ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
อปท.เชิญเป็นแขก ย้อนกลับ
ซูการ์โนมะทา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.ยะลา เขต 2 พรรคประชาชาติ ประธานคณะกรรมาธิการ กระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่นฯ สภาผู้แทนราษฎร
29 ม.ค. 2564

ณ ห้วงเวลานี้ ต้องยอมรับว่า คนท้องถิ่นทั่วประเทศกำลังอยู่ในบรรยากาศความคึกคักเป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่เพียงแต่จะได้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ไปแล้วเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา แต่ในอีกไม่ช้า คือวันที่ 28 มีนาคม 2564 ห่างกันแค่เพียง 3 เดือน การเลือกตั้งในระดับเทศบาลก็กำลังจะเกิดขึ้นตามมา และก็น่าจะต่อเนื่องไปสู่การเลือกตั้ง องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และการปกครองในรูปแบบพิเศษ คือ กทม.และพัทยา ในระยะทิ่งช่วงห่างพอๆ กัน นั่นก็หมายความว่า การกระจายอำนาจไปสู่มือประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ

ดังเช่น สภาผู้แทนราษฎร กำหนดให้มี “คณะกรรมาธิการการ (กมธ.) กระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่นและการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ สภาผู้แทนราษฎร” เกิดขึ้น และก็ดูจะโดดเด่นอยู่มิใช่น้อยเมื่อบุคคลที่มานั่งในตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการชุดดังกล่าวนี้คือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)  .... สมัย จากจังหวัดยะลาที่ชื่อ “ซูการ์โน มะทา”สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.ยะลา เขต 2 พรรคประชาชาติโดยคอลัมน์ อปท.นิวส์เชิญเป็นแขกฉบับนี้ ได้รับเกียรติให้ร่วมพูดคุยด้วย

ส.ส.ซูการ์โน เริ่มเล่าให้ฟังว่า ตัวเขามีดีกรีการศึกษาประกาศนียบัตรการศึกษาชั้นสูง (ป.กศ.สูง) จากวิทยาลัยครูเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ ระดับปริญญาตรี ครุศาสตรบัณฑิต สาขาพลศึกษา จากวิทยาลัยครูยะลา และระดับปริญญาโทสาขาพัฒนาสังคม จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์และได้จบการอบรมจากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรและการอบรมจากสถาบันพระปกเกล้า

ครอบครัวถือว่าเป็นครอบครัวทางการเมือง โดยเริ่มต้นที่คุณพ่อก็เข้าสู่สนามการเมืองโดยลงเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2500 ในนามของพรรคประชาธิปัตย์ หลังจากนั้นอีก 22 ปีอาจารย์วันมูหะมัดนอร์ มะทาซึ่งเป็นพี่ชายคนโตก็ตัดสินใจลาออกจากราชการ ที่ตอนนั้นเป็นถึงรองอธิการวิทยาลัยครูสงขลามาลงเข้าสู่สนามการเมือง โดยลงเลือกตั้งครั้งแรกที่จังหวัดยะลา ซึ่งผลก็ออกมาชนะการเลือกตั้งได้เป็น ส.ส.ครั้งแรก ซึ่งตัวเขาเอก็ยังเรียนไม่จบแต่ก็ได้มีโอกาสติดตามมายังรัฐสภาเพื่อช่วยงานอยู่บ่อยครั้ง

และนั่นก็ทำให้มีความคิดว่าการเมืองน่าจะเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของเขาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็เลยพยายามศึกษาเรียนรู้การเมืองกับพี่ชายมาอย่างต่อเนื่องนับแต่นั้นมาซึ่งตลอดเวลาก็จะมีพี่ชายคนโตเป็นต้นแบบของการทำงาน จนกระทั่งจบปริญญาตรี จากนั้นก็มาเป็นผู้ช่วยผู้ดำเนินงานของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสมัยที่พี่ชายเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร

“ตอนนั้นก็เริ่มทำงานที่เกี่ยวข้องกับการเมืองเป็นต้นมา อย่างการเป็นผู้ช่วย ส.ส.ก็ติดตามเรียนรู้ดูการทำงานมาโดยตลอด เบ็ดเสร็จแล้วก็อยู่กับการเรียนรู้การเมืองประมาณ 20 ปีได้ หลังจากนั้นก็ได้รับโอกาสให้มาเล่นการเมืองระดับท้องถิ่นเมื่อปี 2542 ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด และก็ลงสมัครในพื้นที่บ้านเกิด ด้วยการตั้งทีมในเขตอำเภอรามันก็ชนะยกทีม”ประธานฯ ซูการ์โน กล่าว พร้อมกับเปิดเผยต่อไปว่า

ได้นั่งทำงานในฝ่ายของนิติบัญญัติของท้องถิ่นในสภาจังหวัดอยู่ประมาณ 2 ปี ผู้บริหารก็ให้โอกาสมานั่งเป็นรองนายกฯคนที่หนึ่งขององค์การบริหารส่วนจังหวัดที่มาดูแลรับผิดชอบกองคลังและกองช่าง โดยทำงานในส่วนตรงนี้อีก 6ปี ได้ใช้บทบาทของการเป็นรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแก้ปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนได้หลายเรื่อง โดยเรื่องใหญ่ๆก็คือปัญหาภูเขาถล่มจากฝนที่ตกหนักที่บันนังสตาซึ่งเมื่อเข้าดูก็เห็นว่า เป็นเรื่องที่เกินศักยภาพของท้องถิ่นที่จะแก้ไขประกอบกับช่วงนั้น3 จังหวัดชายแดนใต้เริ่มเกิดเหตุความรุนแรง คือในช่วงปี 2547-2548ก็เชิญผู้สื่อข่าวลงไปยังพื้นที่เพื่อที่จะไปดูความจริงว่าพี่น้องประชาชนได้รับความเดือดร้อนหนักกันอย่างไรบ้าง เพราะถนนทั้งหมดกลายเป็นคลองประชาชนได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก จนกระทั่งพี่ชายอาจารย์วันมูหะมัดนอร์ มะทาที่ในขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบ จนพื้นที่ได้รับการแก้ไขและเข้าสู่สภาวะปกติ ซึ่งเรื่องนี้ภาคภูมิใจอย่างมากที่ได้ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน

ประธานฯ ซูการ์โนเล่าให้ฟังต่อว่าหลังจากนั้นในช่วงของปี 2548 ผู้แทนของพรรคไทยรักไทยในขณะนั้นสุขภาพไม่ดี อาจารย์วันมูหะมัดนอร์ มะทา ที่เป็นหัวหน้าทีมของจังหวัดยะลาก็ให้โอกาสลง ส.ส.ครั้งแรก แต่ตอนนั้นเป็นการลงแบบแบ่งเขตแต่พอลงก็เกิดวิกฤติที่พรรคการเมืองใหญ่เขาบอกว่าไม่ส่งตัวแทนทำให้ต้องสู้กับเสียงของโนโหวต เพราะพรรคที่เป็นฝ่ายค้านในตอนนั้นไม่ส่งตัวแทนลงผู้สมัคร

“ก็ชนะผลของโนโหวตมาได้ ตอนนั้นก็คิดว่าจะได้เป็นผู้แทนแล้วแต่ดันมาเกิดม็อบสีลมขึ้นมา จนเกิดการปฏิวัติในปี 2549ไม่ทันได้ปฎิญาณตนในการเป็น ส.ส.เกิดการปฏิวัติยึดอำนาจ จนมีการร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 และก็เปิดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ก็ลงสมัครในนามของพรรคพลังประชาชนและได้เป็นส.ส.หนึ่งเดียวของพรรคพลังประชาชนที่เหลืออยู่จากนั้นก็มีการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ในปี 2554ตอนนั้นก็แพ้พรรคประชาธิปัตย์ไป 48 คะแนน แต่ว่าก็ได้รับความอนุเคราะห์จากท่านสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ให้มาทำทำหน้าที่เป็นเลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร ก็ทำได้ 1 ปี จากนั้นก็มาเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ชินวัตรจนกระทั่งยุบสภา”

ส.ส.ซูการ์โนเล่าด้วยว่าจากนั้นในปี 2557 ก็กลับมาลงเลือกตั้งอีกครั้งก็ชนะแต่ก็เจอปฏิวัติยึดอำนาจอีกจนยาวเลย จนมาในปี 2562 ก็ได้รับการเลือกตั้งที่นี้ก็ได้ทำหน้าที่ ส.ส.แล้ว โดยได้แยกจากพรรคใหญ่มาตั้งพรรคเล็กคือ“พรรคประชาชาติ” ก็ได้รับโอกาสให้เข้ามาทำงานและได้รับเลือกให้เป็นประธานคณะกรรมาธิการการกระจายอำนาจรัฐ การปกครองส่วนท้องถิ่นและการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ สภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากเป็นผู้อาวุโสประกอบกับมีประสบการณ์ในการทำงานมานาน

ส.ส.ซูการ์โนได้พูดถึงต้นแบบบุคคลในด้านการทำงานด้วยว่ชื่นชม อาจารย์วันมูหะมัดนอร์ มะทา อย่างมาก เพราะเป็นผู้สอนงานด้านการเมืองให้มาอย่างดี ที่สำคัญอาจารย์วันมูหะมัดนอร์ มะทา ได้ทำให้ดูเป็นตัวอย่างด้วย โดยหลักการการทำงานที่ อาจารย์วันมูหะมัดนอร์ มะทา ย้ำเสมอคือ“ถ้าจะเล่นการเมืองต้องยึดตามอุดมการณ์ในการรับใช้พี่น้องประชาชนคือ ประชาชนเป็นนายเรา เราต้องยึดโยงกับประชาชนให้มากที่สุด เพราะฉะนั้นสมัยได้เป็น ส.ส.ใหม่ๆ เวลาประชุมสภาเสร็จต้องรีบกลับลงพื้นที่ คือต้องไม่ทิ้งพื้นที่ ซึ่งแนวความคิดอุดมการณ์ทางการเมืองของตระกูลมะทาเป็นแบบนี้เสมอมา”

ส.ส.ซูการ์โนแอบกระซิบบอกกับเราด้วยว่าแม้ภายนอกหน้าตาของเขาจะดูเป็นคนดุ นักเลง พูดจาเสียงดังแต่จริงๆ แล้วเป็นคนใจดีและเป็นคนจริงใจ ที่สำคัญเป็นคนรักษาสัจจะอย่างมาก เพราะฉะนั้นทุกเรื่องที่ได้พูดกับพี่น้องประชาชนหรือเคยหาเสียงอะไรเอาไว้กับพี่น้องประชาชนต้องทำให้ได้ และด้วยคำว่าสัจจะเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมากในศาสนาอิสลาม“ทุกสิ่งที่เราพูดเราเปล่งออกมาเราต้องรับผิดชอบต่อพระเจ้าในวันที่เราอยู่สุดท้ายของโลกนี้ด้วย เพราะฉะนั้นเวลาจะพูดอะไรต้องคิดให้รอบคอบว่าสิ่งที่พูดแล้วจะทำได้หรือไม่ แม้ท่าทางของผมจะดูแข็งกร้าวไปบ้างแต่แท้จริงแล้วไม่ใช่นักเลงเลย”

ส่วนกิจกรรมยามว่างชอบศึกษาเรื่องไอที เนื่องจากการเมืองรุ่นใหม่จำเป็นต้องใช่สื่อโซเชียล จึงต้องเรียนรู้ศึกษาเอาไว้บ้าง

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...