ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คอลัมนิสต์ประจำอปท.นิวส์ ย้อนกลับ
ความเครียดในสังคมจีน
26 ธ.ค. 2566

พรรคคอมมิวนิสต์จีนประกาศความสำเร็จในปี 2020 ว่าสามารถบรรลุเป้าหมายในการนำชาวจีนจำนวนหลายร้อยล้านคนก้าวข้ามเส้น “ความยากจน”หลังมุ่งมั่นพัฒนาและแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง  แต่แทนที่จะได้เฉลิมฉลองผลงานที่แม้แต่ชาติทั่วโลกทำไม่ได้  จีนเองจำใจต้องกลับสู่การถดถอยอีกครั้งเพราะการแพร่ระบาดของโรคปอดอักเสบรุนแรงที่มาจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ 2019หรือ “COVID-19”ที่เป็นเหตุให้ต้องล็อคดาวน์เมืองต่างๆจนถึงขั้นต้องปิดประเทศยาวนาน 3 ปี

ช่วงปี 2020-2022 ที่จีนพยายามเอาชนะเชื่อไวรัสด้วยนโยบาย “Zero COVID”หรือโควิดเป็นศูนย์ที่ทุมเททั้งงบประมาณ บุคคลากร อุปกรณ์ และมาตรการอันเข้มข้น  เป็นผลให้ชาวจีนเสียชีวิตน้อยมากเมื่อเทียบสัดส่วนประชากรกับนานาประเทศทั้งยุโรป สหรัฐอเมริกา และเอเชีย  ขณะเดียวกันเศรษฐกิจจีนก็ฟื้นตัวกลับมาทำการค้าได้ค่อนข้างเร็วหลังลดการระบาด

อย่างไรก็ตามแม้จนถึงวันนี้จีนจะเปิดประเทศกลับสู่ภาวะปกติแล้ว  แต่ช่วงเวลา 3 ปีของนโยบาย “โควิดเป็นศูนย์”นับว่าส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจและสังคม  โดยเฉพาะแรงกดดันทางสังคมที่มีต่อเยาวชนคนรุ่นใหม่  จากที่เคยแบกรับมาก่อนจะเกิดโควิด  ยิ่งต้องมาเผชิญวิกฤติในช่วงโควิดและแบกรับความกดดันเพิ่มยิ่งขึ้นจึงกลายเป็น “ความเครียด”ของเด็กรุ่นใหม่และผู้ใหญ่จีนจำนวนไม่น้อยในปัจจุบัน

 เมื่อกลางเดือนธันวาคม 2023 สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน รายงานว่าเศรษฐกิจจีนส่งสัญญาณดีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน โดยมีตัวชี้วัดสำคัญ เช่นการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 6.6% ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 10.1%เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2022

ด้านกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวของจีนได้บอกข่าวดีว่าช่วงสามไตรมาสแรกของปี 2023รายได้การท่องเที่ยวภายในประเทศของจีนเพิ่มขึ้น 114%เมื่อเทียบกับปี 2022 โดยนับเป็นการเดินทางเที่ยวในประเทศ 3.67 พันล้านครั้ง และมีรายได้รวม3.7 ล้านล้านหยวน

ตัวเลขดีๆทางเศรษฐกิจเป็นผลงานที่หน่วยราชการและนักการเมืองชอบที่จะหยิบยกมาอวดอ้างต่อผู้นำและสร้างความหวังต่อประชาชน  แต่ตัวเลขที่สะท้อนปัญหาทางสังคมนั้นน้อยครั้งที่จะเปิดเผย  ดังเช่นผลสำรวจวิจัยชิ้นหนึ่งในปี ค.ศ. 2021 พบว่าสุขภาพของชาวจีนวัยทำงานกว่าร้อยละ 94 กำลังประสบกับปัญหาโดยเฉลี่ยชาวจีน 1 คนมีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพประมาณ 5.4 รายการ

ด้านสุขภาพจิตพบว่าชาวจีนวัยทำงานกว่า 50%ต่างคิดว่าตนมีปัญหาสุขภาพจิตไม่มากก็น้อย เพราะชาวจีนวัยทำงานยุคนี้มีปัญหาการนอนไม่หลับมากที่สุด ในงานวิจัยพบว่าคนวัยทำงานอายุ 32 – 41 ปี ประมาณ20%นอนน้อยกว่า 6 ชั่วโมง คนวัยทำงานอายุ 22 – 31 ปี มีพฤติกรรมที่ไม่อยากนอนช่วงกลางคืน

มีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่ลงในวารสารการแพทย์ระบุว่า รัฐบาลจีนต้องเตรียมรับมือกับจำนวน“ผู้ป่วยสมองเสื่อมที่จะเพิ่มขึ้นตามอายุประชากร ซึ่งประเทศจีนวันนี้ได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบแล้วอันเป็นผลจากนโยบายควบคุมประชากรที่ใช้มายาวนานกว่า3ทศวรรษ

ในหนังสือปกน้ำเงินว่าด้วยสุขภาพจิตเล่มที่ 3ของจีน ได้เปิดเผยถึงผลการตรวจสุขภาพจิตประจำปี2022 ของนักศึกษาจีนเกือบ 80,000 คน ที่มีอายุ15- 26 ปี  พบว่า 74.10% ของนักศึกษามีความพอใจกับชีวิตที่เป็นอยู่  17.24% ตอบว่าไม่แน่ใจ 8.66% ไม่พอใจกับชีวิต50.44% มีแผนเรียนต่อปริญญาโท  (คงเพราะจบปริญญาตรีตอนนี้หางานยากแข่งขันสูง)

ในคำถามเรื่องแฟน27.61% ของนักศึกษาตอบว่ามีแฟน 41.93% ตอบว่าไม่มีแฟนและไม่อยากมี 25.40% ตอบว่าไม่มีแต่อยากมีแฟน เป็นผลสะท้อนจากโครงสร้างประชากรและภาวะเศรษฐกิจ

จากภาวะการแข่งขันสูงในสังคมจีนประกอบกับแรงกดดันในครอบครัวยิ่งในช่วงโควิดระบาดหนัก ถูกล็อคดาวน์นับเดือนนับปี ทำให้เยาวชนส่วนหนึ่งไม่มีกำลังใจจะไขว่คว้าหาอนาคต ไม่คิดแสวงหาความสำเร็จกลายเป็นกระแส“ป่ายล่านหรือปล่อยชีวิตให้เน่าไปแบบหมดอาลัยตายอยาก

หลังโควิดคนจีนเจอสภาพกระเสือกกระสนหางานทำ  เด็กจบการศึกษาใหม่หางานทำอย่างยากลำบากจนมีตัวเลขออกมาว่าเยาวชนจีนอายุ 16-24 ปี มากกว่า 1 ใน 5 หรือ 21.3% เจอปัญหาว่างงาน

นักวิชาการจีนคาดว่าในปี 2023 คนจีนที่มีงานทำแค่ 733.5 ล้านคนส่วนอีกประมาณ 700 ล้านคนเป็นผู้สูงวัย เด็กเล็ก  นักเรียน นักศึกษา แม่บ้าน ผู้ป่วย และคนตกงาน ที่สังคมจีนต้องแบกรับ

นอกจากนี้ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของจีนยังศึกษาพบว่า การแข่งขันที่รุนแรงในระบบการศึกษาของจีนได้สร้างแรงกดดันต่อเด็กและเยาวชนจนเกิดปัญหาสุขภาพจิต  เกิดโรคซึมเศร้าในหมู่นักเรียน  เกิดความเสี่ยงสูงในการฆ่าตัวตาย  อัตราการฆ่าตัวตายในเด็กอายุ 5-14 ปีเพิ่มขึ้นเกือบ 10% ต่อปี ในช่วงปี 2010-2021กลุ่มคนอายุระหว่าง 15-24 ปี เพิ่มขึ้นเกือบ 20%ในปี 2017-2021

นโยบายลูกคนเดียว”ที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนนำมาใช้คุมจำนวนประชากรช่วงปี 1979-2015 นั้นบรรลุผลในช่วงเวลาหนึ่งที่ต้องการแก้ปัญหาความอดอยากยากจน  แต่นำมาสู่ปัญหาประชากรหดตัวในปัจจุบันจนประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิงต้องออกมาเรียกร้องสตรีชาวจีนให้มีบทบาทร่วมสร้าง “ครอบครัวยุคใหม่”อันหมายถึงการแต่งงานและการมีบุตร

ซึ่งสวนทางกับความเป็นจริงที่ผู้หญิงจีนยุคใหม่มีการศึกษาสูงขึ้นรักอิสระมากขึ้น  สามารถทำงานหาเงินเลี้ยงดูตนเองได้ จึงเลือกจะเป็นโสดเลี้ยงสุนัขหรือแมว  ไม่อยากจะเพิ่มบทบาท“ภรรยา”ที่ต้องตั้งท้องเลี้ยงลูก รับส่งลูกเรียนหนังสือ  หรือเป็น“ลูกสะใภ้”ที่อาจต้องทำหน้าที่เหมือนคนใช้ทำอาหารทำความสะอาดบ้าน ซักรีดเสื้อผ้าหรืออาจต้องเลี้ยงดูพ่อตาแม่ยายไปจนตาย

ผู้ชายจีนธรรมดาๆไม่หล่อไม่รวย ที่มีอยู่ดาษดื่นจะไม่ถูกเลือกจากสาวๆ  หนุ่มจีนยุคนี้จึงเครียดมากบางคนยอมลงทุนหันหาสาวในอาเซียนไปเป็นคู่แทนสาวจีน

คนจีนยุคนี้บ่นให้ฟังว่ารู้สึกว่าประเทศจีนวันนี้วุ่นวายมาก  มีการพัฒนาเร็วจนคนส่วนใหญ่ตามไม่ทัน  ภาษาจีนมีคำหนึ่งว่า “เหินจ่วน”เปรียบคนเรายืนอยู่บนแผ่นกระดาษที่ม้วนตัวตลอดเวลา  หากเราวิ่งตามไม่ทันก็จะถูกม้วนเข้าไปในกระดาษ  ทุกคนจะอยู่นิ่งเฉยไม่ได้เลย  ทำให้เหนื่อยกับการใช้ชีวิต

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...