นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า จากกระแสข่าวที่มีการให้งดปลูกข้าวพันธุ์ กข95 (ดกเจ้าพระยา) และกข85 (เบา อายุสั้น) เนื่องจากเป็นข้าวคุณภาพต่ำ ไม่เป็นที่ต้องการของตลาดนั้น จากประเด็นดังกล่าวอันที่จริงแล้วข้าวพันธุ์ กข95 (ดกเจ้าพระยา) จากการวิจัยพบว่าเป็นพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพการสีดีมาก ท้องไข่น้อย นอกจากนั้นยังให้ผลผลิตเฉลี่ย 885 กก./ไร่ มีศักยภาพการให้ผลผลิตสูงสุดถึง 1,213 กก./ไร่ ซึ่งจากประเด็นดังกล่าวยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเกษตรกรที่นำข้าวพันธุ์ กข95 (ดกเจ้าพระยา) ไปปลูกขายให้โรงสีนั้นแท้จริงแล้วใช่พันธุ์แท้หรือไม่ ในส่วนของข้าวพันธุ์ กข85 นั้นมีลักษณะทั่วไป คือ เป็นข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสง ปลูกได้ทั้งนาปี และนาปรัง ความสูง 104 เซนติเมตร กอตั้ง ลำต้นแข็ง ใบสีเขียวเข้ม ใบธงตั้ง อายุเก็บเกี่ยว 115-120 วัน ผลผลิต 862 กิโลกรัมต่อไร่เมล็ดเรียวยาว ข้าวเปลือกสีฟาง เมล็ดข้าวกล้องยาว 8.0 มิลลิเมตร ปริมาณอมิโลส 27-28 เปอร์เซ็นต์ มีลักษณะเด่น คือ ให้ผลผลิตสูง ค่อนข้างต้านทานต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและโรคไหม้ ทนต่อสภาพอากาศเย็น คุณภาพการสีดีมาก ท้องไข่น้อย
อธิบดีกรมการข้าว กล่าวต่อไปว่า กรมการข้าวได้มอบหมายให้ นางสาวชวนชม ดีรัศมี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก อีกทั้งยังถือเป็นผู้วิจัยข้าวพันธุ์ กข85 และกข95 (ดกเจ้าพระยา) ลงพื้นที่พบโรงสี ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อทำความเข้าใจ สร้างการรับรู้ ถึงข้อมูลลักษณะประจำพันธุ์ของข้าว กข95 (ดกเจ้าพระยา) และฝากให้ทางโรงสีช่วยประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ชาวนาที่เข้ามาใช้บริการ
“จากการพูดคุยกับทางโรงสี พบว่า โรงสีเองก็ยังไม่เคยเห็น กข95 (ดกเจ้าพระยา) ที่เป็นพันธุ์แท้ ทำให้เวลาเกษตรกรนำข้าวมาขายก็เลยคิดว่าเป็นพันธุ์กข95 (ดกเจ้าพระยา) ส่งผลให้เกิดความเข้าใจผิดตามมา ซึ่งแท้จริงแล้วพันธุ์ที่เกษตรกรนำมาขาย ไม่ใช่พันธุ์แท้ จึงมีลักษณะประจำพันธุ์ที่ไม่ได้คุณภาพ ตามมาตรฐานของกรมการข้าวที่ได้รับรองไว้” อธิบดีกรมการข้าว กล่าว