ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
อปท.เชิญเป็นแขก ย้อนกลับ
รศ.นพ.มนูธรรม มานวธงชัย รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
15 ก.พ. 2564

            กรุงเทพมหานคร หรือ กทม. เป็นองค์กรการปกครองท้องถิ่นที่ถูกตราขึ้นในรูปแบบพิเศษ และนับเป็นองค์กรที่มีขอบเขตการบริหารขนาดใหญ่ จากการที่เป็นอาณาเขตเมืองหลวงของประเทศ มีประชากรอาศัยอยู่เกือบ 6 ล้านคนในปัจจุบน เป็นศูนย์กลางการปกครอง การศึกษา การคมนาคมขนส่ง การเงินการธนาคาร การพาณิชย์ การสื่อสาร และความเจริญของประเทศ

                อย่างไรก็ตาม หลายคนคงทราบกันดีว่า ด้านการส่งเสริมการศึกษานั้น กทม.เองก็มีโรงเรียนในสังกัด กทม. อยู่มากถึงกว่า 400 แห่ง บริหารโดยสำนักการศึกษา กทม. แต่หลายคนก็อาจจะยังไม่รู้ว่า กทม.เองก็มีมหาวิทยาลัยในสังกัดของ กทม.ด้วย ชื่อว่า “มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช”ซึ่งก็ได้ก่อกำเนิดขึ้นมาจาก “มหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร” เดิม และภายหลังการโอนภารกิจและงบประมาณของวิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล และวิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์ ในสังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ไปเป็นของมหาวิทยาลัยฯ แล้ว ต่อมาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามมหาวิทยาลัยว่า "มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช" เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2554 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2556

โดยในระยะเริ่มแรกมี 2 คณะ คือคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาลและคณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์ และมีภารกิจหลักคือ การผลิตบัณฑิตที่มีความรู้และประสบการณ์จริง เพื่อ “สร้างคนเพื่อเมือง” ในระดับปริญญาตรี โท และประกาศนียบัตร โดยปัจจุบัน มีคณะ/วิทยาลัย ประกอบด้วย คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล, คณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์ วิทยาลัยพัฒนามหานคร, วิทยาลัยพัฒนาชุมชนเมือง, คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสุขภาพ ซึ่งจากอดีตถึงปัจจุบัน มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชแห่งนี้ ได้ผลิตบุคลากรที่ได้เข้ามาช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคมออกมาแล้วอย่างมากมาย

และแน่นอนว่า การคัดเลือกบุคคลที่จะเข้ามาช่วยบริหารงานในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ย่อมต้องได้บุคคลที่มีคุณภาพอย่างไม่ต้องสงสัย โดยเฉพาะล่าสุดเมื่อชื่อของรศ.นพ.มนูธรรม มานวธงชัยรองคณบดีคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ได้รับการแต่งตั้งให้เข้าปฏิบัติหน้าที่ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา

                และ อปท.นิวส์เชิญเป็นแขกฉบับนี้ ก็ได้รับเกียรติ“รศ.นพ.มนูธรรม มานวธงชัย” ให้เข้าร่วมพูดคุยด้วย โดย รศ.นพ.มนูธรรม เริ่มเเล่าให้ฟังอย่างเป็นกันเองว่าตัวท่านจบการศึกาในระดับประถมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนอัมพรไพศาล และในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3จากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี จากนั้นก็มาเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ขณะที่ก็ได้มีโอกาสอบเทียบเข้ามาเรียนต่อที่คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล

อย่างไรก็ตาม หลังเรียนจบก็ไปใช้ทุนที่โรงพยาบาลขอนแก่นแล้วก็เข้าเรียนเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านกุมารเวชศาสตร์ ได้วุฒิบัตรกุมารเวชศาสตร์จากแพทยสภา และก็มาเรียนต่อทางด้านกุมารเวชศาสตร์ระบบทางเดินหายใจที่โรงพยาบาลรามาธิบดี และก็ไปต่อผู้เชี่ยวชาญทางด้านเวชบำบัดวิกฤติในเด็กที่ประเทศแคนาดา 2 ปี

“พอเรียนจบก็มาอยู่ที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาล ในภาควิชากุมารเวชศาสตร์ ของคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาลเลยตั้งแต่ปี 2543 อยู่จนได้เป็นนายแพทย์ซี 9 และก็ได้มาเป็นนายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หัวหน้าภาควิชาพยาธิวิทยาศาสตร์คลินิก และก็ไปสอบผู้เชี่ยวชาญพยาธิวิทยาศาสตร์คลินิกได้”รศ.นพ.มนูธรรม กล่าวกับ อปท.นิวส์ พร้อมกับเปิดเผยต่อไปว่า

หลังจากนั้นสักประมาณ 5-6 ปีที่แล้ว ซึ่งตอนนั้นเกิดมีการสรรหาคณบดีคณะแพทยศาสตร์ วชิรพยาบาล เป็นครั้งแรก ก็ขยับจากหัวหน้าภาควิชามาเป็นผู้ช่วยคณบดีฯ ก่อน แล้วก็มาเป็นรองผู้อำนายการโรงพยาบาลวชิรพยาบาล แล้วก็มาเป็นรองคณบดีของคณะแพทยศาสตร์ วชิรพยาบาล แล้วก็กลับมาเป็นรองอธิการมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช

“ด้านการทำงานก็ต้องบอกว่าทำงานอย่างเต็มที่เนื่องจากโรงพยาบาลวชิรพยาบาลยังไม่สมบูรณ์เหมือนคณะแพทย์อื่นๆ ประกอบกับมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชเพิ่งมีขึ้นมาได้เกือบ 10 ปีเท่านั้นเอง ก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้น แล้วทีนี้คณะแพทยศาสตร์ วชิรพยาบาลก็เพิ่งก่อร่างสร้างตัวตามโครงสร้างของมหาวิทยาลัย ก็เลยต้องทำงานมากในด้านของการศึกษา”

รศ.นพ.มนูธรรมได้เล่าให้ฟังถึงชีวิตช่วงวัยเด็กด้วยว่า อย่างที่บอกไปว่า เป็นคนเรียนหนังสือมาก เรียนจบอันนี้ต่ออันนั้น เพราะชอบเรียน เน้นเรียนเป็นหลัก จะมีบ้างบางครั้งที่ทำกิจกรรมแต่ด้วยความที่เป็นคนชอบเรียน บอกว่าเป็นเด็กเรียนเลยก็ว่าได้ก็เลยมุ่งสนใจที่จะเรียนมากกว่า

ส่วนนิสัยใจคอ รศ.นพ.มนูธรรม บอกว่า เป็นคนตรงไปตรงมา พูดตรง เป็นคนไม่คิดเล็กคิดน้อย เป็นคนร่าเริงสบายๆ เพราะถือทัศนคติที่ว่าต้องมองคนอื่นในแง่ดี มองโลกในเชิงบวกและมองทุกคนว่ามีศักยภาพที่ดี ใครทำอะไรในเชิงลบมาก็จะให้อภัยมากกว่าและควรหันไปมองส่วนดีของเขาแทน ซึ่งมองว่าการคิดแบบนี้สามารถนำมาใช้ได้ดีทั้งในเรื่องของการทำงานและการใช้ชีวิต

รศ.นพ.มนูธรรม ยังได้เล่าถึงกิจกรรมยามว่างที่ชอบทำด้วยว่า หลักๆตอนนี้เลี้ยงลูก (หัวเราะ) เนื่องจากแต่งงานช้า แต่งตอนอายุ 40 ตอนนี้ 49 มีลูกก็ 2 คนและลูกก็ยังเล็กอยู่จึงต้องดูแลเอาใจใส่อย่างมาก โดยเฉพาะคนโตอยู่ในช่วงวัยกำลังซนเลย ส่วนคนเล็กก็ฉลาดสมวัยซึ่งวางแผนเอาไว้ว่าช่วงเด็กจะให้เรียนโรงเรียนนานาชาติ พอโตมาสักประมาณประถม1-4ก็จะให้ไปเรียนโรงเรียนไทยอิงลิชโปรแกรม และสักประมาณประถมฯ4-5 ก็จะกลับมาเรียนที่นานาชาติต่อ เพื่อให้ได้ภาษาไทยในการเรียนการสอนระหว่างที่เรียนโรงเรียนไทยแบบอิงลิชโปรแกรมด้วย

“แต่ทั้งนี้ก็ต้องถามเจ้าตัวเองด้วย รวมถึงต้องถามคุณแม่ของเด็กๆก่อนด้วยเช่นกัน (ยิ้ม) ซึ่งเวลาว่าง ณ ตอนนี้ก็ให้ครอบครัวหมด ชีวิตก็เรียบง่าย สบายๆ สอนลูกๆทำการบ้าน มีเวลาบ้างก็ไปเยี่ยมปู่ย่าตายายกันนอกจากนี้ก็อาจจะพาลูกๆไปทำกิจกรรมที่เขาอยากทำบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการออกค่าย กิจกรรมวาดรูประบายสี ก็ถือว่าเป็นการทำกิจกรรมร่วมกันของครอบครัว เพียงเท่านี้ในแต่ละวันก็มีความสุขแล้ว”รศ.นพ.มนูธรรม กล่าวด้วยรอบยิ้มแย้มแจ่มใสในท้ายสุด

 

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...