กรมหม่อนไหม คัด เลือก“Smart Farmer” จังหวัดชัยภูมิ เป็นเกษตรกรดีเด่น ปี 2567 สาขาอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ต้นแบบบริหารจัดการผลผลิตได้ตามความต้องการ รอบรู้วิเคราะห์ เชื่อมโยงตลาด รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
พันจ่าเอก ประเสริฐ มาลัย อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้พิจารณาคัดเลือกเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาในสาขาต่างๆ เพื่อเข้ารับพระราชทานโล่รางวัลในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญประจำปี พ.ศ. 2567 ในวันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 ณ พลับพลาที่ประทับมณฑลพิธีท้องสนามหลวง เพื่อยกย่องชูเกียรติแก่เกษตรกรผู้ที่มีผลงานโดดเด่นให้เป็นที่ปรากฏต่อสาธารณะ ตลอดจนเป็นการให้ความสำคัญและสร้างขวัญกำลังใจกับเกษตรกร
ทั้งนี้ กรมหม่อนไหมก็ได้พิจารณาคัดเลือกเกษตรกรสาขาอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เพื่อเข้ารับพระราชทานโล่รางวัลดังกล่าวในปีนี้ โดยเกษตรกรผู้ที่ผ่านการคัดเลือก คือ นายพินิจ แก้วพิมาย เป็นเกษตรกรสาขาอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ในพื้นที่ที่บ้านดงบัง ตำบลดงบัง อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ
ผลงาน แต่เดิม ครอบครัวนายพินิจ ทำอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุษ จึงได้เรียนรู้จากช่วยแม่เลี้ยงไหมตั้งแต่ตอนเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ทำให้ซึมซับ จนรู้สึกชอบและผูกพันธ์ จากความคุ้นเคยและเรียนรู้จากที่เคยช่วยแม่ทำสั่งสมประสบการณ์ จนกระทั่งอายุ 20 ปี ก็เริ่มหันมาปลูกหม่อนเลี้ยงไหม สาวไหม และทอผ้าเองแบบจริงจัง
จนสามารถทำได้แบบครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ คือ ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมสาวไหมและทอผ้าไหมในพื้นที่ 2.5 ไร่ ด้วยความใส่ใจในการดูแลแปลงปลูกหม่อนตั้งแต่การใส่ปุ๋ยบำรุงดินให้น้ำตัดแต่งกิ่งตามหลักวิชาการที่ได้รับคำแนะนำจากกรมหม่อนไหมทำให้ได้ผลผลิตใบหม่อนทั้งพันธุ์บุรีรัมย์ 60 และพันธุ์สกลนครถึงปีละ 8 ตัน โดยยึดเป็นอาชีพหลักมาจนถึงปัจจุบันรวม29 ปีแล้ว
นายพินิจ มีผลงานโดดเด่น ในสาขาอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม โดยได้รับรางวัลมากมาย ได้แก่ รางวัลชนะเลิศรองอันดับ 2 ประกวดเส้นไหมสืบสาวมือประเภทบุคคลในงานตรานกยูงพระราชทานสืบสานตำนานไหมไทยประจำปี 2557 จากกรมหม่อนไหม รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ระดับจังหวัดกิจกรรมคัดเลือกเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติสาขาอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมประจำปี 2558 จากกรมหม่อนไหมรวมทั้งรางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติสาขาอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในปี 2567
ปัจจุบัน นายพินิจ มีสินค้าผ้าไหม ได้รับใบรับรองแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยชนิด Royal Thai Silk (นกยูงสีทอง) Classic Thai Silk (นกยูงสีเงิน) และ Thai Silk (นกยูงสีน้ำเงิน) จากกรมหม่อนไหม โดยยึดหลัก “ตลาดนำการผลิต” เน้นผลิตผ้าไหมตามคำสั่งซื้อ โดยลูกค้าส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่อำเภอคอนสาร โดยใช้เส้นไหมที่ผลิตเองทั้งหมด จึงสามารถลดต้นทุน ควบคุมคุณภาพของผ้าไหมที่ผลิตและสามารถบริหารจัดการผลผลิตได้ตามความต้องการของตลาด รวมทั้งทำการตลาดออนไลน์โดยการโพสต์ขายผ่านทางเฟสบุ๊คอีกด้วย ทำให้มีรายได้ต่อเนื่องตลอดทั้งปีในปี 2565 มีรายได้จากการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม 334,000 บาท และในปี 2566 เพิ่มขึ้นเป็น 577,000 บาท