ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เศรษฐกิจชุมชน ย้อนกลับ
สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยยื่น7ข้อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
17 เม.ย. 2567

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยเมื่อวันที่ 16 เมษายน ว่า สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย มีข้อเสนอแนะในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ดังนี้ 1. ปัญหาหนี้ครัวเรือน หนี้เสีย และหนี้นอกระบบ ในระดับ91% ของ GDP ที่รุกคืบทำให้ที่อยู่อาศัย ยานยนต์ถูกยึดจำนวนมาก ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ กนง.ยังคงไว้ที่ระดับ 2.5 ส่งผลให้ประชาชนแบกรับภาระดอกเบี้ยท่วมท่ามกลางเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวในระดับเศรษฐกิจฐานราก ค่าครองชีพพุ่งจากราคาสินค้าอุปโภค บริโภคมีการขยับตัวขึ้น และกลไกการแก้หนี้ทั้งระบบที่เป็นวาระแห่งชาติ แต่ปัญหายังคงไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบจะทำให้เป็นกับดักทางการเงินของประชาชนและผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอี อีกทั้งการสร้างความเป็นธรรมในการคิดอัตราดอกเบี้ย อาทิ ดอกเบี้ยความเสี่ยง จูงใจขายประกันควบคู่สินเชื่อ ดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคล ดอกเบี้ยพิโก้และนาโนไฟแนนซ์ เป็นต้น

2. สถานการณ์พลังงาน ไฟฟ้า น้ำมัน ก๊าซ ของประเทศไทยที่พึ่งพาการนำเข้าและโครงสร้างต้นทุนพลังงานต้องเร่งสร้างความชัดเจนในการให้ความเป็นธรรมราคากับประชาชน ภาครัฐยังขาดมาตรการส่งเสริมพลังงานสีเขียวที่รูปธรรมเพื่อส่งเสริมภาคเอกชน เอสเอ็มอี และประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งทุนต้นทุนต่ำ และสิทธิประโยชน์ต่างๆในการปรับเปลี่ยนพลังงานเพื่อการลดต้นทุนและส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียวไทยอย่างเร่งด่วน 3 .งบประมาณ การลงทุนภาครัฐ การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และ SME-GP ที่ต้องเร่งการใช้จ่าย เบิกจ่ายงบประมาณ และดำเนินการโครงการต่างๆตามแผนงบประมาณอย่างรวดเร็วให้เป็นไปตามเป้าหมาย รวมทั้งส่งเสริมให้เพิ่มจำนวนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่จะเข้าสู่การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐสินค้าและบริการของเอสเอ็มอีที่มีแต้มต่อให้เพิ่มจำนวนผู้ประกอบการที่ใช้ประโยชน์จากมาตรการนี้มากขึ้น อีกทั้งสัดส่วนการลงทุนของภาครัฐในแต่ละปีมีงบประมาณเพียงราวร้อยละ 20 ของงบประมาณทั้งประเทศ ซึ่งควรลดต้นทุน สร้างระบบตรวจสอบ ติดตาม ประเมินผลการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ และมีธรรมาภิบาลลดปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น ให้เม็ดเงินภาษีทำงานได้เต็มที่

นายแสงชัย กล่าวว่า 4. การลงทุนภาคเอกชนไทยทั้งในและต่างประเทศ ที่ขาดการเชื่อมโยงข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ต่อการลงทุนจะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีกับระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค การทบทวนการส่งเสริมการลงทุนของเอสเอ็มอีเพื่อช่วยผลักดันให้เติบโตเพิ่มขึ้นในธุรกิจที่มีศักยภาพทั้งในอาเซียน และต่างประเทศในภูมิภาคอื่นๆ 5. ค่าแรงกับแรงงานฝีมือที่ขาดแคลน จะเป็นปัจจัยที่ภาคเศรษฐกิจไทยไม่สามารถยกระดับการแข่งขันด้วยกันพัฒนากำลังคนภาคแรงงานทั้งในและนอกระบบที่เป็นกับดักหนึ่งของการขึ้นค่าแรงงาน การเพิ่มผลิตภาพแรงงานด้วยทักษะอนาคตที่จำเป็นต่อการปรับเปลี่ยนทั้งลักษณะงาน อาชีพ ตำแหน่ง คุณค่างานที่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่ม สร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้แรงงานถูก Disrupt ด้วยเทคโนโลยี AI และการขึ้นค่าแรงที่สวนทางกับเศรษฐกิจฐานรากที่ยังไม่ฟื้นตัวดีจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจโดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย อีกทั้งเอสเอ็มอียังคงขาดแคลนแรงงานด้านดิจิทัลเทคโนโลยีที่มีการแข่งขันในการจ้างงานสูง และเอสเอ็มอีมีโอกาสในการจ้างงานที่ต่ำกว่ากิจการขนาดใหญ่

6. ดิจิทัลวอลเล็ต กลไกกระตุ้นเศรษฐกิจที่คิดต่างท่ามกลางความท้าทายความหวังของประชาชนว่าจะเกิดขึ้นได้อย่างไร และจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากน้อยเพียงใด แม้จะมีข้อมูลประเมินว่าสามารถเพิ่ม GDP ได้ในระดับ 0.3-0.5% แต่หากรัฐบาลมุ่งเป้าพัฒนากำลังคนทุกช่วงวัยจะทำให้เสน่ห์ของดิจิทัลวอลเล็ตมีคุณค่าสร้างความยั่งยืนมากขึ้น ทั้งนี้ต้องมีการเตรียมความพร้อมเอสเอ็มอีที่จะเข้าสู่ระบบ และมีมาตรการยกระดับคุณภาพ มาตรฐานสินค้า บริการ ผู้ประกอบการ และแรงงานควบคู่กันไปด้วย และหากดิจิทัลวอลเล็ตช่วยส่งเสริมการสร้างงาน สร้างอาชีพ ลดค่าครองชีพ ดึงแรงงานนอกระบบและเอสเอ็มอีนอกระบบเข้าสู่ระบบได้ด้วยจะทำให้คุ้มค่ากับเม็ดเงินที่รัฐบาลลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยดิจิทัลวอลเล็ต และ 7. ซอฟพาวเวอร์ นั้นช่วยพลิกกำลังคนสู่ความสร้างสรรค์ ซึ่งหากรัฐบาลนำนโยบายดังกล่าวร่วมขับเคลื่อนกับดิจิทัลวอลเล็ตจะสามารถช่วยส่งเสริมตลาดสินค้าและบริการอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทั้งในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศได้เพิ่มมากขึ้น

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...