ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
สื่อสาร - คมนาคม ย้อนกลับ
เฮโมโนเรลสีชมพูมีนบุรี-แคราย ดีเดย์บริการ18ธ.ค.นี้
25 ต.ค. 2566

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง พร้อมด้วยผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางราง ลงพื้นที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ร่วมกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) บริษัทที่ปรึกษาโครงการ (PCPK) และบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้ให้บริการเดินรถ เพื่อติดตามความพร้อมก่อนเปิดให้บริการประชาชนในเดือนธันวาคม 2566

ซึ่ง รฟม.ได้เร่งรัดผู้รับจ้างในการเปิดให้บริการเร็วขึันจากเดิม เดือนมิถุนายน 2567 เบื้องต้นผู้รับจ้างคาดว่าจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในวันที่ 18 ธันวาคม 2566 โดยให้บริการในช่วง 06.00-24.00 น. อย่างไรก็ตาม รฟม.จะต้องตรวจสอบงานและความปลอดภัยให้เป็นไปตามสัญญาก่อนเปิดให้บริการต่อไป

สำหรับ รถไฟฟ้าสายสีชมพู หรือที่รู้จักกันในชื่อ “น้องนมเย็น” เป็นรถไฟฟ้าโมโนเรลสายที่สองของไทย ถัดจากรถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง มีแนวเส้นทางเริ่มจากศูนย์ราชการนนทบุรี วิ่งผ่านถนนสำคัญหลายเส้น ได้แก่ ถนนรัตนาธิเบศร์ ถนนติวานนท์ ถนนแจ้งวัฒนะ ถนนรามอินทรา และถนนสีหบุรานุกิจ จนถึงมีนบุรี รวมระยะทาง 34.50 กิโลเมตร มี 30 สถานี มีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายอื่น ได้แก่ สายสีเขียว สายสีแดง สายสีม่วง ปัจจุบันมีความคืบหน้าแล้วกว่า 98.37%

โดยการลงพื้นที่ครั้งนี้ เริ่มต้นจากสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ (PK16) ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อกับสถานีวัดพระศรีมหาธาตุของรถไฟฟ้าสายสีเขียว จุดเด่นของสถานีนี้ คือ ชานชาลาและทางวิ่งจะถูกแยกเป็น 2 ฝั่ง และมีสะพานรถยนต์ข้ามแยกวงเวียนบางเขนคั่นอยู่ตรงกลาง โดยจะมี Skywalk ให้ผู้ใช้บริการสามารถเดินทะลุจากชานชาลาของรถไฟฟ้าสายสีชมพูไปที่บริเวณขายตั๋วของรถไฟฟ้าสายสีเขียวได้เลย โดยไม่ต้องแตะบัตรเข้า-ออกอีกครั้ง ทำให้เดินทางสะดวกรวดเร็วมากขึ้น

ต่อมาได้ร่วมทดสอบการเดินรถ จากสถานีวัดพระศรีมหาธาตุไปยังสถานีหลักสี่ (PK14) สถานีนี้มี Skywalk เชื่อมต่อไปที่สถานีหลักสี่ของรถไฟชานเมืองสายสีแดง ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และศูนย์การค้าไอทีสแควร์ ซึ่งอยู่คนละฝั่งของถนนวิภาวดีรังสิตได้

นอกจากนี้ รถไฟฟ้าสายสีชมพูยังมีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง ที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) โดยมี Skywalk แห่งแรกในไทย ที่มีทางเดินเลื่อนอัตโนมัติ (Walkalator) ความยาว 340 เมตร ในอนาคตสถานีนี้จะมีการเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลช่วงแคราย-ลำสาลีได้อีกด้วย

สำหรับสถานีแจ้งวัฒนะ 14 (PK 11)-สถานีโทรคมนาคมแห่งชาติ (PK 13) ที่เริ่มการก่อสร้างทางขึ้น-ลงได้ล่าช้า ปัจจุบันก่อสร้างเสาตอม่อและโครงสร้างเหล็กแล้ว อยู่ระหว่างก่อสร้างหลังคา ราวกันตก ติดตั้งและทดสอบการใช้งานบันไดเลื่อนและลิฟต์ ในส่วนของการเชื่อมต่อ สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ จะมี Skywalk เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ปฏิบัติงานในบริเวณศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติกว่าแสนราย รวมถึงทยอยคืนพื้นผิวจราจรตลอดแนวเส้นทาง เพื่อให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเดินทางได้สะดวกปลอดภัย

สำหรับจุดที่ตั้ง 30 สถานี

1.สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี เชื่อมต่อกับสายสีม่วง ตั้งอยู่บนถนนรัตนาธิเบศร์หน้าศูนย์ราชการจังหวัดนนทบุรี

2.สถานีแคราย ตั้งอยู่บนถนนติวานนท์ ใกล้แยกแคราย โรงพยาบาลโรคทรวงอก ระหว่างติวานนท์ ซอย 11 และ 13

3.สถานีสนามบินน้ำ ตั้งอยู่บนถนนติวานนท์ ใกล้กับแยกสนามบินน้ำ

4.สถานีสามัคคี ตั้งอยู่บนถนนติวานนท์ ระหว่างซอยสามัคคีกับคลองบางตลาด

5.สถานีกรมชลประทาน ตั้งอยู่บนถนนติวานนท์ ระหว่างโรงเรียนชลประทานวิทยา และวิทยาลัยการชลประทาน

6.สถานีปากเกร็ด ตั้งอยู่บริเวณหัวมุมของห้าแยกปากเกร็ด ก่อนเข้าสู่ถนนแจ้งวัฒนะ

7.สถานีเลี่ยงเมืองปากเกร็ด ตั้งอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ ก่อนถึงทางแยกตัดกับถนนเลี่ยงเมืองปากเกร็ด

8.สถานีแจ้งวัฒนะปากเกร็ด 28 อยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ ใกล้กับห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลแจ้งวัฒนะ

9.สถานีเมืองทองธานี อยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ ใกล้ทางด่วนศรีรัช และโรงเรียนคลองเกลือ

10.สถานีศรีรัช อยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ ในเขตจังหวัดนนทบุรี ใกล้ห้างแม็คโคร

11.สถานีแจ้งวัฒนะ 14 อยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ ในเขตกรุงเทพฯ ใกล้ห้างบิ๊กซีซุปเปอร์เซ็นเตอร์ โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ

12.สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ อยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณหน้ากรมศุลกากรและหน้ากองร้อยลาดตระเวนระยะไกลกองพลที่ 1 รักษาพระองค์

13.สถานีทีโอที อยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณหน้าบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)

14.สถานีหลักสี่ อยู่บนถนนแจ้งวัฒนะใกล้หมวดการทางหลักสี่ กรมทางหลวงระหว่างถนนวิภาวดีรังสิตและแจ้งวัฒนะ ซอย 8 เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีแดง (ช่วงบางซื่อ-รังสิต) ด้วยสกายวอล์ก

15.สถานีราชภัฏพระนคร อยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ หน้าแมกซ์แวลูและมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร

16.สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ ตั้งอยู่บริเวณวงเวียนอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ เชื่อมต่อกับสายสีเขียวหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต

17.สถานีรามอินทรา 3 ตั้งอยู่บนถนนรามอินทรา บริเวณนี้จะรองรับพื้นที่พักอาศัยขนาดใหญ่ช่วงรามอินทราซอย 3 และซอย 5 และตั้งอยู่ด้านหน้าคอนโดมิเนียมลุมพินี รามอินทรา-หลักสี่ ใกล้เซ็นทรัลรามอินทรา

18.สถานีลาดปลาเค้า ตั้งอยู่บนถนนรามอินทรา บริเวณรามอินทรา ซอย 23 และรามอินทรา ซอย 4/3

19.สถานีรามอินทรา 31 ตั้งอยู่บนถนนรามอินทรา ระหว่างรามอินทรา ซอย 33 และซอย 37

20.สถานีมัยลาภ ตั้งอยู่บนถนนรามอินทรา ช่วงรามอินทรา ซอย 41 ใกล้กับรามอินทรา ซอย 14 (ซอยมัยลาภ)

21.สถานีวัชรพล ตั้งอยู่บนถนนรามอินทรา ถัดจากทางพิเศษฉลองรัช ช่วงบริเวณรามอินทรา ซอย 57/1 และ ซอย 59

22.สถานีรามอินทรา 40 อยู่บนถนนรามอินทรา ช่วงระหว่างรามอินทรา ซอย 40 และ 42

23.สถานีคู้บอน ตั้งอยู่บนถนนรามอินทรา ช่วงรามอินทรา ซอย 69 และซอย 46

24.สถานีรามอินทรา 83 ตั้งอยู่บนถนนรามอินทรา ช่วงระหว่างรามอินทราซอย 83 และ 85

25.สถานีวงแหวนตะวันออก ตั้งอยู่บนถนนรามอินทราถัดจากถนนวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันออก ใกล้ห้างแฟชั่นไอส์แลนด์ และ The Promenade

26.สถานีนพรัตนราชธานี ตั้งอยู่บนถนนรามอินทรา ช่วงซอยสวนสยามและโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี

27.สถานีบางชัน ตั้งอยู่บนถนนรามอินทรา บริเวณระหว่างรามอินทรา ซอย 113 และ ซอย 115

28.สถานีเศรษฐบุตรบำเพ็ญ ตั้งอยู่บนถนนรามอินทรา ช่วงรามอินทรา ซอย 123 ใกล้กับโรงเรียนเศรษฐบุตรบำเพ็ญ

29.สถานีตลาดมีนบุรี เป็นสถานีแรกบนถนนสีหบุรานุกิจ ต่อเนื่องมาจากถนนรามอินทรา ตั้งอยู่หน้าตลาดนัดจตุจักร 2

30.สถานีมีนบุรี เป็นสถานีปลายทาง ตั้งอยู่ริมถนนรามคำแหง ระหว่างรามคำแหง ซอย 192 และคลองสองต้นนุ่น จะมีโรงจอดรถไฟฟ้า ศูนย์ซ่อมบำรุงและอาคารจอดแล้วจร และเป็นสถานีที่เดินเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรีได้

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...