ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คุณภาพชีวิต ย้อนกลับ
สสส.+มูลนิธิแพธฯชูโครงการสุขเป็นให้ชุมชน12พื้นที่6จว.
27 ธ.ค. 2566

เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2566ที่ผ่านมา ณ ชุมชนบ้านเกาะหลวง ต.โปงทุ่ง อ.ดอยเต่า จ.เชียงใหม่ ในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และติดตามการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพจิตพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ดร.ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. สนับสนุนการดำเนินงานด้านสุขภาพจิต มีเป้าหมายให้ประชาชนมีสุขภาพจิตดี มุ่งเน้นการสร้างเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตก่อนเจ็บป่วย จึงพัฒนาโมเดลขับเคลื่อนมาตรการสร้างเสริมสุขภาพจิตผ่านกลไกชุมชน ด้วยการ “สร้าง” สุขภาพจิตเชิงบวกผ่านแนวทางด้านจิตวิทยาเชิงบวก ด้วยหลัก PERMA ที่มีองค์ประกอบหลัก 5 ด้าน 1. สร้างการมีส่วนร่วม 2. ทำให้มีความรู้สึกเชิงบวก 3. การมีความสัมพันธ์ที่ดี 4. การมีชีวิตที่มีคุณค่าและความหมาย 5. มีความสำเร็จ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีทักษะทางจิตใจในเชิงบวก สามารถดูแลใจตัวเองและรับมือกับปัญหาที่เข้ามาได้ ร่วมกับมูลนิธิแพธทูเฮลท์ ดำเนินโครงการสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต เด็ก เยาวชนและครอบครัว หรือ โครงการ “สุขเป็น” พัฒนาศักยภาพกลไกท้องถิ่นและชุมชน นำร่องใน 12 พื้นที่ 6 จังหวัด สร้างเครื่องมืออย่างง่ายที่เข้ากับบริบทชุมชนและชุมชนมีส่วนร่วมนำไปถ่ายทอดผ่านการพัฒนาแกนนำเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิตและส่งต่อไปยังประชาชนในพื้นที่  

            นายชูไชย นิจไตรรัตน์ เลขาธิการมูลนิธิแพธทูเฮลท์ กล่าวว่า จากการดำเนินโครงการ “สุขเป็น” ใน 12 พื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ 1. กรุงเทพ ที่แขวงประเวศ เขตประเวศ และแขวงหนองแขม เขตหนองแขม 2. สมุทรสาคร ที่ ต.ยกกระบัตร อ.บ้านแพ้ว และ ต.อ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน 3. นนทบุรี ที่ ต.ละหาร อ.บางบัวทอง และ ต.ท่าทราย อ.เมือง 4. เชียงใหม่ ที่ ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง และ ต.โปงทุ่ง อ.ดอยเต่า 5. ประจวบคีรีขันธ์ ที่ ต.เขาล้าน อ.เมือง และ ต.ไชยราช อ.บางสะพานน้อย 6. นครศรีธรรมราช ที่ ต.บ้านตูล อ.ชะอวด และ ต.บ้านชะอวด อ.จุฬาภรณ์  ทำให้เกิดการทำงานเชื่อมต่อระหว่างคนทำงานส่งเสริมสุขภาพจิต เด็ก เยาวชน และครอบครัวระดับท้องถิ่น อำเภอ จังหวัด และสร้างการเปลี่ยนแปลง (Change Agents) 1 ปีที่ผ่านมา เกิดแกนนำสื่อสารกับคนในพื้นที่ สร้างเครื่องมือตามกรอบแนวทางจิตวิทยาเชิงบวก ปรับพฤติกรรมด้วยการสร้างสุขอย่างง่ายจากกิจกรรม อาทิ “ขอบคุณ” “สุขอย่างยั่งยืน” “12 Tips-สุขเป็น” สำรวจความสุข” “Self care ดูแลตัวเอง” “การสื่อสารเชิงบวก” “Character Strengths” “ล้มแล้วลุกได้” และต่อไปจะรวบรวมการทำงานเป็น “คู่มือแนวทางทำงานสร้างเสริมสุขภาพจิตเชิงบวกในชุมชนโดยชุมชน

            น.ส.วงศ์อัมพร ภิญญวงค์ พยาบาลวิชาชีพ รพ.ดอยเต่า กล่าวว่า อ.ดอยเต่า มีประชากร  26,788 คน ชาย 13,239 คน หญิง 13,549 คน ข้อมูลปัญหาสุขภาพจิตในพื้นที่ ตั้งแต่ ต.ค. 2565 - ก.ย. 2566 พบอัตราฆ่าตัวตายสำเร็จสูงที่สุดใน จ.เชียงใหม่ คือ 44 คนต่อประชากรแสนคน และมีจำนวนฆ่าตัวตายสำเร็จ 16 คน เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง สาเหตุการฆ่าตัวตายของผู้ชาย มาจากปัญหาการใช้สารเสพติด สุรา กัญชา 50%ปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัว 20% ปัญหาทางเศรษฐกิจ 10% เคยมีประวัติทำร้ายตัวเอง 10% โรคจิตเภท 10% สำหรับผู้หญิงพบในกลุ่มผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยด้วยโรคทางกาย หรือโรคจิตเวช 80% ปัญหาด้านความสัมพันธ์ 20% ส่วนการติดตามสถานการณ์การฆ่าตัวตาย ในระดับตำบล ที่ ต.โปงทุ่ง พบว่า มีจำนวนผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จติดต่อกัน 3 ปี และสูงกว่าตำบลอื่น ๆ ในปี 2565 คิดเป็น อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จ 65.26 คนต่อประชากรแสนคน ติด 1 ใน 5 ตำบลที่มีจำนวนผู้ทำร้ายตนเองสำเร็จมากที่สุดในอำเภอ จึงเป็นพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวัง

               โครงการ “สุขเป็น” ได้เข้ามาเติมเต็มช่องว่างในการดำเนินการของกลไกปกติ ที่ต.โปงทุ่งขับเคลื่อนโดยกลไกพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) สุขเป็นมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาเครือข่ายและบุคคลที่ทำหน้าที่ส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิตโดยใช้ชุมชนเป็นฐานและเชื่อมการเข้าถึงบริการสุขภาพจิต โดยการสร้างแกนนำสุขเป็น เสริมแรงบันดาลใจสร้างสุขกับตนเองและคนรอบข้าง ด้วยกิจกรรมสร้างสุขภาพจิตเชิงบวกแบบเล่นนำจำแม่น “หลังจากใช้สุขเป็นเข้ามาร่วมในกลไกพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) อย่างมีส่วนร่วมกับชุมชน เช่น การหารือร่วมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน วิเคราะห์ปัญหาเพื่อเฝ้าระวังป้องกันการฆ่าตัวตาย สร้างวัคซีนใจในชุมชน การให้มีความรู้ด้านสุขภาพจิตเบื้องต้น สัญญาณฆ่าตัวตาย การค้นหาคัดกรองผู้ป่วย กลุ่มเสี่ยง และผู้มีปัญหาสุขภาพจิต ผ่าน application Mental Health Check In ทำให้ 9 เดือนที่ผ่านมา ไม่พบการฆ่าตัวตายสำเร็จ ในพื้นที่นำร่องของ ต. โปงทุ่ง” น.ส.วงศ์อัมพร กล่าว

            นางศิรินุช ไหมคำ แกนนำ “สุขเป็น” พื้นที่ดอยเต่า กล่าวว่า ภายหลังได้รับการอบรมพัฒนาความรู้ และเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “สุขเป็น” ได้นำทักษะ “12 Tips-สุขเป็น” ไปช่วยเหลือคนในพื้นที่ ทำให้ชาวบ้านกล้าเปิดใจพูดคุยมากขึ้น ปัญหาการฆ่าตัวตายในพื้นที่ส่วนใหญ่พบในผู้สูงอายุที่สิ้นหวัง คิดว่าตนเองเป็นภาระของลูกหลาน จึงเน้นเรื่องการสื่อสารสร้างความเข้าใจ มีการทดลองนำมาใช้กับครอบครัวตนเองก่อน ที่ต้องดูแลผู้สูงอายุ พ่อของสามีที่ป่วยติดเตียง โดยสื่อสารให้ทั้งสามีและพ่อสามีลดความหงุดหงิด หรือขัดแย้ง ที่เกิดกระทบกระทั่งจากการดูแลและต้องคุยกับลูกหลานในบ้านที่เป็นวัยรุ่นให้มีความเข้าใจด้วย จะไม่ใช้อารมณ์โกรธพูดคุยกัน นอกจากนี้ ในพื้นที่ยังพบปัญหาสุขภาพจิตที่ผู้ป่วยบางคนขาดยาไปนาน 3-4 ปี ทำให้ไม่กล้าไปพบแพทย์ ซึ่งตนจะทำหน้าที่ประสานติดต่อโรงพยาบาลให้ หรือหากพบคนมีแนวโน้ม หรือเป็นกลุ่มเสี่ยงฆ่าตัวตาย จะชักชวนให้ทำแบบทดสอบคัดกรองเบื้องต้นก่อน หากเข้าเกณฑ์จะประสานให้แพทย์ลงพื้นที่ไปพูดคุยช่วยเหลือ เพื่อป้องกันการฆ่าตัวตายในอนาคต

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...