กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) ประกาศความพร้อม “การจัดตั้งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม” ร่วมกับ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) พร้อมหนุนเรื่องการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผนึกกำลังร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม มุ่งบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 พร้อม “เปิดศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม” เพื่อเป็นศูนย์ประสานงานกลาง ส่งเสริมสนับสนุน ขับเคลื่อนและเชื่อมโยงกิจกรรมต่าง ๆ ในระดับพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โฆษกประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกที่ทวีความรุนแรงขึ้น ประกอบกับอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พิธีสารเกียวโต และความตกลงปารีส ตลอดจนความร่วมมือระหว่างประชาคมโลกในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเทศไทยได้กำหนดเป้าหมายบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 ด้วยเหตุนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำโดยนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) พร้อมด้วยนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้มีนโยบายทบทวน ปรับบทบาท ภารกิจและโครงสร้างของหน่วยงาน เสนอการเปลี่ยนชื่อ “กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม” เป็น “กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม” โดยการนำภารกิจของกองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ของ สผ. ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ มารวมกับภารกิจของ สส. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีจุดแข็งในด้านการสร้างจิตสำนึก การสร้างการมีส่วนร่วมและเพิ่มขีดความสามารถของประชาชน มีฐานเครือข่ายความร่วมมือจากทุกภาคส่วน รวมถึงมีการศึกษา วิจัย พัฒนาสารสนเทศ และถ่ายทอดเทคโนโลยี นำมาผนวกรวมกัน และอีกหน่วยงานที่สำคัญคือ อบก. จะมาช่วยสนับสนุนเรื่องการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งเสริมและพัฒนาโครงการและการตลาดซื้อ-ขายปริมาณก๊าซเรือนกระจก (Carbon Credit) ที่ได้รับการรับรอง ซึ่งแต่ละหน่วยงานจะมีภารกิจที่ไม่ซ้ำซ้อนกันแต่จะเสริมกัน นับเป็นการผนึกกำลังครั้งสำคัญ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมรับมือกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งยังเป็นการแสดงให้นานาประเทศเห็นถึงความตั้งใจของไทยที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 นอกจากนี้ สส. ยังได้ร่วมกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และนิด้าโพลล์ จัดทำแบบสำรวจความเห็นของประชาชนในการจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะทางด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 จำนวน 2,000 ตัวอย่างทั่วประเทศไทย พบว่า ร้อยละ 89.15 เห็นด้วยกับการจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะทางด้านดังกล่าว และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ ร่างพระราชกฤษฎีกา เปลี่ยนชื่อ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็น กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นายสมศักดิ์ สรรพโกศลกุล อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ยังคงดำเนินการตามภารกิจเดิมด้านสิ่งแวดล้อมของ สส. และมุ่งเน้นประเด็นการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพิ่มเติม ในด้านการปรับตัวเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้กับทุกภาคส่วนและทุกระดับ ด้านการลดก๊าซเรือนกระจกและส่งเสริมการเติบโตที่ปล่อยคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน ด้านการสร้างขีดความสามารถด้านการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งเสริมกลไกการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมเมือง สร้างเครือข่ายความร่วมมือ และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน การศึกษา วิจัยและพัฒนา ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยี การให้บริการข้อมูลและข้อสนเทศ การจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกในระดับพื้นที่ รวมทั้งการดำเนินการตามพันธกรณีระหว่างประเทศ การประสานความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมของประเทศ โดยมุ่งเน้นบทบาทในการขับเคลื่อนนโยบาย แผน และมาตรการไปสู่การปฏิบัติ ตลอดจนติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ
การดำเนินงานในระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่าน กรมฯ ได้ดำเนินการปรับเนื้อหา บทบาท เป้าหมาย ในการสื่อสารที่มุ่งประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การตั้งรับปรับตัว และลดก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งการสร้างความเข้าใจกับเครือข่าย เพื่อปรับรูปแบบการทำงานให้สอดคล้องกับภารกิจของกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เช่น เครือข่าย ทสม. เครือข่าย Zero waste ลดโลกร้อน เครือข่ายเยาวชน เป็นต้น ซึ่งจะสามารถยกระดับการดำเนินงานในภารกิจของกองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ของ สผ. และภารกิจในการสร้างจิตสำนึก การสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมของ สส. กับกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรมและชัดเจนมากยิ่งขึ้น พร้อมขยายความร่วมมือในการลดก๊าซเรือนกระจกกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ ภาคอุตสาหกรรม ภาคคมนาคมขนส่ง ภาคเกษตรกรรม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกในภาพรวมของประเทศตามแผนได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ณ ศูนย์บริการประชาชน ชั้น 2 อาคาร สส. ซึ่งเป็นศูนย์ประสานงานกลาง ส่งเสริมสนับสนุน ขับเคลื่อนและเชื่อมโยงกิจกรรมต่างๆ ในระดับพื้นที่ (กลุ่มจังหวัด/จังหวัด/องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น) บูรณาการและเชื่อมโยงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ข้อมูลการลดและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ข้อมูลความเสี่ยงเชิงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานภายในและภายนอกกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและระดับนานาชาติ เป็นศูนย์เรียนรู้และสื่อสารข้อมูลองค์ความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับประเทศ รวมทั้งเป็นศูนย์ติดตาม พยากรณ์และคาดการณ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แจ้งเตือน สำหรับการแก้ไขปัญหา การรับมือ และปรับตัวกับความเสี่ยงเชิงพื้นที่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งจะมีพิธีเปิดศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นทางการในวันเสาร์ที่ 15 กรกฎาคม 2566 สุดท้ายนี้ ขอฝากให้ทุกท่านติดตามข้อมูลข่าวสารของกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม พร้อมร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 เพราะทุก ๆ ภารกิจของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะสำเร็จได้ หัวใจสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จนั้น ล้วนมาจากความร่วมมือจากประชาชนและทุกภาคส่วน นายสมศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย