ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เกษตรนำไทย ย้อนกลับ
จับตารื้อ ภาษีที่ดิน 2567เก็บเต็มเพดาน เกษตรกรรม เสีย 15 เท่า
17 ต.ค. 2566


หนึ่งในนโยบายที่ลุ้นระทึกไม่แพ้การฟอร์มทีม”รัฐบาลใหม่” นั่นคือ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประจำปี 2567

เนื่องจากอัตราที่ใช้ในการจัดเก็บในปัจจุบันจะครบกำหนดปี 2566 ได้แก่ 1.ที่ดินเกษตรกรรมจัดเก็บ 0.01-0.1% 2.ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยจัดเก็บ 0.02-0.1% 3.ที่ดินอื่นๆ เช่น การพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม จัดเก็บ 0.3-0.7% และ 4.ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์จัดเก็บ 0.3-0.7%
ดังนั้นเท่ากับว่าในปี 2567 กำลังจะมาถึงอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ยังต้องลุ้นจะมีการทบทวนอัตราภาษีใหม่หรือไม่ ภายใต้การเปลี่ยนผ่านสถานการณ์การเมืองสู่รัฐบาลชุดใหม่

สถานะตอนนี้จึงอยู่บนพื้นฐานมีความเป็นไปได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะคงอัตราเดิมหรือลดอัตราเดิมหรือเขย่าอัตราใหม่ให้ชนกับเพดานที่กฎหมายกำหนด โดยอัตราเพดานที่ดินเกษตรกรรมไม่เกิน 0.15% หรือเพิ่ม 15 เท่า จากล้านละ 100 บาท เป็นล้านละ 1,500 บาท ,บ้านพักอาศัยไม่เกิน 0.3% ,ที่ดินอื่นๆ และรกร้างว่างเปล่าไม่เกิน 1.2%
ปฏิเสธไม่ได้ว่าที่ผ่านมามีผู้ถือครองที่ดินที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะทำเลย่านเศรษฐกิจใจกลางเมืองกรุงเทพฯและหัวเมืองใหญ่ มีการนำที่ดินมาแปลงสภาพที่ดินเพื่อให้เข้าเกณฑ์ ”ที่ดินเกษตรกรรม” เพื่อลดภาระภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่ม 10 เท่า ซึ่งจากนี้ไปถึงปีหน้าน่าจะมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง รับกับอัตราใหม่ในปี 2567
อย่างไรก็ตามผลจากประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย เรื่องหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม หากปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ตามที่กำหนด ทำให้เจ้าของที่ดินแห่ปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินจำนวนมาก

โดยเฉพาะที่ดินในเมืองที่ราคาประเมินแพง แกล้งทำเกษตรกรรมจำแลง
ปลูกกล้วยและมะนาว เพื่อให้เข้าเกณฑ์ที่ดอนเกษตรกรรม เสียภาษีในอัตราที่ถูกลง จากที่ดินรกร้างว่างเปล่าเสียล้านละ 3,000 บาท จะเสียในอัตราเกษตรกรรมล้านละ 100 บาทเท่านั้น

เมื่อพลิกดูประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย ระบุว่า การประกอบการเกษตรที่เป็นการทำไร่ การปลูกผัก การปลูกไม้ผลยืนต้น การปลูกสวนป่า การปลูกป่าเศรษฐกิจ แบบสวนเฉพาะ หรือการปลูกไม้ผลหรือไม้ยืนต้นแบบสวนผสมที่มีชนิดพืชดังต่อไปนี้จะต้องประกอบการเกษตร ให้ได้อัตราขั้นต่ำตามที่กำหนดไว้ จึงจะถือว่าเป็นการใช้ประโยชน์ในการประกอบการเกษตรกรรม
สำหรับพืช 51 ชนิด และอัตราขั้นต่ำการปลูกที่กำหนด ได้แก่ 1.กล้วยหอม 200 ต้น/ไร่ 2.กล้วยไข่ 200 ต้น/ไร่ 3.กล้วยน้ำว้า 200 ต้น/ไร่ 4.กระท้อนเปรี้ยว 25 ต้น/ไร่ พันธุ์ทับทิม 25 ต้น/ไร่ พันธุ์ปุยฝ้าย 25 ต้น/ไร่ 5.กาแฟ 170 ต้น/ไร่ พันธุ์โรบัสต้า 170 ต้น/ไร่ พันธุ์อราบิก้า 533 ต้น/ไร่ 6.กานพลู 20 ต้น/ไร่ 7.กระวาน 100 ต้น/ไร่

8.โกโก้ 150-170 ต้น/ไร่ 9.ขนุน 25 ต้น/ไร่ 10.เงาะ 20 ต้น/ไร่ 11.จำปาดะ 25 ต้น/ไร่ 12.จันทร์เทศ 25 ต้น/ไร่ 13.ชมพู่ 45 ต้น/ไร่ 14.ทุเรียน 20 ต้น/ไร่ 15.ท้อ 45 ต้น/ไร่ 16.น้อยหน่า 170 ต้น/ไร่ 17.นุ่น 25 ต้น/ไร่ 18.บ๊วย 45 ต้น/ไร่ 19.ปาล์มน้ำมัน 22 ต้น/ไร่ 20.ฝรั่ง 45 ต้น/ไร่ 21.พุทรา 80 ต้น/ไร่

22.แพสชั่นฟรุ๊ต 400 ต้น/ไร่ 23.พริกไทย 400 ต้น/ไร่ 24.พลู 100 ต้น/ไร่ 25.มะม่วง 20 ต้น/ไร่ 26.มะพร้าวแก่ 20 ต้น/ไร่ 27.มะพร้าวอ่อน 20 ต้น/ไร่  28.มะม่วงหิมพานต์ 45 ต้น/ไร่ 29.มะละกอ (ยกร่อง) 100 ต้น/ไร่ (ไม่ยกร่อง) 175 ต้น/ไร่ 30.มะนาว 50 ต้น/ไร่ 31.มะปราง 25 ต้น/ไร่ 32.มะขามเปรี้ยว 25 ต้น/ไร่ 33.มะขามหวาน 25 ต้น/ไร่ 34.มังคุด 16 ต้น/ไร่

35.ยางพารา 80 ต้น/ไร่ 36.ลิ้นจี่ 20 ต้น/ไร่ 37.ลำไย 20 ต้น/ไร่ 38.ละมุด 45 ต้น/ไร่ 39.ลางสาด 45 ต้น/ไร่ 40.ลองกอง 45 ต้น/ไร่ 41.ส้มโอ 45 ต้น/ไร่ 42.ส้มโอเกลี้ยง 45 ต้น/ไร่ 43.ส้มตรา 45 ต้น/ไร่ 44.ส้มเขียวหวาน 45 ต้น/ไร่ 45.ส้มจุก 45 ต้น/ไร่ 46.สตรอเบอรี่ 10,000 ต้น/ไร่ 47.สาลี่ 45 ต้น/ไร่ 48.สะตอ 25 ต้น/ไร่ 49.หน่อไม้ไผ่ตง 25 ต้น/ไร่ 50.หมาก (ยกร่อง) 100-170 ต้น/ไร่ และ 51. พืชกลุ่มให้เนื้อไม้ 100 ต้น/ไร่

ส่วนสัตว์ 9 ชนิด ได้แก่ 1.โค ขนาด 7 ตารางเมตรต่อตัว เท่ากับเป็นการใช้ที่ดิน 1 ตัวต่อ 5 ไร่ 2.กระบือโตเต็มวัย ขนาด 7 ตารางเมตรต่อตัว เท่ากับเป็นการใช้ที่ดิน 1 ตัวต่อ 5 ไร่ 3.แพะ-แกะโตเต็มวัย ขนาด 2 ตารางเมตรต่อตัว เท่ากับเป็นการใช้ที่ดิน 1 ตัวต่อไร่ 4.สุกร พ่อพันธุ์ คอกเดี่ยว ขนาด 7.5 ตารางเมตรต่อตัว แม่พันธุ์ คอกเดี่ยว ขนาด 1.5 ตารางเมตรต่อตัว สุกรอนุบาล ขนาด 0.5 ตารางเมตรต่อตัว สุกรขุน ขนาด 1.5 ตารางเมตรต่อตัว คอกคลอด ใช้พื้นที่ไม่น้อยกว่า 6 ตารางเมตรต่อตัว ซองอุ้มท้อง ใช้พื้นที่ไม่น้อยกว่า 2 ตารางเมตรต่อตัว

5.สัตว์ปีกเลี้ยงปล่อย (เป็ดและไก่) 4 ตารางเมตรต่อตัว (ตามมาตรฐานปศุสัตว์อินทรีย์) 6.กวาง 2 ไร่ต่อตัว 7.หมูป่า 5 ตารางเมตรต่อตัว (เลี้ยงในโรงเรือน) 0.25 ไร่ต่อตัว (เลี้ยงปล่อย) 8.ผึ้ง บริเวณที่มีพืชอาหารเลี้ยงผึ้ง เช่น เกสร และน้ำหวานดอกไม้ที่สมดุล กับจำนวนรังผึ้ง 9.จิ้งหรีด บริเวณพื้นที่เพียงพอและเหมาะสม กับขนาดและจำนวนบ่อ

จากข้อยกเว้นดังกล่าวนั้น ทำให้หน่วยงานท้องถิ่นเก็บรายได้จากภาษีที่ดินได้น้อยลง โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร(กทม.) ล่าสุดผลการจัดเก็บตั้งแต่เดือนตุลาคม2565-วันที่ 4 สิงหาคม 2566 อยู่ที่ 2,887 ล้านบาท ยังต่ำกว่าที่ประมาณไว้ 7,710 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามกทม.สามารถออกข้อบัญญัติกำหนดอัตราการจัดเก็บภาษีได้เอง แต่ต้องไม่เกินจากเพดานที่กฎหมายกำหนด อยู่ที่”ชัชชาติ สิทธิพันธุ์”จะลุยเลยหรือรอรัฐบาลใหม่มารื้อใหญ่

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 1 - 15 พฤษภาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...