นายพีรพันธ์ คอทอง รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารและขับเคลื่อนงานสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ครั้งที่ 4/2566 ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า จากสถานการณ์มังคุดจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่มีเนื้อที่ยืนต้นเพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 127 ไร่ แหล่งผลิตหลัก อยู่ที่อำเภอพรหมคีรี อำเภอลานสกา อำเภอท่าศาลา อำเภอชะอวด และอำเภอร่อนพิบูลย์ โดยฤดูการผลิต 2565/2566 มีปริมาณผลผลิตมังคุดรวม 41,000 ตัน โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปี 2565 เนื่องจากสภาพอากาศที่เหมาะสมส่งผลให้มังคุดในแหล่งผลิตหลักออกดอก ประกอบกับผลผลิตมังคุดปี 2566 มีหลายรุ่นส่งผลให้ผลผลิตออกสู่ตลาดตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนกันยายน คาดการณ์ปริมาณผลผลิตมังคุดจะออกสู่ตลาดมากที่สุดช่วงเดือนสิงหาคม ประมาณ 13,412 ตัน ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ เตรียมมาตรการบริหารจัดการมังคุดโดยเน้นบูรณาการเจ้าหน้าที่ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องให้เกิดประสิทธิภาพ อาทิ การพัฒนาระบบการรับรองมาตรฐาน GAP ลดปัญหาการสวมสิทธิ์ การอบรมเกษตรกรให้เห็นความสำคัญของ GAP การเชื่อมโยงตลาดโดยใช้กลไกสหกรณ์ รวมทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรกลุ่มแปลงใหญ่พัฒนาการคัดแยกคุณภาพมังคุดเข้าสู่ระบบการประมูลราคา เป็นต้น ซึ่งคาดว่าจะสามารถบริหารจัดการมังคุดได้อย่างเป็นรูปธรรมและทันท่วงที พร้อมทั้งรักษาเสถียรภาพราคามังคุด
กระทรวงเกษตรฯ เตรียมการบริหารจัดการสินค้า “มังคุด” จังหวัดนครศรีธรรมราช 2 แนวทาง ประกอบด้วย 1) ด้านการผลิต มอบหมายให้สำนักงานเกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช ดำเนินการตามแผนบริหารจัดการเชิงคุณภาพ ได้แก่ โครงการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรตามมาตรฐาน GAP โครงการส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ การให้คำแนะนำการเก็บเกี่ยวผลผลิตในระยะที่เหมาะสม และการขนส่งไปยังปลายทาง ให้คำแนะนำการเตรียมพร้อมในฤดูกาลถัดไป เช่น การตัดแต่งกิ่ง การใส่ปุ๋ย ฯลฯ และดำเนินการตามแผนบริหารจัดการเชิงปริมาณ ได้แก่ การติดตามสถานการณ์มังคุดระดับอำเภอ และจังหวัด พร้อมทั้งจัดทำข้อมูลเอกภาพ และแผนบริหารจัดการผลผลิตของจังหวัด สำรวจแปลงพยากรณ์เพื่อประเมินสถานการณ์ผลผลิตไม้ผลระดับอำเภอ 2) ด้านการตลาด จังหวัดนครศรีธรรมราชได้จัดประชุมคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลิตผลทางการเกษตรระดับจังหวัดนครศรีธรรมราช ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2566 โดยมติที่ประชุมเห็นชอบแผนบริหารจัดการ ดังนี้ 1) มาตรการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจับคู่เกษตรกร-ผู้ค้า จังหวัดนครศรีธรรมราชจัดไปเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2566 ภายใต้การเชื่อมโยงเจรจาซื้อขาย “ผลไม้ภาคใต้” ผ่านตลาดข้อตกลงและใช้สัญญาข้อตกลงมาตรฐานของกรมการค้าภายใน ซึ่งผลจากการดำเนินการมีการทำสัญญาซื้อขายมังคุด จำนวน 2,720 ตัน 2) การสนับสนุนกล่องไปรษณีย์พร้อมสติ๊กเกอร์ส่งฟรีให้เกษตรกรจำนวน 10,000 กล่อง (กล่องไปรษณีย์ขนาด 10 กิโลกรัม สามารถลดค่าขนส่งได้ 120 บาทต่อกล่อง) 3) การสนับสนุนกล่องไปรษณีย์พร้อมสติ๊กเกอร์ส่งฟรี โดยโหลดใต้ท้องเครื่องบิน ผ่านสายการบินนกแอร์ แอร์เอเชีย และไลอ้อนแอร์ ใต้ท้องเครื่องบินฟรี สูงสุด 25 กิโลกรัม/1 ท่านผู้โดยสาร (รับกล่องฯ ฟรีที่ท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช) และ 4) ส่งเสริมวิธีการประมูลราคาโดยกลุ่มเกษตรกร เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2566 ติดตามการประมูลมังคุดของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนไม้ผลเพื่อการผลิตบ้านต้นกอ ตำบลร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยในวันที่ประมูลราคาประมูลมังคุดที่กลุ่ม (ผิวมันคละ) 72 บาท/กิโลกรัม ขณะที่ราคารับซื้อมังคุด (เกรดคละไซส์) ในจังหวัดนครศรีธรรมราช 35 – 50 บาท/กิโลกรัม