ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
สื่อสาร - คมนาคม ย้อนกลับ
ทลฉ.เร่งแก้ปัญหาท่าเรือเทียบเรือไม่เพียงพอรองรับเรือสำราญเข้าเทียบท่าจำนวนมาก
18 ม.ค. 2567

ท่าเรือแหลมฉบังประสานหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมแก้ไขปัญหาเรือสำราญจำนวนมากเข้าเทียบท่าในช่วงไฮชีซัน ขณะที่ท่าเทียบมีไม่เพียงพอในการรองรับ

เมื่อวันที่ 17 ม.ค. ที่ผ่านมา ว่าที่ร้อยตรีรัฐกร เขียวไพศาล นักบริหาร 16 ประจำผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง พร้อมด้วยนายวีรชาติ พุทธรักษา ผู้ช่วยผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง และผู้บริหารกองต่างๆ ร่วมประชุมเพื่อหารือการรองรับเรือสำราญเทียบท่า ณ ท่าเรือแหลมฉบัง โดยมีหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบการในท่าเรือแหลมฉบัง และบริษัทเอเยนซีเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ ณ ห้องประชุม 1 อาคารบริหารท่าเรือแหลมฉบัง

นายวีรชาติ เผยว่า ในช่วงนี้เป็นช่วงไฮซีซัน จึงมีเรือสำราญจากต่างประเทศเข้ามาที่ท่าเรือแหลมฉบังจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันท่าเรือแหลมฉบัง มีท่าเรือโดยสาร คือ ท่าเทียบเรือ A1 ซึ่งสามารถรองรับเรือท่องเที่ยวขนาดใหญ่ (เรือครูซ) มีผู้โดยสาร 500-3,000 คน เพียงท่าเดียว แต่ในช่วงนี้มีปริมาณเรือสำราญที่ต้องการจะเข้าเทียบท่าจำนวนมากกว่าจำนวนท่าที่เรามีอยู่ จึงได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ประกอบการท่าเทียบเรือ เอเยนต์เรือโดยสาร เจ้าท่า และท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ เพื่อร่วมกันหารือและเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวร่วมกัน

 

 
 

สำหรับท่าเรือแหลมฉบังนั้น มีท่าเทียบเรือที่จะรองรับเรือสำราญเพียง 1 ท่า คือ ท่า A1 หากเรือสำราญเข้ามาเทียบท่ามากกว่า 1 ลำ จะทำให้เรือที่เหลือไม่มีที่จอด ดังนั้นท่าเรือแหลมฉบังจึงจะต้องประสานกับผู้ประกอบการท่าเรือตู้สินค้าต่างๆ ในท่าเรือแหลมฉบัง ช่วยรองรับเรือสำราญดังกล่าวด้วย ซึ่งช่วยได้น้อย เนื่องจากท่าเรือเหล่านั้นต้องรองรับเรือบรรทุกตู้สินค้า นอกจากนี้ยังมีท่าเรือที่พัทยา ที่เรือสำราญสามารถจอดทอดสมอได้ โดยจะมีเรือไปรับส่งนักท่องเที่ยวมาขึ้นฝั่ง และท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ ซึ่งมีโครงสร้างพื้นฐานในการรองรับเรือสำราญในระดับหนึ่ง ซึ่งท่าเรือแหลมฉบังสามารถประสานให้ได้ แต่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัย รวมทั้งพื้นที่อำนวยความสะดวกหลังท่าด้วย นอกจากนั้นยังมีท่าเรือเอกชนที่อยู่ภายนอกท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งตัวแทนเรือสำราญจะต้องประสานเอง

ทั้งนี้ ท่าเรือแหลมฉบังพร้อมให้การช่วยเหลือ เพื่อให้เรือสำราญสามารถมีท่าเรือในการรองรับ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้ประเทศ และจังหวัดชลบุรี แต่บางเรื่องที่ผู้ประกอบการเรือสำราญร้องขอที่เกี่ยวกับข้อกฎหมาย ท่าเรือแหลมฉบังพร้อมจะยืดหยุ่นให้ได้ในบางเรื่อง

นายวีรชาติ เผยต่ออีกว่า ปัจจุบันเรือสำราญที่เข้ามาเทียบท่าที่ท่าเรือแหลมฉบัง โดยเฉพาะท่าเรือ A1 นั้นมีประมาณ 60 เที่ยว แต่ท่าเทียบเรือสามารถรองรับได้เพียง 40 เที่ยว ส่วนที่เหลือได้กระจายไปยังท่าเทียบเรือต่างๆในท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งปัญหาเหล่านี้จะมีเพียงช่วงไฮซีซัน หลังจากนั้นจะเข้าสู่ภาวะปกติ ที่ทางท่าเรือ A1 สามารถรองรับได้

ด้าน นายวัฒนา โชคสุวณิช กรรมการผู้จัดการบริษัท อี.เอ.เอส. มาริไทม์เอเยนซี (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่า เรือสำราญที่เข้ามาเทียบท่าที่ท่าเรือแหลมฉบัง ในช่วงนี้มีจำนวนมาก ท่าเรือแหลมฉบังไม่สามารถรองรับได้เพียงพอ จึงมีได้ทำหนังสือร้องขอให้มีแก้ไขปัญหาดังกล่าว วันนี้ผู้บริหารท่าเรือแหลมฉบัง จึงได้มีหารือร่วมกันเพื่อวางแผนในระยะยาว และป้องกันปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น

ตนมองว่าประเทศไทยยังขาดสาธารณูปโภคและสาธารณูปการในการรองรับเรือสำราญซึ่งเรื่องนี้ทางรัฐบาลจะต้องให้ความสนใจและเพิ่มท่าเทียบเรือสำราญในการรองรับที่ได้มาตรฐาน เพราะหากมีท่าเทียบเรือในการรองรับเรือสำราญ ซึ่งจะทำให้มีการสร้างรายได้ให้ประเทศเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากเรือเข้ามามาก จำนวนนักท่องเที่ยวสูงขึ้นด้วย ซึ่งส่งผลเงินสะพัดในพื้นที่แน่นอน

นายวัฒนา กล่าวอีกว่า ในความเป็นจริงแล้ว ประเทศไทยควรมีท่าจอดเรือสำราญเพิ่มขึ้นมานานแล้ว แต่ยังไม่เกิดขึ้นสักที จึงทำให้เรือสำราญต้องไปอาศัยท่าเรือขนส่งสินค้า ซึ่งท่าเรือสินค้ามีเรือขนส่งตู้สินค้าประจำอยู่แล้ว โดยจะต้องไปเบียดการขนส่งตู้สินค้าให้เรือสำราญ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง

“หากมองถึงรายได้ที่จะเข้าประเทศ ด้านการท่องเที่ยวได้มีการวางแผนล่วงหน้า 1-2 ปี ถ้าประเทศไทยมีท่าเทียบเรือรองรับ
สามารถวางแผนด้านการท่องเที่ยวในช่วงเวลาดังกล่าวได้ เช่น โรงแรมจะรู้ว่ามีผู้เข้ามาพักอาศัยเท่าไร สนามบินจะรู้ว่ามีเที่ยวบินจำนวนเท่าไร ซึ่งเป็นการวางแผนงานเพื่อสร้างรายได้ให้ประเทศอย่างมหาศาล” นายวัฒนา กล่าว

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...