กรมปศุสัตว์ ร่วม กอ.รมน. คุมเข้มตลอดแนวชายแดนไทย-เมียนมาร์ ป้องกันและปราบปราม การลักลอบนำเข้าโค-กระบือ ลดความเสี่ยงการแพร่กระจายของโรคระบาดสัตว์ หวั่นกระทบตลาดโค-กระบือในประเทศ
นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า กรมปศุสัตว์ ได้ประสานงานกับศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 4 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เพื่อขอความร่วมมือในการกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าโค-กระบือตามแนวชายแดนไทย-เมียนมาร์ ตามที่องค์การสุขภาพสัตว์โลก (WOAH) รายงานว่า พบการระบาดของโรคปากเท้าเปื่อย (Food and Mouth Disease : FMD) ในพื้นที่สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์
ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ ได้ออกประกาศชะลอการนำเข้าโค กระบือ แพะ และแกะ จากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ลงวันที่ 1 มีนาคม 2566 แต่พบว่า ยังมีการลักลอบนำเข้าโค-กระบือและเคลื่อนย้ายสัตว์อย่างผิดกฎหมายในบริเวณพื้นที่แนวชายแดนไทย–เมียนมาร์ ส่งผลให้ประเทศไทยมีความเสี่ยงในการแพร่กระจายของโรคระบาดสัตว์ที่อาจติดมากับ โค-กระบือลักลอบนำเข้าซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ภายในประเทศเป็นวงกว้าง ทั้งยังเป็นการแทรกแซงตลาดโค-กระบือในประเทศซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคา จึงจำเป็นต้องมีมาตรการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าโค-กระบือตามแนวชายแดนไทย-เมียนมาร์อย่างเข้มงวดดังกล่าว
"ได้มอบหมายให้นายบุญญกฤช ปิ่นประสงค์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ พร้อมด้วยนายชุติพนธ์ ศิริมงคลรัตน์ ผู้อำนวยการกองสารวัตรและกักกัน และนายคมสัน รุ่งเรือง นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ ผู้แทนสำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ พร้อมเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ที่เกี่ยวข้องเข้าพบพลโท ภัทราวุฒิ ชุณหะวัณ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 4 กอ.รมน. และคณะผู้บริหาร ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 เพื่อขอความร่วมมือหน่วยงานกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร "
ให้ประสานงานหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแล ให้ดำเนินการร่วมกับปศุสัตว์ในพื้นที่เข้มงวดตรวจสอบการลักลอบนำเข้าสัตว์และซากสัตว์และการเคลื่อนย้ายที่ผิดกฎหมายตามแนวชายแดน ตลอดจนประสานผู้ว่าราชการจังหวัดตามแนวชายแดนไทย-เมียนมาร์ในการออกประกาศเป็นเขตเฝ้าระวังโรคระบาดเพื่อคุมเข้มตามมาตรการป้องกันการลักลอบนำเข้าโค-กระบือตามแนวชายแดน
ทั้งนี้ พลโท ภัทราวุฒิ ชุณหะวัณ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 4 กอ.รมน. พร้อมให้ ความร่วมมือในการวางกำลังพลตามแนวชายแดนเพื่อปฏิบัติภารกิจสนับสนุนภารกิจ รวมทั้งมีข้อสั่งการให้หน่วยงานความมั่นคงตามแนวชายแดนไทย-เมียนมาร์ ดำเนินการร่วมกับเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ โดย กอ.รมน. จะดำเนินการประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัดให้เห็นถึงเหตุผลความจำเป็นในการประกาศเขตเฝ้าระวังโรคระบาดสัตว์ในพื้นที่ร่วมด้วย
นอกจากนี้ ทางกรมปศุสัตว์จะจัดทำคู่มือแนวการปฏิบัติงานระหว่างกรมปศุสัตว์ กอ.รมน. ตำรวจตระเวนชายแดน และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้หน่วยงาน กอ.รมน. แจ้งเวียนให้หน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลทราบ และประชาสัมพันธ์แนวทางการปฏิบัติงานเพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุด อันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้ออกประกาศเพื่อขยายเวลาการชะลอการนำเข้าหรือนำผ่านราชอาณาจักร ซึ่งโค กระบือ หรือซากโค ซากกระบือ จากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เนื่องจากประกาศที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2566 ได้สิ้นสุดการบังคับใช้ในวันที่ 29 พฤษภาคม 2566 แต่ปัจจุบันยังมีรายงานการระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อยในเมียนมาร์อยู่ จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 วรรคหนึ่ง และมาตรา 33 แห่งพ.ร.บ. โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 ออกประกาศไว้เพื่อขยายเวลาการชะลอการนำเข้าหรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งโค กระบือ หรือซากโค ซากกระบือที่มีแหล่งกำเนิดจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ไปอีก 90 วันนับตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม 2566 เป็นต้นไป
สำหรับ การลักลอบนำโค-กระบือ นำเข้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจะมีความผิดตามมาตรา 31 แห่ง พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 และมีบทลงโทษตามมาตรา 68 จำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากประชาชนพบเห็นหรือมีข้อมูลเบาะแสสามารถแจ้งผ่าน Application: DLD 4.0 ได้ตลอดเวลา