ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เกษตรนำไทย ย้อนกลับ
เกษตรกรชุมชนตะเคียนเตี้ย จ.ชลบุรี กินกะลามะพร้าว ขายกิโลละพัน!
15 พ.ย. 2561

นายภาสันต์ นุพาสันต์ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากการนำปฏิรูปภาคการเกษตรของสภาเกษตรกรแห่งชาติ โดยให้เกษตรกรแปรรูปผลผลิตเป็นผลิตภัณฑ์แล้วจึงขาย เป้าหมายต่อไปคือการตลาดของผลิตภัณฑ์ที่แปรรูป ซึ่งเห็นว่า การทำให้พื้นที่การเกษตรเป็นแหล่งท่องเที่ยวเป็นการตลาดที่ดีช่องทางหนึ่ง จึงประสานงานกับสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดชลบุรีเพื่อเรียนรู้การบูรณาการร่วมกับองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)(อพท.) ณ วิสาหกิจชุมชนตะเคียนเตี้ย (บ้านร้อยเสา) อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ซึ่งได้พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

ในอดีตชุมชนตะเคียนเตี้ยมีอาชีพทำนา น้ำสมบูรณ์ตลอดทั้งปี แต่ต่อมาน้ำที่ใช้ทำนาเริ่มไม่เพียงพอ ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงหันไปปลูกมะพร้าวเพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัว จนปัจจุบันมีการทำเกษตรผสมผสานมากขึ้น แต่มะพร้าวยังถือเป็นพืชหลักของชุมชน โดยสามารถใช้ภูมิปัญญาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวได้หลากหลาย และที่สร้างชื่อให้กับชุมชนคือ “แกงไก่กะลา” โดยนางอภิญญา ทิพนาค (ป้าแป๊ด) อายุ 54 ปี ชาวบ้านตะเคียนเตี้ยผู้ปลูกมะพร้าวพันธุ์หมูสี ซึ่งเป็นพันธุ์พื้นเมืองเล่าให้ฟังว่า ปลูกมะพร้าวพันธุ์ดังกล่าวบนพื้นที่ 2 ไร่ มะพร้าวหมูสีเป็นพันธุ์ดั้งเดิมของที่นี่เป็นพันธุ์กินผลอ่อน น้ำมีรสชาติหวานแต่ไม่หอม ที่รอบหัวจุกมะพร้าวจะเป็นสีขาว เมื่อดึงขั้วจุกออกจะมีสีชมพูยังไม่มีเนื้อมะพร้าวเป็นกะลาอ่อนรสชาติกรุบ กรอบ มัน หวานอ่อน หอมมะพร้าวอ่อน อร่อย หากรอบขั้วจุกมะพร้าวเป็นสีเขียวจะมีเนื้อมะพร้าวใช้กินไม่ได้ เพราะกะลาจะมีรสฝาด

คนในชุมชนตะเคียนเตี้ยกินกะลามะพร้าวอ่อนกันมานาน และขายเป็นมะพร้าวกินผลอ่อน โดยนำกะลามาบริโภคเป็นอาหารราคาขายอยู่ที่ลูกละ 25-30 บาท ซึ่งกะลามะพร้าวอ่อนจะเก็บได้เมื่อลูกมะพร้าวออกทะลาย 2-3 เดือน ใน 1 ปีจะมีผลผลิต 12 ทะลายต่อต้น หากเป็นมะพร้าวที่แก่กว่านี้ ราคาขายอยู่ที่ลูกละ 4-5 บาท ใช้แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ แทน ผลผลิตกะลามะพร้าวอ่อนมีทุกวัน และยอดสั่งจองก็มีทุกวันเช่นเดียวกัน

ในการผลิตกะลามะพร้าวอ่อนเพื่อการบริโภคนั้น จะนำส่วนกะลาอ่อนมาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ 1 รอบการผลิตใช้มะพร้าว 50 ลูก ได้ผลผลิตประมาณ 2 กิโลกรัม เนื้อกะลามะพร้าวอ่อนสีไม่คล้ำ เคล็ดลับคือเมื่อฝานเนื้อกะลาแล้วนำแช่ในน้ำหมักมะนาวที่ผสมกับน้ำตาลทรายแดง ซึ่งป้าแป๊ดตั้งราคาขายไว้ที่กรัมละ 1 บาท กิโลกรัมละ 1,000 บาท มียอดสั่งจองจากร้านอาหารเส้นถนนสาธร ครัวขึ้นชื่ออีกหลายแห่งในกรุงเทพฯ จนผลิตไม่ทัน นักท่องเที่ยวที่มาเยือนชุมชนตะเคียนเตี้ย เมนูที่ต้องลิ้มลองคือ แกงไก่กะลา, ผัดฉ่ากะลาอ่อนใส่กุ้ง  สูตรพื้นถิ่นด้วยส่วนประกอบสำคัญคือ กระเพรา 100 ปี พันธุ์ดั้งเดิมที่อนุรักษ์ ปลูกเฉพาะชุมชนตะเคียนเตี้ยด้วยกลิ่นหอม ฉุน ไม่เหมือนสายพันธุ์จากแหล่งอื่น จึงทำให้อร่อยล้ำไม่ควรพลาด

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ชุมชนตะเคียนเตี้ยมีความแข็งแกร่ง และนำรายได้เข้าสู่ชุมชนได้มากขึ้น หน่วยงานภาครัฐได้ร่วมกับชุมชนสร้างความเข้มแข็งด้วยการดึงคนภายนอกให้เข้ามาเรียนรู้ประเพณีวัฒนธรรม วิถีชีวิตพอเพียง และเข้าชมพิพิธภัณฑ์บ้านร้อยเสา ซึ่งเป็นลานวัฒนธรรมและศูนย์การเรียนรู้ เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรม

เมื่อสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติได้ศึกษากระบวนงานการพัฒนาชุมชนเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืนจากชุมชนนี้แล้วจะขยายการพัฒนาชุมชน เกษตรกรพื้นที่อื่นๆให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรตามรอยบ้านร้อยเสาได้ในอนาคตโดยร่วมมือกับอพท.ต่อไป ซึ่งผู้ที่สนใจท่องเที่ยวเชิงเกษตรชุมชนบ้านตะเคียนเตี้ย อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นางวันดี ประกอบธรรม หมายเลขโทรศัพท์ 09 8412 1712

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 1 - 15 พฤษภาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...