ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คุณภาพชีวิต ย้อนกลับ
สสส.ร่วมเครือข่ายฯชูตำบลขับขี่ปลอดภัยที่เทศบาลปัว
20 มี.ค. 2567

เมื่อวันที่ 18-19 มี.ค. 2567  ที่ เทศบาลตำบลปัว อ.ปัว จ.น่าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ 7 แห่ง จัดกิจกรรมลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดการความปลอดภัยทางถนน “ ตำบลขับขี่ปลอดภัย” สร้างความปลอดภัยทางถนน ลดอุบัติเหตุในระดับชุมชน นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร รองผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส. โดย สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน บูรณาการองค์ความรู้ชุมชน และความปลอดภัยทางถนน ร่วมกับสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม ขยายเครือข่ายการทำงานสู่ “ตำบลขับขี่ปลอดภัย” แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระบบกลไกจัดการความปลอดภัยทางถนน โดยเทศบาลตำบลปัว เป็นหนึ่งในตำบลขับขี่ปลอดภัย ได้บูรณาการการทำงานร่วมกันในพื้นที่ เช่น การแก้ไขจุดเสี่ยง ย้ายจุดกลับรถ ปิดจุดกลับรถในช่วงเทศกาล วางแผนกั้นจราจร เพื่อป้องกันการกลับรถ และมีการกวดขันวินัยจราจรให้มีการสวมหมวกนิรภัย 100% เพิ่มจุดสังเกตมีการติดตั้งไฟส่องสว่างให้สัญญาณกับผู้ที่ใช้รถใช้ บริการให้ความช่วยเหลือ ลดอุบัติเหตุบนท้องถนน และบริการดูแลที่บ้านตามความรุนแรงของการได้รับอุบัติเหตุ โดย สสส. ได้หนุนเสริมพลัง 2 ส่วน 1.วิเคราะห์ความเสี่ยง-อุบัติเหตุ สู่การวางแผนแก้ไขปัญหาของพื้นที่ 2.เสริมเทคนิคแนวคิดใหม่ สร้างมาตรการลดอุบัติเหตุ ด้วยแนวคิดใช้พื้นที่เป็นฐาน รวมถึงเสริมองค์ความรู้ และเครื่องมือ

ดร.นิสา รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. กล่าวว่า สสส. แปลงนโยบายสู่ปฏิบัติการในพื้นที่ผ่านการขับเคลื่อน “ตำบลขับขี่ปลอดภัย” ตั้งแต่ปี 2557 ดำเนินงานลดอุบัติเหตุโดยชุมชนท้องถิ่นจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ด้วยการดึงการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย อาทิ อบต. เทศบาล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กลุ่ม-กองทุนสวัสดิการ อสม. อพปร. รพ.สต. ตำรวจ จนเชื่อมร้อยเป็นเครือข่ายที่มีศักยภาพในการจัดการความปลอดภัยทางถนนโดยชุมชนท้องถิ่น ในปี 2565 จึงได้เกิดตำบลขับขี่ปลอดภัย 115 อปท. และปัจจุบันได้ขยายการทำงานอีก 84 อปท. รวมเป็น 189 อปท. ทั่วประเทศ ด้วยชุดกิจกรรมสำคัญ 5 กิจกรรม คือ การพัฒนาศักยภาพคน-รถ-ถนน การจัดสภาพถนนและสิ่งแวดล้อม การพัฒนานโยบายและแผน การบริการและช่วยเหลือ การรณรงค์ขับขี่ปลอดภัยใน 3 ระยะทั้งในระยะป้องกัน-เฝ้าระวัง ระยะช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุ และระยะหลังเกิดเหตุ-ฟื้นฟู เพื่อให้เกิดการทำงานในลักษณะของการสานพลังความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สู่การลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนอย่างมีประสิทธิภาพ

​“เทศบาลตำบลปัว มีสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ ในช่วงวันหยุด หรือเทศกาล จะมีนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก มีการใช้รถใช้ถนนอย่างคับคั่ง และเกิดปัญหาอุบัติเหตุทั้งถนนเส้นหลัก และเส้นรอง มีจำนวนจุดเสี่ยงอุบัติเหตุทำให้มีผู้บาดเจ็บ สสส. จึงได้หนุนเสริมการพัฒนาขีดความสามารถของชุมชนท้องถิ่น ทั้งในด้านองค์ความรู้ในการจัดการพื้นที่ โดยเทศบาลตำบลปัวได้มีการจัดสภาพถนน และสิ่งแวดล้อม สำรวจ และวิเคราะห์จุดเสี่ยงอันตราย ติดป้ายเตือน ป้ายทางแยก ป้ายทางโค้ง ลดความเร็วในชุมชน ตัดแต่งพุ่มไม้ กำจัดป้ายโฆษณาที่บดบังป้ายจราจร และซ่อมบำรุงไฟฟ้าสาธารณะ ให้ส่องสว่างครบครอบคลุมทุกชุมชน ทำความสะอาดผิวถนน ทาสี ทำเครื่องหมายบริเวณหลุมบ่อบนผิวถนนให้ผู้ใช้ทาง นอกจากนี้ยังมีการอบรมอาสาสมัครในพื้นที่ ให้ความรู้สร้างความปลอดภัยทางถนน ลดอุบัติเหตุในระดับชุมชน” ดร.นิสา กล่าว

​นางยุภา ปัญญาวรรณรักษ์ นายกเทศมนตรีตำบลปัว จ.น่าน กล่าวว่า เทศบาลตำบลปัวมีจำนวนจุดเสี่ยงอันตราย หรือจุดที่เกิดอุบัติเหตุทำให้มีผู้บาดเจ็บ หรือเสียชีวิต จำนวน 66 จุด เป็นจุดเสี่ยงบนถนนสายหลัก 19 จุด สายรอง 22 จุด ทางแยก 20 จุด ทางโค้ง 4 จุด และไม่มีสัญญาณไฟส่องสว่าง 1 จุด เทศบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้พัฒนาพื้นที่รองรับการท่องเที่ยว เพื่อสร้างความปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้ทางทั้งประชาชน และนักท่องเที่ยว หลังจากการดำเนินงานพบว่า 1. ระดับบุคคล เกิดความตระหนัก และเข้าใจกฎจราจร 2. ระดับหมู่บ้าน ลดจำนวนอุบัติเหตุที่รุนแรง และการสูญเสียที่เกิดขึ้น 3. จุดเสี่ยงในพื้นที่ลดลง ลดอุบัติเหตุที่รุนแรง พิการ หรือเสียชีวิต ตั้งเป้าว่าจะให้เทศบาลตำบลปัว เป็นพื้นที่สวมหมวกนิรภัย 100% ลดเจ็บ ลดตายให้เป็นศูนย์

นางยุภา กล่าวต่อว่า ปัจจุบันได้ขยายการทำงานครอบคลุมถึงการบริการให้ความช่วยเหลือ บริการดูแลที่บ้านตามความรุนแรงของการได้รับอุบัติเหตุ และ ฝึกอบรม พัฒนาทักษะ อาสาสมัคร อสม. ทำงานในพื้นที่ตรวจสอบจุดเสี่ยง จุดอันตราย รวบรวมข้อมูลนำมาประชุมปรึกษาหารือ และเตรียมความพร้อมให้ความช่วยเหลือลดอุบัติเหตุบนท้องถนน จัดตั้งหน่วยบริการ ดูแล เฝ้าระวัง พัฒนาทักษะการช่วยเหลือ ปฐมพยาบาลเบื้องต้น การช่วยฟื้นคืนชีพ สำหรับคนในครอบครัว ให้กับเด็กเยาวชน ผู้นำ แกนนำ อาสาสมัครในชุมชน พัฒนาสู่อาสาจราจร โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่จะถึงนี้ ได้การบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ สร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชน เนื่องจากนักท่องเที่ยวอาจไม่คุ้นชินเส้นทาง และสภาพถนน ถนนบางเส้นเป็นเส้นทางที่แคบ เป็นทางที่ลงเนินหากขาดความระมัดระวังอาจเกิดอุบัติเหตุได้ พร้อมทั้งเตรียมพร้อมพื้นที่เล่นน้ำปลอดภัย ด่านชุมชน ตรวจจับเตือนผู้ที่ไม่สวมหมวกนิรภัย ดื่มแล้วขับ ขับเร็ว และป้องกันการเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินที่พร้อมบริการ 24 ชั่วโมง

นางถนอมศรี  ไชยวิชู หัวหน้าสถานศึกษา ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลปัว กล่าวว่า เทศบาลตำบลปัวได้ ร่วมภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ ปลูกฝังวินัยจราจรในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอย่างต่อเนื่อง อาทิ การเรียนรู้สัญญาณไฟ ป้ายจราจร การข้ามทางม้าลาย สวมหมวกกันน็อก-คาดเข็มขัดนิรภัย 100% ควบคู่กับอบรมความรู้ความเข้าใจสร้างความปลอดภัยทางถนนให้กับผู้ปกครอง อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม 1) เกิดนวัตกรรมสื่อการเรียนรู้ป้องกันอุบัติเหตุบนท้องถนนในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลปัว 2) สถิติอุบัติเหตุทางท้องถนนในกลุ่มเด็กปฐมวัยในพื้นที่เป็นศูนย์ เนื่องจากเด็กและครอบครัวมีความรู้ ความเข้าใจ ถึงภัยทางท้องถนนที่เกิดขึ้นในพื้นที่ สามารถป้องกันตนเอง และครอบครัวได้อย่างเหมาะสม 3) ผู้ปกครอง ครู และผู้ช่วยครู มีทักษะการเฝ้าระวังป้องกันอุบัติเหตุ และการช่วยเหลือเด็กเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉิน

นายสิงห์ ชาวแหลง ประธานกลุ่มผู้สูงอายุเทศบาลตำบลปัว กล่าวว่า เทศบาลตำบลปัว มีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปมากถึง 5,363 คน คิดเป็น 51.73% ของประชาชนในพื้นที่ จึงทำให้ต้องพัฒนาศักยภาพ และองค์ความรู้ผู้สูงอายุในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะความปลอดภัยทางถนน เนื่องจากพื้นที่มีรถสัญจรเป็นจำนวนมาก อาจเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ จึงประสานความร่วมมือกับสถานีตำรวจภูธรอำเภอปัว ให้ความรู้เกี่ยวกับวินัยจราจร การปฏิบัติตามกฎหมาย การช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีเกิดหรือเจออุบัติเหตุ และนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมลดปัจจัยเสี่ยง “ขยะฮอมบุญ” คัดแยกขยะ โดยการบริจากขยะรีไซเคิลเพื่อรวบรวมขยะไปจำหน่าย และนำเงินที่ได้ไปซื้อหมวกกันน็อกให้กลุ่มผู้สูงอายุในพื้นที่ เพื่อใช้ในการป้องกันตนเองจากภัยทางท้องถนนโดยมีบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยช่วยจัดหาหมวกกันน็อกที่มีมาตรฐานและมีราคาย่อมเยาว์

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...