ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คอลัมนิสต์ประจำอปท.นิวส์ ย้อนกลับ
วัยรุ่นตั้งครรภ์ถูกตีตรา
03 ก.ย. 2566

ESG Today โดย มนวิภา จูภิบาล กรรมการบริษัท วีอาร์ทวินส์ จำกัด

วัยรุ่นตั้งครรภ์ถูกตีตรา

ก่อนหน้าวันเยาวชนสากล 12 สิงหาคม 2566 หนึ่งวัน UN News โดย Daniel Dickinson นำเสนอบทความเรื่อง วันเยาวชนสากล : การต่อสู้กับการตีตราการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นประเทศไทย

หากรัฐและสังคมไทยมีการให้ความรู้ ช่วยเตรียมความพร้อม มีทัศนคติและการปฏิบัติเชิงบวกที่ไม่ทำให้วัยรุ่นถูกตีตราว่าทำสิ่งผิดรุนแรง และเกิดภาวะยากลำบากจนเกินไป   สภาพนักเรียน ม.1 แอบคลอดลูกทิ้งไว้ในถังขยะห้องน้ำปั๊มน้ำมัน จังหวัดพัทลุง แล้วขึ้นรถบัสไปทัศนศึกษาต่อโดยไม่มีใครรู้ ก็คงจะไม่เกิดขึ้น  

เป็นเวลากว่า 6 ปีที่องค์กรพัฒนาเอกชนขนาดเล็ก (NGO) ชื่อ กลุ่มฅนวัยใส อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ได้ทำงานคลุกคลีกับพ่อแม่วัยรุ่น ช่วยพัฒนาสุขภาพ ป้องกันการท้องซ้ำ และสอนการดูแลลูก โดยใช้กระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมและการเสริมพลังใจ เพื่อให้สามารถลุกขึ้นมาจัดการปัญหาได้ด้วยตัวเอง

Dickinson ลงพื้นที่กลุ่มฅนวัยใส เขากล่าวว่าคุณแม่ยังสาวในประเทศไทย ได้รับการสนับสนุนเพื่อเอาชนะความท้าทายที่พวกเขาเผชิญในประเทศที่การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นยังคงเป็นสิ่งต้องห้าม   เขาบรรยายถึงภาพคุณแม่ยังสาวนั่งอยู่บนเก้าอี้ไม้เตี้ย เหนือถ่านที่เผาไหม้จากเปลือกไม้ ที่วางอยู่ในหม้อดินเผาขนาดเล็ก  มีผ้าสีสดใสคลุมตักและขาของเธอเพื่อกักควันไว้อันเป็นกระบวนการรักษาร่างกายสำหรับผู้คลอดบุตรใหม่ๆ  จากนั้นเธอได้รับการนวดผ่อนคลาย ในขณะที่ลูกชายวัยหกขวบนั่งวาดภาพด้วยดินสอสีอยู่ข้างๆ  เธออายุเพียง 14 ปีเมื่อตั้งครรภ์ครั้งแรก โดยเธอและแฟนหนุ่มไม่ใช้การคุมกําเนิดใดๆ  

ในแต่ละปีวัยรุ่นไทยอายุระหว่าง 15 ถึง 19 ปี มีการคลอดบุตรประมาณ 47,400 คน  แม่วัยรุ่นคนนี้ต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติและการตีตรา  เธอถูกแม่เกลี้ยกล่อมให้ดื่มสมุนไพรเพื่อยุติการตั้งครรภ์ แต่ไม่เป็นผล ลูกชายเกิดมาสมบูรณ์แข็งแรง และที่แม่ทำไปก็เพราะไม่อยากให้ลูกสาวถูกตีตราว่าเป็นแม่ที่อายุน้อยและต้องหยุดไปโรงเรียนเช่นเดียวกับคนอื่นๆที่มาจากภูมิหลังที่ด้อยโอกาสเช่นกัน   เธอได้ทำงานใน กลุ่มฅนวัยใส เป็นผู้ให้คําแนะนําเยาวชนที่จะได้รับประโยชน์จากประสบการณ์ของเธอ  เพราะหญิงสาวจากชนบทหลายคน ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลและความช่วยเหลือเกี่ยวกับการคุมกําเนิด เพื่อให้เขามีทางเลือกในชีวิตของเขาเองได้   แม่วัยรุ่นอีกคนหนึ่งเล่าว่า ที่โรงเรียนของฉันเขาไม่พูดกันถึงกิจกรรมทางเพศ  ครูบอกเราว่าเรายังเด็กเกินไปที่จะรู้เกี่ยวกับอนามัยการเจริญพันธุ์  และเมื่อฉันไปที่ศูนย์สุขภาพเพื่อขอรับถุงยางอนามัย  พวกเขาก็พูดแบบเดียวกัน และนินทาฉัน

คุณเอ็มมี่ ผู้ประสานงาน กลุ่มฅนวัยใส กล่าวถึงความสำเร็จของการบังคับใช้กฎหมายในประเทศไทยเมื่อปี 2016 เพื่อให้แน่ใจว่าวัยรุ่นจะได้รับสิทธิในการบริการที่เหมาะสมและช่วยลดการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นว่า  5 ปีหลังการใช้กฎหมาย อัตราการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นอายุ 15 ถึง 19 ปีลดลงถึงครึ่งหนึ่ง จากระดับสูงสุดในปี 2011 ที่เท่ากับ 53.4 ต่อผู้หญิงตั้งครรภ์ 1,000  คน  เป้าหมายตอนนี้คือ ไปให้ไกลกว่าเป้าหมายเดิมที่จะให้การตั้งครรภ์ของวัยรุ่นเกิดขึ้นน้อยกว่า 15 ครั้งต่อผู้หญิง 1,000 คน

กลุ่มฅนวัยใส ยังมีโครงการพัฒนาทักษะอาชีพ เพราะพื้นฐานของวัยรุ่นเหล่านี้ นอกจากขาดโอกาสทางการศึกษาแล้ว ครอบครัวยังมีฐานะยากจน ยิ่งท้องตั้งแต่วัยเด็ก โอกาสในการประกอบอาชีพก็ยิ่งน้อย สุดท้ายก็เข้าสู่ภาวะยากจนเหมือนเดิม กลุ่มฅนวัยใสได้รับการสนับสนุนจากกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ที่ให้คําแนะนําและให้เงินช่วยเหลือ สําหรับการเริ่มต้นธุรกิจขนาดเล็กของแม่วัยรุ่น เช่น ทําปุ๋ยหมักจากเศษอาหาร  เลี้ยงไส้เดือน ทำขนมดอกจอกขาย เป็นต้น

Dickinson มีความเห็นว่า แม้จะมีความท้าทายที่แม่วัยรุ่นทั้งหลายต้องเผชิญในการเข้าถึงคําแนะนําที่ดี แต่ถือว่าประเทศไทยได้ทํางานอย่างหนัก   เพื่อให้แน่ใจว่าคนไทยทุกคน รวมถึงคนหนุ่มสาวมีสิทธิและการเข้าถึงบริการทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ มีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าซึ่งพร้อมให้บริการแก่ประชาชนทุกคน ให้บริการวางแผนครอบครัว และเข้าถึงทางเลือกในการคุมกําเนิดที่หลากหลาย รวมถึงยาเม็ดคุมกําเนิด   การฝังยาคุมกําเนิด และให้ถุงยางอนามัยฟรีสูงสุด 10 ชิ้นต่อสัปดาห์สําหรับเยาวชนไทยทุกคนด้วย

กรอบกฎหมายที่ก้าวหน้าและความมุ่งมั่นในการดูแลเยาวชน  จะทําให้ประเทศไทยเป็นผู้นําในภูมิภาคด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์  หากแต่ผู้มีหน้าที่ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพของไทยหลายคนยังมิได้ปฏิบัติตามเนื้อหาของกฎหมายเสมอไป  พวกเขาคงมีมุมมองหรือทัศนคติเชิงลบต่อพ่อแม่วัยรุ่น แม้ว่าการปฏิเสธสิทธิของพวกเขาเป็นสิ่งผิดกฎหมายก็ตาม  คุณเอ็มมี่ กล่าวว่าการเลือกปฏิบัติและการตีตราวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ ยังคงเป็นหนึ่งในอุปสรรคทางสังคมที่สําคัญสําหรับพวกเขา แต่จากข้อมูลของ Asa Torkelsson ผู้อํานวยการ UNFPA ประจําประเทศไทย มีปัจจัยอื่นๆด้วย อาทิ ความไม่เท่าเทียมทางเพศ ความยากจน ความรุนแรงทางเพศและการบีบบังคับ แรงกดดันทางสังคม  การถูกกีดกันจากโอกาสทางการศึกษาและการทํางาน   และทัศนคติเชิงลบเกี่ยวกับเด็กผู้หญิง

สร้างทัศนคติใหม่ ไม่ควรมีวัยรุ่นคนไหนถูกตีตราเพราะตั้งครรภ์

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...