ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ย้อนกลับ
กทม.เผย 4 เหตุค่าฝุ่น PM 2.5 พุ่งกลางดึกทั่วเมืองหลวง
21 มี.ค. 2567

กทม.เผย 4 สาเหตุค่าฝุ่นจิ๋วพุ่งกลางดึกทั่วเมืองหลวง ชี้ทิศทางลมต่างจากวันอื่น ๆ เกิดการเผาในปริมณฑลหลายจุด สภาพอากาศแปรปรวน มีพายุฤดูร้อน ความชื้นในบรรยากาศทำเกิด PM 2.5

เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2567 นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร ให้คำตอบถึงสาเหตุของค่าฝุ่น PM2.5 ที่กลับมาพุ่งสูงใน กทม. ดังนี้

1. ทิศทางลมวันที่ 20 มี.ค. 67 เป็นทิศตะวันออก (ตามภาพ) ซึ่งต่างจากวันอื่น ๆ ช่วงนี้ที่มาจากอ่าวไทย ส่วนจุดเผาในช่วง 24 ชม. ที่ผ่านมาพบที่ปริมณฑลหลายจุด 

 2. ระยะนี้สภาพอากาศแปรปรวน มีพายุฤดูร้อน ประกอบกับมีความกดอากาศสูงผ่านทางอีสานมาเมื่อวาน ส่งผลให้ความสูงของชั้นบรรยากาศผสม (Mixing Height) ลดต่ำลง ฝุ่นละอองเกิดการสะสมตัวเพิ่มมากขึ้น 

3. ความชื้นในบรรยากาศทำให้เกิดฝุ่นละออง PM2.5 ทุติยภูมิ (Secondary PM2.5) เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะชนิดที่เกิดจากสารประกอบไนโตรเจนและแอมโมเนียจะเกิดปฏิกิริยาได้ดีในสภาวะที่มีความชื้นสูง

4. รูปแบบฝุ่นทุติยภูมิ (Secondary PM2.5) เกิดจากก๊าซบางชนิดที่ลอยอยู่ในอากาศ เช่น ก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ทำปฏิกิริยากับแสงแดด กลายเป็นฝุ่นลอยอยู่ในอากาศ มักเกิดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม

นายพรพรหม กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่มีกำมะถัน เช่น การเผาไหม้ถ่านหินหรือน้ำมัน ในโรงไฟฟ้า โรงถลุงโลหะ และโรงกลั่นน้ำมัน  ส่วนออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) ส่วนใหญ่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงภายใต้แรงดันอากาศที่สูง ทำให้เกิดการรวมตัวกันของออกชิเจนและไนโตรเจนเป็นไนตริคออกไซด์ (NO) ซึ่งเป็นก๊าซที่ไม่เป็นอันตราย แต่เมื่อขึ้นสู่บรรยากาศ NO จะถูกออกซิไดซ์ เป็นก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ซึ่งมีสีเหลืองอมน้ำตาล เป็นสารพิษที่ระคายเคืองตา แหล่งกำเนิดหลักของออกไซด์ของไนโตรเจน เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงในรถยนต์ การเผาไหม้ถ่านหินหรือก๊าซธรรมชาติ หรือกระบวนการอุตสาหกรรมในโรงงานผลิตปุ๋ยและวัตถุระเบิด

อย่างไรก็ตาม ประชาชนควรตรวจสอบข้อมูลคุณภาพอากาศก่อนออกจากบ้าน โดยสามารถตรวจสอบได้ทางแอปพลิเคชัน AirBKK / เว็บไซต์ www.airbkk.com เฟซบุ๊ก สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร, กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม, กรุงเทพมหานคร หรือ LINE ALERT

นายพรพรหม กล่าวด้วยว่า หากคุณภาพอากาศอยู่ในระดับสีส้ม ซึ่งหมายถึงเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ  ประชาชนทั่วไป ควรใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง เช่น หน้ากากป้องกัน PM2.5 ทุกครั้งที่ออกนอกอาคาร จำกัดระยะเวลาในการทำกิจกรรมหรือการออกกำลังกายกลางแจ้งที่ใช้แรงมาก และควรสังเกตอาการผิดปกติ เช่น ไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา  ส่วนประชาชนกลุ่มเสี่ยง ควรใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง เช่น หน้ากากป้องกัน PM2.5 ทุกครั้งที่ออกนอกอาคาร เลี่ยงการทำกิจกรรมหรือการออกกำลังกายกลางแจ้งที่ใช้แรงมาก ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ หากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...