ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คุณภาพชีวิต ย้อนกลับ
กรมคุมโรคขับเคลื่อนเครือข่าย ยุติเอดส์ปี2573
13 พ.ย. 2562

   นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับประเทศ เรื่อง การพัฒนาแนวทางการรับรองอาสาสมัครองค์กรภาคประชาสังคมในการจัดบริการด้านเอชไอวี และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เพื่อยุติปัญหาเอดส์ ว่า ประเทศไทยได้กำหนดเป้าหมายในการยุติเอดส์ภายในปี 2573 และได้เร่งรัดด้านการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มประชากรหลัก เพื่อนำเข้าสู่การดูแลรักษาอย่างรวดเร็ว โดยองค์กรภาคประชาสังคมที่จัดบริการด้านเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในชุมชน มีบทบาทสำคัญในการดำเนินงานดังกล่าว เนื่องด้วยมีความเข้าใจบริบทของกลุ่มประชากรเป้าหมาย มีศักยภาพในการเข้าถึง และให้บริการด้านเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          ที่ผ่านมา กรมควบคุมโรค ร่วมกับภาคีเครือข่ายระดับประเทศ ได้แก่ ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย โครงการ USAID Community Partnership  ศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐ ด้านสาธารณสุข (TUC) โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) มูลนิธิรักษ์ไทย  มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ มูลนิธิเอ็มพลัส  สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย และองค์กร ภาคประชาสังคมที่ดำเนินงานด้านเอดส์ ร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานตามระเบียบกระทรวงสาธารณสุขฯ ซึ่งออก ตามความในกฎหมายวิชาชีพเวชกรรม กฎหมายวิชาชีพเภสัชกรรม และกฎหมายวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ รวม 3 ฉบับ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2562 และมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันประกาศ ในราชกิจจานุเบกษา คือในวันที่ 16 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา นับเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการรับรองอาสาสมัครองค์กรภาคประชาสังคม ให้สามารถจัดบริการด้านเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยการดูแลกำกับคุณภาพจากเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพฯ และปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด

          นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการประชุมครั้งนี้ เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการพัฒนาแนวทางการรับรองอาสาสมัครองค์กรภาคประชาสังคม ในการจัดบริการฯ จากประสบการณ์ของนานาประเทศ โดยผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ด้านการรับรองอาสาสมัครสุขภาพชุมชน 2 ท่าน คือ Jean Zotter และ Theresa Mason ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) และร่างแนวทางของประเทศไทยที่ได้พัฒนาขึ้น เพื่อให้หน่วยงานในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วม ก่อนขับเคลื่อนสู่การพิจารณาของคณะกรรมการต่างๆ และใช้เป็นแนวปฏิบัติต่อไป

          การประชุมในครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และอาสาสมัครองค์กรภาคประชาสังคม ในพื้นที่สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1-12 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แพทยสภา สภาเภสัชกรรม สภาเทคนิคการแพทย์ ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กองกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โครงการ USAID Community Partnership  ศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐ ด้านสาธารณสุข (TUC) โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) องค์กรภาคประชาสังคม และผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญ บุคลากร ของกรมควบคุมโรค  รวมทั้งสิ้น 100 คน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.142

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...