ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
สื่อสาร - คมนาคม ย้อนกลับ
AOTชูสนามบินสีเขียวครบวงจรรับนโยบายลดคาร์บอน
03 ม.ค. 2567

ดร. กีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)หรือ ทอท. (AOT) กล่าวว่า หน้าที่ของ AOT ที่ทำหน้าที่บริหารสนามบิน 6 แห่ง จากกว่า 30 แห่งในประเทศ ได้แก่ สนามบินสุวรรณภูมิ, ดอนเมือง, เชียงใหม่, แม่ฟ้าหลวง เชียงราย, ภูเก็ต, หาดใหญ่ ซึ่งรองรับ 95% ของไฟลท์ที่บินทั้งในและต่างประเทศ และกำลังจะเพิ่มอีก 3 สนามบิน คือ กระบี่ บุรีรัมย์ และอุดรธานี AOT ต้องเตรียมความพร้อมด้านนโยบายเพื่อให้สนามบินของไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันกับตลาดโลก โดยเฉพาะการนำมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-tariff Barriers) เข้ามาเป็นกลไกสำคัญของการแข่งขัน

สำหรับการขับเคลื่อนของ AOT ที่จะทำให้สนามบินทั้งหมดเป็นสนามบินสีเขียวได้นั้น ได้วางกลยุทธ์ช่วง 10 ปี (2566-2575) ไว้ เพื่อก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2573 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2575 โดยในช่วง 4 ปีแรก มีเป้าหมายที่จะลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลงให้ได้ 50 % จากที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ปีละประมาณ 3 แสนตัน ให้เหลือ 1.5 แสนตัน และเดินหน้าสู่ Net Zero Carbon ภายใน 10 ปี (2575)

 “หากประมาณจากกิจกรรมต่าง ๆ ในการใช้บริหารสนามบิน ไม่ว่าจะการเดินทาง การนั่งแท็กซี่มาสนามบิน การทานอาหาร และอีกหลาย ๆ อย่าง ปล่อย CO2 ทั้งสิ้นประมาณ 2.5-3 แสนตันต่อปี และเครื่องบินที่ปล่อยอีกประมาณ 1 ล้านตันต่อปี หรือคิดรวมเป็นสัดส่วน 5% จากคาร์บอนที่ประเทศไทยปล่อยต่อปีราว 300 ล้านตันต่อปี เพราะฉะนั้น AOT จึงต้องมีบทบาทในการขับเคลื่อนกระบวนการลด Carbon Emission อย่างมีนัยสำคัญต่ออุตสาหกรรมการบินไทย

ทั้งนี้ มาตรการที่ AOT จะนำมาใช้ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้น จะเป็นเรื่องของการปรับเปลี่ยนรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปมาเป็นรถยนต์ไฟฟ้าหรืออีวี ซึ่งปัจจุบันรถยนต์ส่วนกลางของ AOT ส่วนใหญ่เป็นรถเช่า หากหมดสัญญาเช่าในแต่ละปีจะเปลี่ยนให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้าแทนรถยนต์ที่ใช้นํ้ามันทั้งมหที่มีอยู่ราว 3,710 คัน โดยในปี 2567 จะเริ่มเปลี่ยน 1,180 คัน ปี 2568 จำนวน 760 คัน ปี 2569 จำนวน 1,170 คัน และปี 2570 จำนวน 600 คัน

รวมถึงรถแท็กซี่ หรือรถลีมูซีน ที่ให้บริการผู้โดยสารอีกราว 4,000 คัน และอื่นๆ อีกกว่า 1,000 คัน ก็ต้องเป็นรถยนต์ไฟฟ้าด้วยเช่นกัน โดยแท็กซี่ที่มาต่อทะเบียนใหม่กับ AOT ถ้าเกิน 12 ปี ต้องเปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้า และ AOT กำลังหารือกับบริษัทลูกของ ปตท.จัดหาแท็กซี่ให้เช่า เพื่อให้รายเล็ก ๆ เช่าในราคาเดิม คือประมาณ 800-1,000 บาทต่อวัน

นอกจากนี้ จะปรับเปลี่ยนรถและเครื่องจักรให้บริหารในท่าอากาศยานทั้งหมดให้เป็นยานพาหนะไฟฟ้า( Electric Vehicle) ตามนโยบายของรัฐบาลในการลดการใช้ยานยนต์ที่ใช้นํ้ามัน ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ราว 3,400 คัน จะช่วยลดการใช้นํ้ามันได้มากถึง 10 ล้านลิตรต่อปี หรือคิดเป็นลดปล่อยคาร์บอนได้ 28,360 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และยังเกิดประโยชน์ต่อผู้โดยสารในการลดปัญหามลภาวะทางอากาศในพื้นที่ Bus Gate

อีกทั้ง จะเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนในสนามบินทุกแห่งให้มากขึ้น จากการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ทั้งการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปตามอาคาร และติดตั้งลานข้างรันเวย์สนามบิน เพื่อนำพลังงานมาใช้ในช่วงกลางวัน ในช่วง 2 ปีแรกให้ได้สัดส่วน 20 % ของการใช้ไฟฟ้าทั้งหมด และภายใน 4 ปี จะเพิ่มขึ้นเป็น 50 % และเมื่อครบ 10 ปี จะสามารถใช้พลังงานหมุนเวียนได้ทั้งหมด 100% โดยในส่วนของการใช้ไฟฟ้าช่วงกลางคืน อยู่ระหว่างกลางคืนกำลังศึกษาแนวทางกับผู้ผลิตพลังงาน เพื่อนำไฟฟ้ามาแยกก๊าซไฮโดรเจน แล้วเก็บไฮโดรเจนเพื่อนำมาใช้ในเวลากลางคืน ซึ่งเทคโนโลยีนี้มีแล้ว เพียงแต่รอเรื่องปริมาณการใช้ที่มากขึ้นเพื่อให้ต้นทุนถูกลง

“ปัจจุบันค่าไฟทั้งหมดของสนามบิน อยู่ที่เดือนละ 1,000 ล้านบาท ถ้าการติดตั้งทั้โซลาร์เซลล์ทั้งหมดเสร็จเรียบร้อย จะทำให้สามารถประหยัดค่าพลังงานได้ เพราะพลังงานไฟฟ้าถูกกว่าพลังงานจากระบบ 30% นอกจากลดการปล่อยคาร์บอนแล้ว ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายพลังงานไฟฟ้าลงไปเหลือ 700 ล้านบาทต่อเดือน”

ดร.กีรติ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ AOT จะต้องเร่งผลักดันให้สายการบินต่าง ๆ มาใช้เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืนหรือ Sustainable Aviation Fuel (SAF) เพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ภายใต้โครงการชดเชยและการลดคาร์บอนสำหรับการบินระหว่างประเทศ (CORSIA) ที่สายการบินจะต้องลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ โดยกำหนดให้เชื้อเพลิงของเครื่องบินเชื้อเพลิงจะต้องมี SAF ผสม 2% ในปี 2568 และเพิ่มขึ้นเป็น 6% ในปี 2573 และ 37% ในปี 2583 และ 85% ในปี 2593

ปัจจุบัน ไทยยังไม่มีการผลิต SAF ใช้เอง หากจะใช้ต้องซื้อจากสิงคโปร์ โดยราคา SAF สูงกว่าเชื้อเพลิงที่ใช้ในปัจจุบันถึง 8 เท่า ดังนั้น AOT จึงไปร่วมกับฝ่ายการผลิตเพื่อผลิตและจัดหา SAF ที่ผลิตเองในประเทศไทย เพราะไทยมีวัตถุดิบในการผลิตอยู่แล้ว ทั้งนํ้ามันพืชใช้แล้วและพืชที่ผลิตนํ้ามัน หากไทย

ผลิต SAF ได้เอง จะทำให้ราคา SAF แพงกว่าเชื้อเพลิงปัจจุบันประมาณ 2.2 เท่า ซึ่งถูกลงมาก หากสามารถผลิต SAF ได้เอง ในราคาที่เหมาะสม จะทำให้ธุรกิจการบินของไทย มีขีดความสามารถในการแข่งขัน และยังสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศ จากการขายให้กับสายการบิน อื่น ๆ ได้ด้วย

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...