ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เกษตรนำไทย ย้อนกลับ
กรมวิชาการเกษตร แนะเลี้ยงขยายไส้เดือนฝอย
21 ก.ย. 2566

-กรมวิชาการเกษตร แนะเลี้ยงขยายไส้เดือนฝอยสายพันธุ์ต่างประเทศอย่างง่าย

ปัจจุบัน “ชีวภัณฑ์ไส้เดือนฝอยศัตรูแมลง” สายพันธุ์ต่างประเทศ หรือที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Steinernema carpocapsae ได้รับการยอมรับจากเกษตรกรเป็นอย่างมากมีประสิทธิภาพกำจัดแมลงศัตรูพืชได้หลายชนิด และเป็นสายพันธุ์ที่มีศักยภาพในการควบคุมกำจัดแมลง มีวิธีการเพาะขยายได้ง่ายด้วยหนอนกินรังผึ้ง กรมวิชาการเกษตร โดย กลุ่มงานวิจัยการปราบศัตรูพืชทางชีวภาพ สํานักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช ได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลสนับสนุนการผลิตอาหารที่ปลอดภัยต่อเกษตรกร ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม โดยวิจัยและพัฒนาสารสกัดธรรมชาติ ชีวภัณฑ์ เครื่องจักรกลทางการเกษตร ปุ๋ยชีวภาพ การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ มาใช้สนับสนุนเป็นปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่มีความปลอดภัยและสามารถผลิตใช้ได้เองภายในประเทศ

สำหรับกระบวนการเพาะเลี้ยงขยายไส้เดือนฝอยศัตรูแมลง โดยการใช้หนอนกินรังผึ้งเป็นอาหารให้กับไส้เดือนฝอยศัตรูแมลง แบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอน คือ เพาะเลี้ยงหนอนกินรังผึ้ง และเพาะเลี้ยงไส้เดือนฝอยศัตรูแมลง

ขั้นตอนที่ 1 การเตรียมอาหารสำหรับเลี้ยงหนอนกินรังผึ้ง ได้แก่ ผสม รำข้าวสาลี 1 กิโลกรัม และน้ำเชื่อม 800 มิลลิลิตร คลุกเคล้าให้เข้ากัน และนำไปเลี้ยงหนอนกินรังผึ้ง นำไข่ผีเสื้อหนอนกินรังผึ้งน้ำหนัก 1 วางกระจายในกล่องพลาสติก ขนาด 4x6x2 นิ้ว ซึ่งบรรจุอาหารเทียมปริมาณ 100 กรัม ปิดฝา (ฝากล่องเจาะและปิดทับด้วยมุ้งลวดที่มีตาถี่) ไว้ภายในห้องที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก และห่างจากมด หลังจากนั้นตั้งทิ้งไว้เป็นเวลา 10 วัน หนอนจะพัฒนาจนมีขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร อาหารในกล่องจะเริ่มแห้ง จากนั้นแบ่งอาหารที่มีหนอนออกเป็น 3 ส่วน ย้ายลงกล่องพลาสติกขนาด 7x11x3 นิ้ว จำนวน 3 กล่อง ซึ่งบรรจุอาหารเทียมปริมาณ 300 กรัม เมื่ออาหารเริ่มแห้งให้เติมอาหารใหม่ลงไปอีก 300 กรัม และเมื่อครบ 25 วัน หนอนจะมีขนาดความยาวประมาณ 1 นิ้ว ซึ่งเป็นขนาดที่เหมาะสำหรับนำไปใช้ในการเลี้ยงขยายไส้เดือนฝอย หากไม่สะดวกที่จะเพาะขยายหนอนกินรังผึ้ง สามารถหาซื้อหนอนกินรังผึ้งได้จากร้านจำหน่ายอาหารสัตว์เลี้ยงทั่วไป
 
 
ขั้นตอนที่ 2 การเพาะขยายไส้เดือนฝอย โดยการขยำฟองน้ำในแก้วพลาสติก ที่มีน้ำ 250 มิลลิลิตร ซ้ำ 2 รอบ แล้วรวมน้ำทั้ง 2 ครั้ง แล้วตั้งให้ไส้เดือนฝอยศัตรูแมลงตกตะกอน แล้วรินน้ำส่วนใส่ด้านบนทิ้ง ให้เหลือน้ำเพียง 100 มิลลิลิตร ต่อมาหยดต้นเชื้อลงบนกระดาษปรู๊ฟ ที่รองไว้ในกล่องขนาด 4x6x1 นิ้ว ในปริมาณ 0.8 มิลลิลิตร จากนั้นใส่หนอนกินรังผึ้งจํานวน 40 ตัว ปิดฝา นําไปเก็บในอุณหภูมิห้อง เป็นเวลา 3 วัน เมื่อหนอนกินรังผึ้งจะตาย ย้ายลงกล่องความชื้น (นำกล่องขนาด 7x11x3 นิ้ว และตะแกรงลวกด้วยน้ำร้อน จากนั้นปิดฝากล่องทันที เพื่อให้เกิดหยดน้ำขึ้นมาเป็นแหล่งความชื้น วางกล่องทิ้งไว้ให้เย็น) โดยการนําหนอนที่ตายมาวางเรียงบนตะแกรง โดยไม่ซ้อนทับกัน แล้วปิดฝากล่องให้สนิทเพื่อป้องกันแมลงหวี่ นําไปเก็บที่อุณหภูมิไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส และห่างจากมด เพื่อช่วยให้ไส้เดือนฝอยศัตรูแมลง สามารถขยายพันธุ์เพิ่มปริมาณได้ดี  ท้ายที่สุดเมื่อครบ 16 วัน สามารถเก็บไส้เดือนฝอยนำไปใช้ได้ทันที โดยการเก็บน้ำภายในกล่องความชื้น หากยังไม่ใช้ทันทีสามารถเก็บในตู้เย็นได้ 7 วัน โดยก่อนเก็บต้องล้างด้วยน้ำสะอาด และลดน้ำให้เหลือเพียง 0.5 เซนติเมตรของขวดบรรจุ และสามารถเก็บไส้เดือนฝอยจากกล่องความชื้นได้อีก 2 ครั้ง ทุกๆ 2 วัน จากการเพาะขยายไส้เดือนฝอยด้วยวิธีนี้ น้ำไส้เดือนฝอยจากกล่องความชื้นจำนวน 8 กล่อง สามารถผสมกับน้ำ 20 ลิตร นําไปใช้ได้ 1 งาน หรือ 32 กล่อง สามารถผสมกับน้ำ 80 ลิตร นําไปใช้ได้ 1 ไร่ โดยไส้เดือนฝอยศัตรูแมลง สารพันธ์ต่างประเทศนี้สามารถควบคุมแมลงศัตรูพืชได้หลากหลายชนิด เช่น ด้วงหมัดผัก หนอนกระทู้หอมหนอนผีเสื้อในโรงเห็ดด้วงงวงมันเทศ แมลงในสนามหญ้า หนอนด้วงกินรากสตรอเบอรี่ และ หนอนกินใต้เปลือกลองกอง เป็นต้น
 
ปัจจุบันเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่เกษตรกร กลุ่มงานวิจัยการปราบศัตรูพืชทางชีวภาพได้ผลิตและจำหน่าย “ชีวภัณฑ์ NEMA DOA 50WP” ราคากระป๋องละ 150 บาท ขนาด 75 กรัม อัตราการใช้ 1 กระป๋องผสมน้ำ 20 ลิตร หากสนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กลุ่มงานวิจัยการปราบศัตรูพืช ทางชีวภาพ กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สํานักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร โทร 02 5797580 ต่อ 138
หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...