ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
การเมือง / การปกครอง ย้อนกลับ
เปิดตัวยาเสพติด20ตัว/ปริมาณที่มีไว้เสพได้ตามกฏหมาย
10 ก.พ. 2567

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ กฎกระทรวง กำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ. 2567 ลงนามโดย นายชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

สำหรับเหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา 107 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขออกกฎกระทรวงเพื่อกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ประเภท 2 หรือประเภท 5 หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือประเภท 2 ในปริมาณเล็กน้อย ที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

กล่าวคือถ้ามีผู้ครอบครองยาเสพติดไม่เกินตามที่กฎหมายกำหนดในกฎกระทรวงฉบับใหม่นี้ ให้ถือว่าเป็นผู้เสพ และสามารถเข้ารับการบำบัดได้ และถือว่าไม่มีความผิดตามกฎหมาย

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ. … มีมติร่วมเมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2566 ในการเสนอยาบ้าไม่เกิน 5 เม็ด ให้ถือว่าเป็นผู้เสพ ซึ่งหากสมัครใจเข้ารับการบำบัดจนครบคอร์ส จากเดิมที่มีความผิดตามกฎหมายก็จะไม่มีความผิดตามกฎหมาย

โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุไว้ก่อนหน้านี้ว่า นอกจากยาบ้าแล้วจะมีการกำหนดปริมาณของยาเสพติดและวัตถุออกฤทธิ์ตัวอื่นอยู่ในร่างกฎกระทรวงด้วย โดยจะเปิดรับฟังความคิดเห็นตั้งแต่วันที่ 9 พ.ย. 2566 เป็นต้นไป ใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์นั้น จึงจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม.เห็นชอบ แล้วถึงลงนามในกฎกระทรวง เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาบังคับใช้ต่อไป ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564

สำหรับยาเสพติดมีการแบ่งประเภทเป็น 5 กลุ่ม รวม 20 ตัว ดังนี้

1.ยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 มี 7 ตัว ได้แก่

– แอมเฟตามีน (amphetamine หรือ amfetamine) มีปริมาณไม่เกิน 5 หน่วยการใช้หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 500 มิลลิกรัม

– เอ็น-เอทิล เอ็มดีเอ หรือเอ็มดีอี (N3ethyl MDA หรือ MDE) มีปริมาณไม่เกิน 5 หน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 1,250 มิลลิกรัม

– เฮโรอีน (heroin หรือ diacetylmorphine) มีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 300 มิลลิกรัม

– เดกซ์โทรไลเซอร์ไจด์ ((+)-lysergide) หรือ แอลเอสดี (LSD) หรือแอลเอสดี-25 (LSD 25) มีปริมาณไม่เกิน 5 หน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 100 มิลลลิกรัม

– เมทแอมเฟตามีน (methamphetamine หรือ methamfetamine) มีปริมาณไม่เกิน 5 หน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 500 มิลลิกรัม ในลักษณะที่เป็นเกล็ดผง ผลึก มีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 100 มิลลิกรัม

– เมทิลีนไดออกซีแอมเฟตามีน (methylenedioxyamphetamine หรือ tenamfetamine หรือ MDA) มีปริมาณไม่เกิน 5 หน่วยการใช้

– 3,4-เมทิลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีน (3,4-methylenedioxymethamphetamine หรือ methylenedioxymethamfetamine หรือ ecstasy หรือ MDMA) มีปริมาณไม่เกิน 5 หน่วยการใช้หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 1,250 มิลลิกรัม

2.ยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 มี 2 ตัว ได้แก่

– โคคาอีน (cocaine) มีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 200 มิลลิกรัม

– ฝิ่น มีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 5,000 มิลลิกรัม

3.ยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 มี 3 ตัว ได้แก่

– พืชฝิ่นหรือที่มีชื่ออื่นในสกุลเดียวกันที่ให้ฝิ่นหรือแอลคาลอยด์ของฝิ่น มีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 15,000 มิลลิกรัม

– เห็ดขี้ควายหรือพืชเห็ดขี้ควายหรือที่มีชื่ออื่นในสกุลเดียวกันที่ให้สาร psilocybin หรือ psilocin มีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 135,000 มิลลิกรัม

– สารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (tetrahydrocannabinol หรือ THC) เป็นสารสกัดจากพืชกัญชาหรือสารสกัดกัญชาหรือผลิตภัณฑ์จากกัญชา ที่มีปริมาณเกินกว่าร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก และมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 30,000 มิลลิกรัม ในลักษณะที่เป็นของเหลวมีปริมาตรสุทธิไม่เกิน 30 มิลลิลิตร

4.วัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 มี 2 ตัว ได้แก่

– ฟลูอัลพราโซแลม (flualprazolam) มีปริมาณไม่เกิน 10 หน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 1,300 มิลลิกรัม

– ฟีนาซีแพม (phenazepam) มีปริมาณไม่เกิน 10 หน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 1,640 มิลลิกรัม

5.วัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 มี 6 ตัว ได้แก่

– อัลพราโซแลม (alprazolam) มีปริมาณไม่เกิน 10 หน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 1,300 มิลลิกรัม

– คีตามีน (ketamine) ที่เป็นของเหลวมีปริมาตรสุทธิไม่เกิน 10 มิลลิลิตร หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 10,000 มิลลิกรัม ในลักษณะที่เป็นเกล็ด ผง ผลึก มีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 500 มิลลิกรัม

– มิดาโซแลม (midazolam) มีปริมาณไม่เกิน 10 หน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 2,080 มิลลิกรัม

– ไนเมตาซีแพม (nimetazepam) มีปริมาณไม่เกิน 10 หน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 1,890 มิลลิกรัม

– ไนทราซีแพม (nitrazepam) มีปริมาณไม่เกิน 10 หน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสทุธิไม่เกิน 5,560 มิลลิกรัม

– เฟนเทอร์มีน (phentermine) มีปริมาณไม่เกิน 10 หน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 3,200 มิลลิกรัม

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...