ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ท้องถิ่นไทย ย้อนกลับ
ผบช.สตม. สั่งการเข้ม! ระดมกวาดล้างอาชญากรรมก่อนเทศกาลสงกรานต์
06 เม.ย. 2567

     ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.อิทธิพล อิทธิสารรณชัย ผบช.สตม. พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ รอง ผบช.สตม และ พล.ต.ต.ประสาธน์ เขมะประสิทธิ์ ผบก.ตม.1 รับนโยบาย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดยกระดับการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยให้มีการระดมกวาดล้างอาชญากรรม โดยเฉพาะความผิดที่เกี่ยวกับคนเข้าเมือง ซึ่งเป็นความรับผิดชอบหลักของ สตม. โดยสั่งการและกำชับให้เพิ่มความเข้มในการตรวจสอบบังคับใช้กฎหมาย โดยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองที่รับผิดชอบงานสืบสวน เน้นการบูรณาการกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

      พล.ต.ต.ประสาธน์ เขมะประสิทธิ์ ผบก.ตม.1, พ.ต.อ.ระพีพัฒน์ อุตสาหะ รอง ผบก.ตม.1 และ พ.ต.อ.กาจภณ ปฐมัง ผกก.สืบสวน บก.ตม.1 ได้สั่งการให้ พ.ต.ท.ชยุต นิลประเสริฐ พ.ต.ท.สุริยะ พ่วงสมบัติ รอง ผกก.สืบสวน บก.ตม.1 ตรวจสอบเรื่องร้องเรียนที่ได้รับจากประชาชน เกี่ยวกับการลักลอบทำงานประเภทการขายสินค้าหน้าร้าน ซึ่งเป็นงานต้องห้ามของคนต่างด้าว บริเวณตลาดดอกไม้ ปากคลองตลาดใหม่ พรานนก พุทธมณฑล สาย 4 แขวงบางพรม เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร โดยได้บูรณาการกำลังร่วมกับ กรมการจัดหางาน และ สน.บางเสาธง ลงพื้นที่กำหนดเป้าหมายในการเข้าปฏิบัติ

       เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา พ.ต.อ.กาจภณฯ ได้นัดหมายประชุมข้าราชการตำรวจในสังกัดเพื่อวางแผนปฏิบัติการในครั้งนี้ โดยแบ่งกำลังออกเป็น 4 ชุด ครอบคลุมตลาดดอกไม้ ปากคลองตลาดใหม่ พรานนก แต่ละชุดมีเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวน สน.บางเสาธง และเจ้าหน้าที่จัดหางานเป็นผู้ชี้เป้า และเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.สืบสวน บก.ตม.1 เป็นผู้เข้าตรวจสอบ จากนั้นเวลา 15.30 น. พ.ต.อ.กาจภณฯ จึงได้ส่งสัญญาณให้ ทุกชุด เข้าตรวจสอบโดยพร้อมกัน เพื่อมิให้ผู้กระทำความผิดไหวตัวหลบหนี หลังจากเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมพบว่าบุคคลต่างด้าวกำลังทำหน้าที่จำหน่าย แนะนำสินค้าและเสนอราคาให้กับลูกค้าที่เข้ามาสอบถาม จึงได้แสดงตนเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองพร้อมแสดงบัตรประจำตัวให้บุคคลต่างด้าวที่ทำหน้าที่ขายสินค้าในร้านเป้าหมายดูจนเป็นที่พอใจแล้ว จึงขอตรวจสอบเอกสารประจำตัว หนังสือเดินทางและใบอนุญาตทำงานของพนักงานขายแต่ละคน ซึ่งภาพรวมสรุปผลของปฏิบัติการในครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมบุคคลต่างด้าวได้ 29 ราย เป็นบุคคลต่างด้าวสัญชาติเมียนมาร์ จำนวน 9 ราย สัญชาติกัมพูชาจำนวน 8 รายและสัญชาติลาว 11 ราย โดยได้จับกุมได้โซนขายดอกไม้สด ซึ่งแบ่งเป็น ไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือสิทธิ์ที่จนกระทำได้ (ขายของหน้าร้าน) จำนวน 3 ราย ข้อหาหลบหนีเข้าเมืองและทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือสิทธิ์จำนวน 18 ราย และข้อหาอยู่ในราชอาณาจักรโดยการอนุญาตสิ้นสุดและทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือสิทธิ์ จำนวน 6 ราย จึงควบคุมตัวส่งพนักงานสอบสวน กก.3 บก.สส สตม. ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป โดยงานขายของหน้าร้านนั้น เป็นงานต้องห้าม ตามบัญชีท้ายประกาศกระทรวงแรงงาน ลงวันที่ 1 เม.ย.2563 เรื่องกำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ (บัญชี4) ซึ่งการที่ผู้ใดจะจ้างบุคคลต่างด้าวมาทำงานดังกล่าวได้ นายจ้างจะต้องต้องเป็นผู้ประกอบการที่จดทะเบียนพาณิชย์ ตามกฎหมายว่าด้วยทะเบียนพาณิชย์ หรือในกรณีเป็นร้านค้าที่ไม่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์ ให้นายจ้างแสดงใบอนุญาต หนังสือรับรอง หรือเอกสารที่ทางราชการออกให้ เพื่อประกอบพาณิชยกิจและนายจ้างต้องรับคนต่างด้าวทำงานขายของหน้าร้านตามหลักสัดส่วน สูงสุดไม่เกิน 20 คน ซึ่งพิจารณาจากหลักเกณฑ์การชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลในรอบปีภาษีที่ผ่านมา ยกตัวอย่างเช่นกรณีที่รอบปีภาษีที่ผ่านมาได้ยื่นแบบแสดงภาษีเงินได้และได้รับยกเว้นการเรียกเก็บภาษีเงินได้ สามารถรับคนต่างด้าวทำงานขายของหน้าร้านได้ 1 คน กรณีที่ชำระภาษีเงินได้ตั้งแต่ 1-50,000 บาท สามารถรับคนต่างด้าวทำงานขายของหน้าร้านได้ 3 คน ในกรณีที่ชำระภาษีเงินได้เกินกว่า 50,000 บาท บาท จ้างคนต่างด้าวทำงานขายของหน้าร้านเพิ่มได้ 1 คน ทุก ๆ 50,000 ทั้งนี้ ไม่เกิน 10 คน และหากต้องการรับคนต่างด้าวเข้าทำงานเกินกว่า 10 คน ให้นำสัดส่วนการจ้างงานคนไทยมาใช้พิจารณา คือ นายจ้างที่มีลูกจ้างคนไทย 30 คน สามารถรับคนต่างด้าวเข้าทำงานเพิ่มได้ 1 คนและถ้ามีการจ้างคนไทยเพิ่มทุก ๆ 10 คน ให้รับคนต่างด้าวได้อีก 1 คน ซึ่งรวมทั้ง 2 หลักเกณฑ์แล้วนายจ้าง จะสามารถรับคนต่างเข้าทำงานขายของหน้าร้านได้ไม่เกิน 20 คนส่วนการรับคนต่างด้าวเข้าทำงานกรรมกรประเภทอื่นๆ นั้น กฎหมายมิได้กำหนดเรื่องสัดส่วนจำนวนคนต่างด้าว ที่จะรับคนต่างด้าวเข้าทำงานไว้ แต่คนต่างด้าวจะมีสิทธิทำงานกรรมกรและงานขายของหน้าร้านได้ ก็ต่อเมื่อในใบอนุญาตทำงานระบุสิทธิว่า สามารถทำงานกรรมกรหรืองานขายของหน้าร้านได้เท่านั้น ทั้งนี้ หากไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว คนต่างด้าวและนายจ้างจะมีความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยคนต่างด้าวจะมีความผิดตามมาตรา 8 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 5,000 - 50,000 บาท และเมื่อได้ชำระค่าปรับแล้ว ให้ส่งคนต่างด้าวผู้นั้นกลับออกไปนอกราชอาณาจักร ส่วนนายจ้างจะมีความผิดตามมาตรา 9 สำหรับการกระทำความผิดครั้งแรก ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 10,000 ถึง 100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้าง 1 คนและหากเป็นการกระทำความผิดครั้งที่ 2 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 - 200,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หรือทั้งจำทั้งปรับและห้ามผู้นั้นจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ

      ดังนั้น สตม. ขอแจ้งให้ทุกคนทราบว่า สตม. มีมาตรการในการตรวจสอบ กวดขัน และปราบปรามการกระทำความผิดในด้านต่าง ๆ รวมทั้งดำเนินการตรวจสอบชาวไทยและชาวต่างชาติที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม กระทำผิดกฎหมาย ก่อเหตุอันตรายต่อความสงบสุขและความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินของประชาชน ทำให้เกิด ความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศชาติ รวมถึงการเฝ้าระวังบุคคลทั้งสัญชาติไทยและสัญชาติอื่นๆ ที่มีหมายจับ และการเดินทางเข้า-ออกประเทศไทย หากประชาชนท่านใดพบเห็นเบาะแส การกระทำความผิด กรุณาแจ้งมายัง หมายเลขโทรศัพท์ 1178 หรือที่ www.immigration.go.th

สมเกียรติ ทรัพย์เฉลิม / รายงาน

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...