ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
พลังงาน / สิ่งแวดล้อม ย้อนกลับ
สส. ร่วม ทช. และ UNDP สร้างภูมิคุ้มกัน พื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทย พร้อมขยายผลสู่ภาคส่วนอื่น
06 เม.ย. 2567

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (UNDP) รายงานความก้าวหน้าโครงการสร้างภูมิคุ้มกันต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในพื้นที่ทางทะเลและชายฝั่งตามแนวอ่าวไทย ณ ห้องประชุมอารีย์สัมพันธ์ อาคารกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม พร้อมชูแนวทางปฏิบัติที่ดีและขยายผลไปสู่การดำเนินงานด้านการปรับตัวในพื้นที่และภาคส่วนอื่นๆ 
นายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ให้ความสำคัญต่อปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยและได้เร่งผลักดันให้แผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (Thailand’s National Adaptation Plan: NAP) จนได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นกรอบแนวทางในการบูรณาการประเด็นการปรับตัวของประเทศ รวมถึงสร้าง
ขีดความสามารถในการปรับตัวและเพิ่มภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเน้น 6 สาขาสำคัญที่มีความเสี่ยง ได้แก่ การจัดการทรัพยากรน้ำ การเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร การท่องเที่ยว สาธารณสุข
การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสาขาการตั้งถิ่นฐานและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยรวมถึงพื้นที่บริเวณอ่าวไทยได้รับผลกระทบอย่างมากจากอุทกภัยและภัยแล้ง โดยข้อมูลจากการวิเคราะห์ความเสี่ยงภายใต้โครงการฯ บ่งชี้ถึงการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิและระดับน้ำทะเล รวมถึงปริมาณน้ำฝนที่ไม่แน่นอน อีกทั้งอุบัติการณ์ของภัยแล้งและอุทกภัยที่รุนแรงขึ้นในอ่าวไทย ส่งผลกระทบต่อภาคส่วนที่สำคัญบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ได้แก่
1) การประมง โดยมีการคาดการณ์ว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า อุณหภูมิเฉลี่ยจะสูงขึ้น 0.7-1.5 องศาเซลเซียส รวมถึงรูปแบบปริมาณน้ำฝนที่เปลี่ยนแปลงไปจะส่งผลกระทบต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ  2) การท่องเที่ยว โดยอุณหภูมิเฉลี่ย
ที่สูงขึ้นจะให้น้ำทะเลอุ่นขึ้น เป็นสาเหตุให้เกิดภาวะปะการังฟอกขาว ซึ่งแนวปะการังในบางพื้นที่ เช่น อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร ได้เผชิญกับภาวะปะการังฟอกขาวแล้ว เนื่องจากมีอุณหภูมิน้ำทะเลเฉลี่ยมากกว่า 29 องศาเซลเซียส ติดต่อกันเป็นระยะเวลามากกว่า 3 สัปดาห์ 3) การเกษตร โดยมีการพยากรณ์ว่าพื้นที่เกษตรกรรม กว่า 118,000 ตารางกิโลเมตร จะได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง คลื่นความร้อน และฝนไม่ตกตามฤดูกาล ส่งผลให้ผลผลิตทาง
การเกษตร มีจำนวนลดลง ทำให้เกษตรกรมีรายได้ลดลง นอกจากนี้ ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นและการกัดเซาะชายฝั่ง
ยังทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่เกษตรกรรมในบริเวณที่อยู่ใกล้ชายฝั่ง อีกทั้งความเค็มที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้ปริมาณผลผลิต
ทางการเกษตรลดลง
จากข้อมูลดังกล่าว ทำให้เห็นว่าประเทศไทย มีแนวโน้มที่จะเผชิญกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรง โดยโครงการฯ จะมีส่วนสำคัญในการดำเนินงานตามแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (NAP) และเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศในทะเลและพื้นที่ชายฝั่ง สนับสนุนให้เกิดการดำเนินงานในระดับพื้นที่แบบบูรณาการ และเชื่อมโยงระหว่างสาขา  รวมถึงมุ่งเน้นการวางแผนล่วงหน้าสำหรับการปรับตัวที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ทางทะเลและชายฝั่งในบริเวณอ่าวไทย โดยจากการดำเนินโครงการฯ ในพื้นที่นำร่อง 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดระยอง จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดสุราษฎร์ธานี และ จังหวัดสงขลา ซึ่งจะช่วยให้หน่วยงานระดับพื้นที่ทราบถึงช่องว่างและความต้องการการสนับสนุนสำหรับกระบวนการในการจัดทำแผนการปรับตัวฯ ของพื้นที่ อีกทั้ง สามารถจัดลำดับความสำคัญของความต้องการในการจัดการผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยอาศัยการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานเพื่อเสริมสร้างความรู้และขีดความสามารถทางเทคนิค ตลอดจนการพัฒนารูปแบบการจัดหาแหล่งเงินทุนทั้งจากภาครัฐและเอกชน สำหรับการรับมือต่อสภาพภูมิอากาศในการพัฒนาชายฝั่งทะเล
โครงการฯ นี้ถือเป็นโครงการที่สร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับพื้นที่โดยการมีแผนการเตรียมตัวให้พร้อมรับต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง ด้านสภาพภูมิอากาศ อีกทั้ง ข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการปรับตัวฯ จากโครงการฯ สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติที่ดีและขยายผลการปฏิบัติไปสู่การดำเนินงานด้านการปรับตัวในพื้นที่และภาคส่วนอื่นๆ ได้ ซึ่งมีความสอดคล้องกับแผนการดำเนินงานในระยะถัดไปที่กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมจะจัดทำแผนปฏิบัติการการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้ง 6 สาขา โดยใช้ข้อมูลภายใต้โครงการนี้นำไปสนับสนุนการกำหนด พัฒนามาตรการ โครงการ ตลอดจนกิจกรรมต่างๆของหน่วยงาน เพื่อใช้ในการวางแผนเตรียมรับมือต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อไป
ทั้งนี้ โครงการฯ ได้มีการดำเนินงานมาเป็นระยะเวลาทั้งหมด 4 ปี  ตั้งแต่ปี พ.ศ.2563 – 2567 ได้เห็นถึงความสำคัญของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของประเทศไทย ซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของประเทศ และยังเป็นที่อยู่อาศัยและแหล่งอนุบาลของสัตว์น้ำ ซึ่งถือได้ว่าเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจและมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง และยังเป็นแหล่งทรัพยากรที่มีคุณค่าต่อชุมชนรอบพื้นที่ชายฝั่งทะเล ที่สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว
การทำประมง และการเกษตรตลอดทั้งปี

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...