ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คอลัมนิสต์ประจำอปท.นิวส์ ย้อนกลับ
ประเทศไทย กับ BRI ในทศวรรษที่สอง
02 พ.ย. 2566

ในการประชุมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ (Belt and Road Forum for International Cooperation : BRF) ครั้งที่ 3 ที่กรุงปักกิ่ง  สาธารณรัฐประชาชนจีนประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ไม่เพียงจะผลงานอันยิ่งใหญ่ของจีนในเรื่อง “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ที่ตนเองเป็นผู้ผลักดันมาตลอด 10 ปี  ว่าสามารถสร้างความร่วมมือกันนานาชาติได้อย่างหลากหลายมิติ

“มากกว่า 150 ประเทศและอีกกว่า 30 องค์กรระหว่างประเทศที่ลงนามในความร่วมมือกับจีน” คือตัวเลขที่ผู้นำจีนเคลมและรัฐบาลจีนได้ป่าวประกาศกับนานาชาติมาตั้งแต่กลางปี

           แน่นอนว่าจีนพอใจแต่ย่อมไม่หยุดเพียงเท่านี้  ผู้นำจีนยังยืนยันจะเดินหน้าต่ออย่างเต็มกำลังในทศวรรษที่สองด้วยการอัดฉีดเงินทุนอีกมหาศาลทั้งในรูปเงินกู้และเงินสนับสนุนต่อโครงการในหลากหลายรูปแบบ

สี จิ้นผิง พูดไว้ชัดเจนว่ามี 8โครงการที่เน้นหนักในทศวรรษที่สอง  ได้แก่

1.เร่งเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ระหว่างจีน-ยุโรปโดยเฉพาะรถไฟคุณภาพสูง   

2.สนับสนุนการสร้างเศรษฐกิจโลกแบบเปิด โดยจีนจะสร้างเขตสาธิตความร่วมมือ "เส้นทางสายไหมอีคอมเมิร์ซ"

3.ส่งเสริมโครงการสำคัญและโครงการช่วยเหลือในการดำรงชีวิตขนาดเล็ก 1,000 โครงการ โดยสถาบันการเงินของจีนและกองทุนเส้นทางสายไหม  4.ส่งเสริมการพัฒนาสีเขียวจัดการฝึกอบรมจำนวน 100,000 ครั้งสำหรับประเทศหุ้นส่วนภายในปี 2040

5.ส่งเสริมนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 

6.สนับสนุนการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนบนพื้นฐานของเทศกาลศิลปะ พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ พันธมิตรห้องสมุด และพันธมิตรการท่องเที่ยวเมืองตามเส้นทางสายไหม

7.สร้างเส้นทางแห่งความซื่อสัตย์(ข้อนี้ยังต้องทำความเข้าใจและต้องตีความกันอีกพอสมควร)  8.ปรับปรุงกลไกความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านพลังงาน ภาษี การเงิน การพัฒนาสีเขียว การลดภัยพิบัติ การต่อต้านการทุจริต คลังสมอง สื่อ วัฒนธรรม และสาขาอื่นๆ

          หนึ่งในแขกรับเชิญของจีนที่เป็นระดับผู้นำคือนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีถุงเท้าหลากสีของไทย  ที่ได้เข้าร่วมทั้งเวทีใหญ่ และทวิภาคี  ได้มีโอกาสสัมผัสมือกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง  และเจรจาทวิภาคีกับ หลี่ เฉียงนายกรัฐมนตรีจีน

ปัจจุบันจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของไทย มูลค่าการค้าระหว่างไทย - จีนในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2023 รวมประมาณ 5 แสนล้านหยวน   นายกฯเศรษฐาแสดงบทบาทเซลส์แมนบอกกับฝ่ายจีนว่า  อยากเห็นการค้าไทย - จีนขยายตัวมากยิ่งขึ้น รวมถึงมีสินค้าจีนผ่านแดนประเทศไทยไปยังประเทศอื่นๆได้มากขึ้นด้วย   ขณะเดียวกันก็อยากให้จีนอุดหนุนสินค้าไทยมากขึ้นด้วยโดยนายกฯเศรษฐาไม่ได้พูดว่าที่ผ่านมาไทยขาดดุลการค้าจีนมากแค่ไหน

ในด้านการลงทุนจากต่างประเทศ ตั้งแต่ปี 2018 - เดือนกันยายน 2023จีนเป็นผู้ลงทุนอันดับหนึ่งของไทย มูลค่าการลงทุนรวมมากกว่า 1 แสนล้านหยวน ส่วนใหญ่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะในกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย ที่ผ่านมามีค่ายรถยนต์ชั้นนำของจีนหลายแบรนด์เข้าไปตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลพร้อมที่จะช่วยอำนวยความสะดวกและดูแลนักลงทุนจีนเป็นอย่างดี

          นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำหรับนักท่องเที่ยวจีนเป็นอันดับต้นของประเทศไทยนั้น ช่วงมกราคม - สิงหาคม 2023 มีนักท่องเที่ยวจีนเยือนไทยแล้วประมาณ 2.2 ล้านคน หวังว่าจะเดินทางไปไทยมากขึ้นในช่วงปลายปี จนถึงช่วงตรุษจีนในต้นปี 2024

นายกฯเศรษฐายังถือโอกาสนี้นำเสนอโครงการแลนด์บริดจ์ หรือ “สะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทยกับอันดามัน(ชุมพร-ระนอง)”  ระยะทางประมาณ 93.9 กิโลเมตร เชื่อมต่อด้วยระบบราง  ทางหลวงและระบบท่อ ย่นเวลาขนส่งสินค้าทางเรือผ่านช่องแคบมะละกาได้ 6-9 วัน  วงเงินลงทุนประมาณ 1 ล้านล้านบาท  ระยะเวลาเต็มโครงการปี 2567-2577

          นายกรัฐมนตรีไทยสร้างเซอร์ไพร์ส  โดยประกาศต่อฝ่ายจีนเป็นที่แรกว่าประเทศไทยเปิดแล้ว พร้อมที่จะให้นักลงทุนจีนเข้ามาร่วมพัฒนาโครงการนี้ทั้งๆที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเคยเอ่ยปากว่า  เป็นโครงการใหญ่ที่มีมูลค่าลงทุนสูงมาก อีกทั้งยังมีประเด็นผลกระทบสิ่งแวดล้อม การคุ้มค่าในการลงทุน การหาผู้ประกอบการร่วมลงทุน จึงเห็นว่าค่อนข้างยากและต้องใช้เวลาแต่พอถูกทัวร์ลงก็พลิกลิ้นว่าไม่เคยยกเลิก  และคณะรัฐมนตรีก็เพิ่งมีมติเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 ให้ศึกษาโครงการเพียง 1 วันก่อนที่นายกฯเศรษฐาจะเดินทางไปจีน

นอกจากการเจรจากับรัฐบาลจีนแล้ว  นายกฯเศรษฐาและคณะยังถือโอกาสนัดพบผู้บริหาร 5 บริษัทยักษ์ใหญ่ของจีนได้แก่ บริษัทอาลีบาบาของแจ๊ค หม่าเรื่องการค้าออนไลน์ ด้านดิจิทัลบริษัท CRRCระบบรางขายหัวรถจักรให้ไทย  ทำไฮสปีดเชื่อมสนามบินบริษัทเสี่ยวมี่ เจ้าของอุปกรณ์อีเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า  ชวนมาผลิตในไทยบริษัทผิงอัน ธุรกิจประกันภัยชื่อดัง  การเงินครบวงจร   และCITIC Groupซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีระดับสูงรวมถึงภาคการเงิน

 ผู้นำภาคเอกชนที่ร่วมคณะนายกรัฐมนตรีไปเยือนจีนได้แสดงความเห็นว่ามี 5 เรื่องที่ประสบความสำเร็จ  แต่ในมุมของผู้เขียนก็มีข้อสังเกตุร่วม

1.ฝ่ายไทยแสดงจุดยืนว่าพร้อมสนับสนุน BRI เพราะเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้  แต่โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ที่จีนเร่งมา  ไทยจะกล้าดึงยาวอย่างสมัยคสช. ที่มีข้ออ้างทางการเมืองภายในหรือไม่

2.เรื่องEEC ของไทยรองรับการลงทุน EV ของจีนสอดคล้องเรื่องพลังงานสะอาด  แต่การสนับสนุนรถEV จีนจะกลายเป็นการเทตลาดรถยนต์สันดาปภายในของไทยหรือไม่  รัฐบาลมีมาตรการให้ผู้ลงทุนจีนถ่ายทอดเทคโนโลยีเรื่องรถEVให้ไทยอย่างไรหรือไม่

          3.เรื่องการท่องเที่ยว วีซ่าฟรี ที่รัฐบาลไทยเปิดให้จีนถึงต้นปีหน้า หรืออาจจะต่อให้อีกนั้น  เห็นอยู่ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจีนไม่ปังอย่างที่คิด   ตลาดใหญ่และมีกำลังซื้อที่ควรให้ความสำคัญอย่าง “อินเดีย”รัฐบาลกลับมองข้ามเหมือนเลือกปฏิบัติ

          4.มองว่าเอกชนจีนมาลงทุนเพิ่มแซงหน้าชาติอื่น  หรือเพราะจีนมีปัญหาภายใน  เริ่มย้ายฐานการผลิตออกนอกประเทศมีรัฐบาลจีนหนุนหลัง

          5.ความสำเร็จในการเชื่อมความสัมพันธ์ไทย-จีน ทุกมิติ  ประโยคที่กล่าวกันบ่อยๆว่า “จีน-ไทย ครอบครัวเดียวกัน”หมายถึงการให้เกียรติในความสนิทสนมเป็นพิเศษ แต่ความเป็นชาตินั้นมีฐานะเท่าเทียมกัน

แต่นายกฯเศรษฐาไปพูดว่า  “ไทยเป็นน้องคนหนึ่งของประเทศจีน จะช่วยกันเดินไปข้างหน้าควบคู่กับพี่ใหญ่”หมดกันศักดิ์ศรีประเทศไทย  ภายใต้รัฐบาลนี้คงต้องเดินตามก้นจีนตลอดไป

………………………………………………………….

หมายเหตุ : ลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ อปท.นิวส์  ปีที่ 18 ฉบับที่ 415วันที่ 1-15 พฤศจิกายน พ.ศ.2566              

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...