ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
พลังงาน / สิ่งแวดล้อม ย้อนกลับ
ปลัด ทส. สั่งคุมเข้ม PM 2.5 และจุดความร้อน จ.แม่ฮ่องสอน และตาก บรรเทาสถานการณ์หมอกควันภาคเหนือ
09 มี.ค. 2564
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สั่งการให้ทุกหน่วยงานในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ โดยเฉพาะ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำปาง และตาก คุมเข้มมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน และจ.ตาก ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีจุดความร้อนเกิดขึ้นสูง ผ่านการประชุม VDO Conference ร่วมกับหน่วยราชการสังกัดกระทรวงฯ ในพื้นที่
จากสถานการณ์จุดความร้อน จากดาวเทียม Suomi NPP ระบบ VIIRS บันทึกข้อมูลเมื่อวันที่ 7 มีค. 2564 โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) : GISTDA พบว่าในอนุภูมิภาคแม่โขง พบจุดความร้อนมากที่สุดในประเทศเมียนมา 6,029 จุด ประเทศไทย 1,817 จุด และประเทศกัมพูชา 1,729 จุด ตามลำดับ สำหรับ 17 จังหวัดภาคเหนือ พบจุดความร้อนรวม รวม 1,505 จุด พบมากที่สุด จังหวัดแม่ฮ่องสอน 418 จุด ลำปาง 291 จุด และเชียงใหม่ 219 จุด และจากข้อมูลจุดความร้อนสะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 7 มีนาคม 2564 พบจุดความร้อนรวม 40,669 จุด ซึ่งเมื่อวิเคราะห์ตามการใช้ประโยชน์ที่ดิน พบจุดความร้อนในป่าอนุรักษ์ 16,564 จุด ป่าสงวนแห่งชาติ 15,646 จุด พื้นที่เกษตร 6,672 จุด พื้นที่ชุมชน 1,656 จุด และพื้นที่ริมทาง 131 จุด ตามลำดับ
นายจตุพร จึงได้สั่งการให้ระดมสรรพกำลังเจ้าหน้าที่ทั้งจากกรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เข้าในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน อย่างเร่งด่วน เพื่อประสานกำลังในการลาดตระเวนร่วมกับเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานปกครอง และกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ เพื่อลาดตระเวนเฝ้าระวังและแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที รวมถึงระดมอุปกรณ์เครื่องมือ ยานพาหนะ และอากาศยาน จากทั้งในและนอกพื้นที่มาสนับสนุนการเผชิญเหตุเพื่อเร่งควบคุมและดับไฟโดยเร็ว โดยเฉพาะในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ลำปาง และเชียงใหม่ ได้นำเฮลิคอปเตอร์ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ในการบินโปรยน้ำดับไฟในพื้นที่ป่า นอกจากนี้ในหลายจังหวัดได้มีการประกาศห้ามเผาโดยเด็ดขาดจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2564 พร้อมกับดำเนินมาตรการในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน หน่วยงานทหาร ตำรวจ อาสาสมัคร จิตอาสา และประชาชน ในการลาดตระเวนเฝ้าระวังและป้องปรามการเผาและร่วมดับไฟในพื้นที่ พร้อมทั้งได้มีการประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมืองดเผาในที่โล่งทุกกรณี และบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่ฝ่าฝืนอย่างเข้มงวด รวมถึงได้มอบหมายให้ กรมควบคุมมลพิษ เฝ้าระวังผลกระทบจากหมอกควันข้ามแดน ที่มีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อ จังหวัดตาก แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และเชียงราย และจะเร่งประสานไปยังสำนักงานเลขาธิการอาเซียนเพื่อขอความร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้านในการลดและควบคุมการเผาในที่โล่ง
นอกจากนี้ ยังพบว่า สถานการณ์จุดความร้อนในพื้นที่เฝ้าระวัง อย่างเช่น ดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ และดอยพระบาท จ.ลำปาง ยังไม่พบรายงานการเกิดปัญหาในพื้นที่ดังกล่าวในปีนี้ ซึ่งถือได้ว่ามีการดำเนินการตามมาตรการเฝ้าระวังที่ทางกระทรวงฯ ได้ดำเนินการร่วมกับแต่ละจังหวัดอย่างเข้มข้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี ประกอบกับในปีนี้ กระทรวงฯ มีนโยบายชิงเก็บ เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนในพื้นที่ป่ามีการบริหารจัดการเชื้อเพลิงและเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ เพื่อรวมรวบเชื้อเพลิง อาทิ เศษใบไม้แห้งออกจากพื้นที่ เพื่อทำไปอัดแท่งสำหรับทำเชื้อเพลิงต่อไป โดยมีเป้าหมายนำเชื้อเพลิงออกจากพื้นที่ให้ได้จังหวัดละ 100 ตัน ซึ่งจากการดำเนินงานล่าสุดของกรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ภาคเหนือ สามารถบริหารจัดการเชื้อเพลิงออกจากพื้นที่ได้เกินกว่าเป้าหมายแล้วในทุกพื้นที่
สำหรับสถานการณ์ฝุ่นละออง ผลการตรวจวัด PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ ในวันที่ 8 มีนาคม 2564 ณ เวลา 12.00 น. ตรวจวัดได้ 24 - 329 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยพบค่าสูงเกินเกณฑ์มาตรฐานรวม 13 พื้นที่ และพบค่าสูงสุดที่ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตรวจวัดได้ 329 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และเมื่อวิเคราะห์สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 8 มีนาคม 2564 พบว่ามีจำนวนวันที่ฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน 64 วัน และมีค่าสูงสุด 325 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งพบที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน
ปลัดกระทรวงฯ จึงได้สั่งการให้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำปาง เชียงราย พะเยา และตาก ประสานกับผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัดดำเนินการตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองอย่างเข้มงวดต่อไป เพื่อเฝ้าระวังและป้องกันแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในพื้นที่อย่างเข้มงวดต่อไป รวมถึงเพิ่มแผนปฏิบัติการเฝ้าระวังสถานการณ์ฝุ่นละอองในพื้นที่เมือง เช่น การเข้มงวดการตรวจควันดำรถยนต์ เพื่อลดการซ้ำเติมปัญหาหมอกควันและฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือด้วย และขอให้แต่ละจังหวัดเพิ่มเติมการชี้แจงทำความเข้าใจและให้ข้อมูลแก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนสามารถปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพได้อย่างเท่าทันต่อสถานการณ์
ในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีการรายงานข่าวว่า เป็นเมืองมลพิษลำดับ 3 ของโลก พบว่า ค่าคุณภาพอากาศของ จ.เชียงใหม่ มีค่าสูงทั้งที่เป็นพื้นที่ที่มีค่าจุดความร้อนไม่มาก เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศของ จ.เชียงใหม่ที่มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ ทำให้เอื้อต่อการสะสมของมลพิษทางอากาศ ประกอบกับมีจุดกำเนิดความร้อนจำนวนมากจากพื้นที่โดยรอบที่เป็นพื้นที่ต้นลม ทั้งจากประเทศเพื่อนบ้าน จ.แม่ฮ่องสอน และจ.ตาก ทำให้กระแสลมตะวันตกเฉียงเหนือและลมตะวันตกเฉียงใต้ พัดพาฝุ่นละอองมาสะสมยังบริเวณ จ.เชียงใหม่ รวมถึงปัจจัยสภาพอากาศในเวลากลางคืน ที่มีการระบายอากาศในแนวดิ่งได้ไม่ดีนัก ทำให้เกิดการสะสมฝุ่นละออง
นายจตุพร จึงได้เร่งสั่งการให้พื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน และจ.ตาก เป็นพื้นที่เสี่ยงที่ต้องมีการเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมถึงเร่งระดับสรรพกำลังเข้าป้องกันและแก้ไขปัญหาในพื้นที่อย่างเร่งด่วน เพื่อช่วยควบคุมสถานการณ์ปัญหาให้กับ จ.เชียงใหม่ ตั้งแต่ต้นทาง นอกจากนี้ ยังขอให้แต่ละพื้นที่บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดกับผู้ลักลอบเผาป่า ซึ่งผู้ที่กระทำผิดจะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 4 ปี ถึง 20 ปี และมีโทษปรับตั้งแต่ 4 แสนบาทถึง 2 ล้านบาท หรือมีโทษทั้งจำทั้งปรับ และฝากไปถึงพี่น้องประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ในช่วงวันที่ 8 – 10 มีนาคม 2564 พื้นที่ภาคเหนือตอนบน ยังต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายสภาพอากาศมีความเร็วลมต่ำ ฝุ่นละอองสะสมได้มากขึ้น ประกอบกับยังคงพบจุดความร้อนจำนวนมาก และลมตะวันตกเฉียงใต้มีแนวโน้มพัดฝุ่นละอองเข้ามาสะสมเพิ่มเติม จึงยังคงขอให้ประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง และเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุข พร้อมทั้งปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ โดยสวมใส่หน้ากากอนามัยและอุปกรณ์ป้องกันตัวเอง เมื่อออกนอกบ้าน โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง ผู้ป่วย เด็ก ผู้สูงอายุ และสตรีมีครรภ์
หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...