่ได้รับประโยชน์อยู่ห่างจากโครงการ 4-5 กิโลเมตร จึงแสนอแนะให้ดำเนินการทำคลองย่อยให้เข้าไปถึงหมู่บ้านเพื่อที่ทุกครัวเรือนจะได้ประโยชน์จากการใช้น้ำ ซึ่งเจ้าหน้าที่วิศวกรฯที่ร่วมชี้แจงได้รับเรื่องเอาไว้พิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป ซึ่งบรรยากาศการประชุมเวทีที่ 3 ผ่านไปด้วยดี จนกระทั่งเวลา 12.00 น.จึงปิดการประชุม

ทั้งนี้นายอิทธิพัทธ์ รัตนสุวรรณาชัย นายก อบต.หลุมรัง อ.บ่อพลอย เปิดเผยภายหลังว่า ส่วนตัวมองว่าจริงๆแล้วโครงการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง จังหวัดกาญจนบุรี นั้นเป็นโครงการที่ดีมาก เพราะเรื่องน้ำมันเหมาะสมกับเกษตรกรที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ จึงเป็นเรื่องที่ดีมาก ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ใช้น้ำในส่วนที่เหลือจากการผลิตกระแสไฟฟ้าของเขื่อนศรีนครินทร์ เอาน้ำมาช่วยการเกษตรใน 3 อำเภอที่เป็นอำเภอภาคอีสานเมืองกาญจน์ คือ อ.บ่อพลอย ห้วยกระเจา และเลาขวัญ

แต่เรื่องรายละเอียดในการออกแบบนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะการออกแบบเจ้าหน้าที่ไม่ได้ประสานกับท้องถิ่น หรือท้องที่โดยตรง ซึ่งการออกแบบบริเวณพื้นที่สูงหรือต่ำถือว่าเป็นเรื่องดีแต่จะต้องดูความเหมาะสมในพื้นที่ที่ผ่านชุมชนให้ดีก่อนว่าผ่านจุดไหนจึงจะมีความเหมาะนี่คือเรื่องสำคัญที่จะต้องให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย

การผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์มาช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่กว่า 4 แสนไร่ ไม่ใช่เรื่องเด็ก แต่เป็นเรื่องที่มีหลายภาคส่วนได้รับประโยชน์ แต่ประเด็นข้อกังวลคือหากคลองส่งน้ำผ่านพื้นที่ ต.หนองรี แต่ชาว ต.หนองรีไม่ได้ใช้น้ำ ผ่านพื้นที่ ต.หลุมรัง ชาว ต.หลุมรังเองได้ใช้น้ำไม่เต็มที่ ซึ่งเป้าหมายการผันน้ำไปถึง องเลาขวัญ จึงไม่ใช่เรื่องง่าย ฉะนั้นแล้วประชาชนที่อาศัยตามเส้นทางโครงการควรที่จะได้รับประโยชน์จากการใช้น้ำในโครงการบ้างจึงจะเป็นเรื่องที่เหมาะสม

ไหนๆโครงการดังกล่าวได้ลงทุนเป็นหมื่นล้านบาทแล้ว ทำไมถึงจะลงทุนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่อยู่ตามเส้นทางโครงการฯให้มีน้ำใช้เพิ่มอีกสัก 10 ล้านไม่ได้ เพราะเรื่องน้ำเป็นเรื่องใหญ่เป็นหัวใจของเกษตรกรโดยตรง ซึ่งพวกเราเป็นผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่พร้อมที่จะให้ความร่วมมือเพราะเราก็อยากดูแลประชาชนเช่นกัน และเมื่อผู้นำท้องถิ่นผู้นำท้องที่ให้ความร่วมมือไปแล้ว ถามว่าเกษตรกรจะได้อะไรกลับมาบ้าง จึงอยากจะฝากไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าพวกเราต้องการมีส่วนร่วมในการผลักดันโครงการฯให้สำเร็จโดยเร็ว แต่ขออย่างเดียวคือให้ประชาชนในพื้นที่ได้ใช้น้ำทุกครัวเรือน
   //////////////////////////////////////////////////////////////
ข่าวภูมิภาคกาญจนบุรี / ปรีชา   ไหลวารินทร์ - รายงาน

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 1 - 15 พฤษภาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...