ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ธรรมาภิบาล ย้อนกลับ
ป.ป.ช.ชี้มูลอดีตผู้ว่าอุบลฯ-มุกดาหารทุจริตยาศัตรูพืช
06 ก.ย. 2566

นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดนายสุรพล สายพันธ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมพวก กรณีทุจริตในการจ่ายเงินทดลองราชการเพื่อจัดซื้อสารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืช เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ด้านพืช) อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ปีงบประมาณ 2555 โดยไม่มีภัยระบาดฉุกเฉินเกิดขึ้นจริง และเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มเอกชนผู้ประกอบการบางราย โดยการกระทำของนายสุรพล มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 มาตรา 151 มาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 และมาตรา 91 ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 11 และมาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และมาตรา 91 ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และมาตรา 91 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง

การกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องในระดับจังหวัดและระดับอำเภอ มีมูลความผิดทางอาญา และความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรง หรือข้อกล่าวหาตกไป ตามแต่พฤติการณ์แห่งกรณี, การกระทำของนายเกรียงไกร วรรณเสริมสกุล มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 มาตรา 149 และมาตรา 151 ประกอบมาตรา 86 และมาตรา 91 ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 11 และมาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และมาตรา 91 และกลุ่มเอกชนที่เกี่ยวข้อง มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่ของรัฐ

ทั้งนี้ ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจ ส่งรายงาน สํานวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคําวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อดำเนินการทางวินัย ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 91 (1) (2) และมาตรา 98 แล้วแต่กรณีต่อไป รวมทั้งให้แจ้งผู้บังคับบัญชาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจเพื่อให้มีการชดใช้ค่าเสียหาย ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 และให้แจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำของกลุ่มบริษัทเอกชนให้กรมบัญชีกลางดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไปด้วย

ในวันเดียวกัน (6 กันยายน) นายนิวัติไชย แถลงว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดนายชาญวิทย์ วสยางกูร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร พร้อมพวก กรณีดำเนินการออกประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ด้านพืช) โดยมิชอบ และร่วมกันทุจริตการใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อจัดซื้อสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ด้านพืช) ของอำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร ประจำปีงบประมาณ 2554 – 2555 จำนวน 11 ภัย หรือ 11 ครั้ง โดยการกระทําของนายชาญวิทย์ มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 มาตรา 157 ประกอบมาตรา 91 ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 10 มาตรา 11 และมาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 ซึ่งปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง

การกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องในระดับจังหวัดและระดับอำเภอ มีมูลความผิดทางอาญา และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรง หรือข้อกล่าวหาตกไป ตามแต่พฤติการณ์แห่งกรณี, การกระทำของนางสาวชฎาพร ศุภสรรพตระกูล มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 11 และมาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และกลุ่มเอกชนที่เกี่ยวข้อง มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่ของรัฐ

ทั้งนี้ ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจ ส่งรายงาน สํานวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคําวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อดำเนินการทางวินัย ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 91 (1) (2) และมาตรา 98 แล้วแต่กรณีต่อไป รวมทั้งให้แจ้งผู้บังคับบัญชาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจเพื่อให้มีการชดใช้ค่าเสียหาย ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 และให้แจ้งข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการกระทำของกลุ่มบริษัทเอกชนให้กรมบัญชีกลางดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไปด้วย

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...