ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ธรรมาภิบาล ย้อนกลับ
ทุจริตต่อหน้าที่
16 เม.ย. 2563

เขียนให้คิด โดย ซีศูนย์

 

“ทุจริตต่อหน้าที่”

สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่เคารพ ช่วงนี้พวกเราคงไม่ค่อยมีกิจกรรมนอกบ้านกันเหมือนเมื่อก่อนนะครับ เพราะแทบทุกหน่วยงานจะให้คนทำงานอยู่ที่บ้าน หรือสลับผลัดเปลี่ยนกันไปทำงาน หรือเมื่อพบปะกันต้องยืนห่างกัน เพื่อป้องกันเจ้าโควิท-19 ปีนี้ดูเหมือนว่าปัญหาอะไรต่อมิอะไรเข้ามากระทบกับวิถีชีวิตของคนไทยทั้งประเทศ ไม่ว่า PM 2.5 แล้วก็มาเจ้าโควิท-19 นี้เอง ก็ต้องระมัดระวังและปฏิบัติตามแพทย์แนะนำนะครับ 

เราว่ากันต่อถึงเรื่องการปราบปรามการทุจริตของ ป.ป.ช. ซึ่งพูดถึงคำนิยามที่น่าสนใจอีกคำคือ “ทุจริตต่อหน้าที่” ซึ่งสรุปจากคำนิยามได้ว่า คนที่จะถูกกล่าวหาว่าทุจริตและ ป.ป.ช.ดำเนินการได้นั้น อันแรกต้องเป็นเจ้าหน้าที่ ซึ่งก็หมายถึงคนที่รับราชการกินเงินเดือนซึ่งเป็นภาษีชาวบ้านนั้นเอง และประการที่สอง ผู้นั้นจะต้องมีหน้าที่ ซึ่งเป็นหน้าที่ตามตำแหน่งงาน หรืออาจได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ทำหน้าที่อย่างใดหรือหลายอย่าง เช่น แต่งตั้งเจ้าหน้าที่โยธาเป็นกรรมการตรวจรับพัสดุ ให้เจ้าหน้าที่การเงินและบัญชีทำหน้าที่ด้านการเงินการคลังงบประมาณ หรือเป็นเจ้าหน้าที่พัสดุเป็นต้น  

ประการต่อมาคือ ใช้หน้าที่และอำนาจที่ได้รับตามตำแหน่งหรือโดยได้รับมอบหมายนั้น ไปปฎิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือทุจริต เช่น เจ้าหน้าที่โยธาช่วยเหลือในการออกใบอนุญาตปลูกสร้างอาคาร ทั้งที่ผู้ขอขออนุญาตปลูกสร้างโดยแบบรูปปลูกสร้างไม่ถูกต้อง หรือการก่อสร้างไม่เป็นไปตามแบบ อีกประการหนึ่งเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบสำหรับตนเองหรือผู้อื่น ก็คือ ช่วยเหลือเขาแล้วไปเรียกรับเงินจากคนที่ขอใบอนุญาต

ดังนี้ เมื่อไรก็ตามที่ข้าราชการรายใดถูกกล่าวหาว่าทุจริตเช่นว่านั้น ป.ป.ช.ก็จะพิจารณาไต่สวนเรื่องเหล่านี้ตามฐานความผิดที่กำหนดไว้ในกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่นที่ถือพฤติการณ์เป็นความผิดอาญา เช่น พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 หรือ พ.ร.บ.ฮั้ว  พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 เป็นต้น และชี้มูลความผิดเจ้าหน้าที่ผู้ถูกกล่าวหาไป ผลการชี้มูลคดีของ ป.ป.ช.อย่าลืมว่าเป็นทั้งวินัยและอาญานะครับ แถมบางเรื่องยังต้องรับผิดทางแพ่งอีก เรียกว่าในการปฏิบัติหน้าที่ข้าราชการเราพึงต้องระมัดระวังในทุกเรื่องครับ 

นอกจากนั้นแล้วโดยทั่วไปคำนิยาม “ทุจริตต่อหน้าที่” ที่กล่าวข้างต้น เป็นเรื่องความผิดทางอาญาตามกฎหมายอาญา หมายถึง ป.ป.ช.จะเอากฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่นที่มีบทลงโทษทางอาญานั้นมาปรับบทความผิด แต่คำนิยาม ”ทุจริตต่อหน้าที่” ตามกฎหมายระกอบรัฐธรรมนูญของ ป.ป.ช.ยังมากไปกว่านั้นคือ พฤติการณ์การกระทำผิดนั้นยังคลุมไปถึงการที่ข้าราชการที่ถูกกล่าวหานั้นไปทำอะไรในลักษณะที่ทำให้คนอื่นเชื่อว่า ข้าราชการคนนั้นมีหน้าที่ทั้งที่ตัวเองไม่มีหน้าที่ หรืออ้างว่าตัวเองมีหน้าที่ทั้งที่ไม่มีหน้าที่ แล้วไปเรียกรับผลประโยชน์จากคนอื่นเขา อย่างนี้ก็ถือเป็นทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมาย ป.ป.ช.ด้วยนะครับ

จำได้ว่า ป.ป.ช.เคยชี้มูลเจ้าหน้าที่ในเรื่องประเภทนี้เมื่อหลายปีมาแล้ว เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า เจ้าหน้าที่ขนส่งระดับ 5 ทำหน้าที่หัวหน้าขนส่งสาขาอำเภอในจังหวัดหนึ่ง ได้ช่วยเหลือชาวบ้านรายหนึ่งที่ต้องการนำรถตู้รับส่งผู้โดยสารภายในจังหวัดนั้น จากอำเภอหนึ่งไปยังอำเภอเมือง เจ้าหน้าที่รายนี้ได้เรียกร้องเงิน 500,000บาท เป็นค่าตอบแทนในการให้ความช่วยเหลือให้ได้รับอนุญาต โดยรับรองว่า ถ้าไม่ได้รับอนุญาตจะคืนเงินทั้งหมด ทั้งที่เจ้าหน้าที่รายนี้ไม่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการอนุญาตประกอบการขนส่ง ชาวบ้านแกเชื่อว่า เจ้าหน้าที่รายนี้เป็นเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางบกมีอำนาจหน้าที่สามารถช่วยเหลือได้ จึงตกลงมอบเงินสด 60,000บาท และโอนเงินเข้าบัญชีอีก 440,000บาท

ต่อมาเจ้าหน้าที่รายนี้ได้ร่างหนังสือให้ชาวบ้านที่ขอเดินรถไปยื่นที่สำนักงานขนส่งจังหวัด เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนราชการโดยนำเรื่องเสนอคณะกรรมการขนส่งประจำจังหวัดนั้นเพื่อให้มีมติอนุมัติกำหนดเส้นทาง แต่มีผู้ได้รับอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางระหว่างจังหวัดนั้นกับจังหวัดใกล้เคียงยื่นหนังสือคัดค้าน เนื่องจากจะเป็นการทับเส้นทางกัน คณะกรรมการฯ จึงมีมติให้รวบรวมข้อมูลแล้วนำเสนอที่ประชุมอีกครั้ง จึงไม่มีการออกใบอนุญาตให้ เมื่อชาวบ้านรายนั้นทราบว่า ไม่สามารถช่วยเหลือได้ จึงแจ้งความร้องทุกข์พนักงานสอบสวนกล่าวหาเจ้าหน้าที่ขนส่งรายนี้   เจ้าหน้าที่รายนี้จึงยอมคืนเงินให้ โดยมีการแก้ข้อกล่าวหาว่าเป็นการกู้ยืมเงินกัน แต่มิได้มีหลักฐานการกู้ยืมเงินจริง เมื่อ ป.ป.ช.รับเรื่องนี้จากพนักงานสอบสวนเพื่อพิจารณา ซึ่ง ป.ป.ช.พิจารณาตามหลักฐานที่ปรากฏแล้ว จึงมีมติชี้มูลความผิดทางวินัยร้ายแรง และมีมูลความผิดทางอาญาตามมาตรา 123 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช.2542 ขณะนั้น ถ้าปัจจุบันก็จะเป็นไปตามมาตรา 171 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. 2561 ละครับ

ก็เป็นอุทาหรณ์อีกเรื่อง ที่แม้ว่าเจ้าหน้าที่คนนั้นไม่มีหน้าที่ แต่ถ้าไปอ้างว่ามีหน้าที่ ทั้งที่ไม่มีหน้าที่แล้วไปกระทำการอย่างใดเพื่อช่วยเหลือใครก็ตาม แต่ไปเรียกรับผลประโยชน์อย่างใดแล้ว ก็ไม่พ้นทั้งวินัยและอาญาตามที่เล่าให้ฟังนะครับ ติดตามตอนต่อไปนะครับมีเรื่องเล่าต่อครับ

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...