ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คอลัมนิสต์ประจำอปท.นิวส์ ย้อนกลับ
ป่าชายเลนผืนสุดท้าย
07 ต.ค. 2564

CSRcontent : โดย มนวิภา จูภิบาล กรรมการบริษัท วีอาร์ทวินส์ จำกัด

ป่าชายเลนผืนสุดท้าย

ขึ้นชื่อว่า ผืนสุดท้าย ชิ้นสุดท้าย ก็มักจะมีค่าให้เก็บ ให้รักษา ให้หวงแหนมากขึ้น ป่าชายเลน (Mangroves forest) ของไทยก็เช่นกัน มีการรณรงค์เน้นย้ำคำว่า ป่าชายเลนผืนสุดท้ายในพื้นที่ต่างๆ เพื่อสร้างการตระหนักรู้และกระตุ้นจิตสำนึกในการอนุรักษ์ป่าชายเลนที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศเป็นอย่างมาก เช่น ป่าชายเลนพระเจดีย์กลางน้ำผืนสุดท้ายในเมืองระยอง ป่าชายเลนคลองบางลาผืนสุดท้ายของภูเก็ต พื้นที่ป่าคลองตำหรุป่าชายเลนผืนสุดท้ายแห่งเมืองชล และป่าชายเลนผืนสุดท้ายที่เกาะนก บางปะกง

ป่าชายเลนเป็นสังคมพืชที่ประกอบไปด้วยพันธุ์ไม้หลากหลายชนิด ขึ้นอยู่ตามบริเวณชายฝั่งทะเล ปากแม่น้ำ อ่าว และตามเกาะต่างๆ ที่มีระดับน้ำทะเลท่วมถึง มีกระแสน้ำขึ้นลงอยู่เสมอ และมีลมพัดแรง มีพันธุ์ไม้สกุลโกงกางเป็นไม้สำคัญ พันธุ์ไม้ในป่าชายเลนจะเจริญเติบโตแตกต่างจากชนิดอื่นๆ และมีการปรับตัวให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม เช่น มีรากค้ำยัน และรากหายใจ มีใบอวบน้ำ มีต่อมสำหรับขับเกลือ เซลล์ผิวใบมีผนังหนาเป็นมัน สามารถขยายพันธุ์โดยใช้ทั้งเมล็ด ผล หรือฝัก เมื่อหลุดจากต้นจะฝังลงในเลนและจะงอกอย่างรวดเร็ว ต้นอ่อน ลอยน้ำได้ ช่วยในการแพร่พันธุ์เป็นอย่างดี 

ป่าชายเลนมีประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อมนุษย์ เป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่สำคัญ เนื่องจากป่าชายเลนเป็นแหล่งเพาะและขยายพันธุ์สัตว์น้ำสารพัดชนิด อาทิ ปูก้ามดาบ ปูแสม กุ้งแชบ๊วย กุ้งกุลาดา ปลากะพงขาว หอยแครง และนก ต้นไม้ในป่าชายเลนเป็นไม้เนื้อแข็ง จึงสามารถนำมาทำเป็นเสาเข็ม ไม้ค้ำยัน เครื่องมือด้านประมง ทำเป็นไม้ฟืน เผาเป็นถ่าน หรือเป็นยารักษาโรค

ป่าชายเลนยังทำหน้าที่เสมือนเขื่อนช่วยป้องกันคลื่นจากทะเล ช่วยลดความรุนแรงของพายุ ช่วยดักตะกอน คราบน้ำมัน สิ่งปฏิกูล และสารพิษ ไม่ให้ไหลลงไปในทะเล ช่วยบรรเทาความเร็วของกระแสน้ำป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งและทำให้ดินตะกอนที่ถูกพัดพามาตกตะกอนทับถมเกิดแผ่นดินงอกขึ้น รวมถึงเป็นแหล่งศึกษาหาความรู้และที่พักผ่อนหย่อนใจ แม้ว่าป่าชายเลนจะมีคุณค่ามหาศาลเพียงไร แต่ปัญหาการทำลายป่าชายเลนก็ยังมีอยู่ เช่น การลักลอบตัดไม้ การทำประมง การทำนากุ้ง การทำเหมืองแร่ การเกษตร การสร้างท่าเทียบเรือ การสร้างถนน การทำอุตสาหกรรม การทำนาเกลือ และการเพิ่มขึ้นของประชากรที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของป่าชายเลน

                รัฐบาลไทย ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของป่าชายเลน และได้วางนโยบายเกี่ยวกับการจัดการป่าชายเลนไว้อย่างชัดเจน เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 คณะรัฐมนตรีมีมติ ให้วันที่ 10 พฤษภาคม ของทุกปี เป็น วันป่าชายเลนแห่งชาติ”  สืบเนื่องจากวันที่  10 พฤษภาคม 2534  เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงมีพระราชดำรัสเป็นประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับป่าชายเลนเป็นครั้งแรก และส่งผลให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันอนุรักษ์ป่าชายเลนมาอย่างต่อเนื่อง ภาพการทำ CSR เพื่อฟื้นฟูป่าชายเลนในประเทศไทยได้พบเห็นกันอยู่บ่อยครั้งตลอดปี 

ป่าชายเลนผืนสุดท้ายในเมืองระยอง ป่าชายเลนพระเจดีย์กลางน้ำ ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองระยอง เมืองที่ผสมผสานระหว่างอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม มีพื้นที่ 500 ไร่ เทศบาลนครระยอง กลุ่มอนุรักษ์แม่น้ำระยองและป่าชายเลน และบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) เห็นความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องอนุรักษ์ป่าผืนนี้ไว้ จึงได้ร่วมกันทำโครงการ หอชมวิวเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าอยู่หัว ศูนย์การเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนพระเจดีย์กลางน้ำ เพื่อให้เป็นแลนด์มาร์คและเป็นที่ท่องเที่ยวศึกษาหาความรู้อันจะสามารถป้องกันการบุกรุกป่าชายเลนได้ ขณะเดียวกันก็สร้างความหวงแหนให้กับประชาชน เพื่อให้ช่วยกันอนุรักษ์ต่อไป หอชมวิวเฉลิมพระเกียรติสร้างติดกับแม่น้ำระยอง จากชั้นบนสุดด้านหนึ่งจะเห็นยอดไม้เขียวชะอุ่มของป่าชายเลน อีกด้านหนึ่งเห็นวิวทะเล ชุมชนริมชายฝั่ง และบริเวณปากแม่น้ำ มีพิธีเปิดในปี 2555

ป่าชายเลนผืนสุดท้ายของภูเก็ต ป่าชายเลนคลองบางลา ตั้งอยู่ในอำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเลนคลองท่าเรือ ที่ถูกบุกรุกมาโดยตลอดจากความต้องการที่ดินราคาสูงในเกาะภูเก็ต ป่าถูกเปลี่ยนเป็นนากุ้งมากขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายชาวบ้านบางลาทนไม่ไหว ลุกขึ้นมาปกป้องผืนป่าแห่งนี้ด้วยตัวเอง และประกาศให้เป็นป่าชุมชน สามารถรักษาป่าชายเลนไว้ได้ 1,200 ไร่ ชาวบ้านบางลาต้องต่อสู้ทางกฎหมายตั้งแต่ปี 2536 ยืดเยื้อกว่า 20 ปีจนกระทั่งเป็นฝ่ายชนะคดีในปี 2558 ชาวบ้านบางลาส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม ได้ตั้งกฎในการรักษาป่าชุมชนอย่างเข็มแข็ง  หากใครทำผิดกฎ นอกจากจะถูกปรับแล้ว ผู้นั้นจะไม่มีสิทธิใช้ป่าชายเลนอีกต่อไป 

ป่าชายเลนผืนนี้ เป็นทั้งฐานทรัพยากรอาหารและเป็นปอดใบใหญ่ของชุมชน อีกทั้งช่วงที่เกิดสึนามิป่ายังช่วยป้องกันคลื่นลมได้เป็นอย่างดี ภารกิจการต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิชุมชนและการอนุรักษ์ป่าชายเลนนี้ ถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นด้วยระบบ จิตอาสา ที่เรียกว่า มนุษย์ทองคำ 

ป่าชายเลนแห่งสุดท้ายของเมืองชล พื้นที่ป่าคลองตำหรุ เขตอำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี แต่เดิมเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ กระทั่งการรุกคืบของความเจริญทำให้พื้นที่มีทั้งนิคมอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้า จนพื้นที่ป่าชายเลนลดลงอย่างน่าใจหาย ความพยายามในการรักษาและฟื้นฟูป่าชายเลนของชุมชนเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2538 ด้วยการเจรจาขอคืนพื้นที่ป่าชายเลนกับเจ้าของบ่อกุ้งที่ไม่รู้ว่าตนเองบุกรุก กระทั่งได้พื้นที่กลับคืนมากว่า 450 ไร่ จากนั้นได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนในการผลิกฟื้นผืนป่าที่อยู่ในสภาวะเสื่อมโทรมจากบ่อกุ้ง ชาวบ้านต้องใช้ความพยายามทั้งปลูกป่าทดแทนและปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำอย่างต่อเนื่อง ลด ละ เลิก การใช้สารเคมีในบ่อกุ้ง เพื่อให้แหล่งน้ำธรรมชาติกลับมาอุดมสมบูรณ์ดังเดิม ต่อมามีโครงการ “การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์พัฒนาอาชีพและฟื้นฟูป่าชายเลน” เกิดขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงคุณค่าของระบบนิเวศป่าชายเลน ความสัมพันธ์ของคน ป่าและสัตว์ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความรักความหวงแหนป่าในที่สุด

ป่าชายเลนผืนสุดท้ายที่เกาะนก บางปะกง

เกาะนก ตั้งอยู่กลางปากแม่น้ำบางปะกง ตำบลท่าข้าม จังหวัดฉะเชิงเทรา มีพื้นที่ 125 ไร่ สถานะของเกาะต้องการให้เป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ทำให้ไม่มีผู้อยู่อาศัย จึงมีระบบนิเวศป่าชายเลนที่มีความอุดมสมบูรณ์มากแห่งหนึ่งของไทย เต็มไปด้วยพันธุ์ไม้และสัตว์ป่าชายเลน รวมทั้งเป็นแหล่งที่นกอาศัยอยู่รวมกันหลากหลายกว่า 50 สายพันธุ์ เป็นนกประจำถิ่นและนกอพยพมาในช่วงฤดูหนาวจากไซบีเรีย อาทิ นกกาน้ำปากยาว นกแขวก นกเอี้ยงด่าง นกยางโทนใหญ่ สำหรับนกที่พบเป็นช่วงฤดูกาล เช่น นกกระทุง นกกระจิ๊ดสีคล้ำ นกกระจิ๊ดสีเนื้อ เป็นต้น สัตว์น้ำ จำพวกกุ้ง หอย ปู ปลา มาตามกระแสน้ำขึ้นน้ำลงเข้ามาตามคลองซอยเล็กๆ และพบปูก้ามดาบหลายสี เช่น สีส้ม สีฟ้า สีน้ำตาล รวมถึงปูทะเล นอกจากนี้ในช่วงต้นฤดูหนาวของทุกปี จะพบโลมาเข้ามาหากินปลาดุกทะเล พบมากที่สุดคือโลมาอิรวดีที่ชอบอาศัยตามชายฝั่งน้ำตื้น เทศบาลตำบลท่าข้าม ร่วมกับชาวบ้าน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ช่วยกันดูแลเกาะแห่งนี้ ให้คงความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติสืบไป

การฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าชายเลนซักผืน ต้องต่อสู้ อดทน เรียนรู้ สืบทอด และใช้ระยะเวลาต่อเนื่องยาวนาน เราจะไม่เพิกเฉยละเลยจนต้องทำ CSR โครงการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าชายเลนผืนสุดท้ายของไทย

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...