ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ความสัมพันธ์ไทย - จีน และ เศรษฐกิจเพื่อนบ้าน ย้อนกลับ
จีนปักหมุดตลาดเอเชีย
04 ธ.ค. 2563

โลกของจีน : โดย ชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ

จีนปักหมุดตลาดเอเชีย

 

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา จีนได้ร่วมลงนามใน “ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค” (Reginal Comprehensive Economic Partnership : RCEP) 15 ประเทศ คือ 10 ชาติอาเซียนกับจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งนับเป็นความตกลงการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลก โดยอินเดียยังไม่เข้าร่วม แต่ที่แน่นอนคือไม่มี “สหรัฐอเมริกา”

RCEP เป็นความตกลงการค้าเสรีที่ทันสมัย ครอบคลุมหลายด้าน วางมาตรฐานสูง ทั้งเรื่องการค้าสินค้า พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การค้าบริการ การลงทุน ทรัพย์สินทางปัญญา การแข่งขันทางการค้า วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ฯลฯ

          ขนาดของ 15 ชาติ RCEP ครอบคลุมตลาดที่มีประชากรรวมกัน 2.2 พันล้านคน หรือเกือบ 30% ของประชากรโลก มี GDP รวมกันกว่า 820 ล้านล้านบาท หรือ 30% ของ GDP โลก และมีมูลค่าการค้ารวมกว่า 320 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นเกือบ 28% ของมูลค่าการค้าโลก

ขณะเดียวกัน สมาชิกRCEP ยังคงเปิดโอกาสให้ “อินเดีย” 1 ในชาติมหาอำนาจของเอเชียที่มีประชากรกว่า 1,300ล้านคน กลับมาเข้าร่วมความตกลงในฐานะที่เป็นสมาชิกดั้งเดิมของ RCEP โดยประเด็นสำคัญของอินเดีย คือการเปิดรับแรงงานอินเดียและการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีในกลุ่ม RCEP

ผู้ที่ติดตามเรื่องนี้คงทราบดีว่า จุดเริ่มต้นของ RCEP มาจากการผลักดันของ “จีน” ซึ่งกังวลบทบาทของสหรัฐอเมริกา สมัยประธานาธิบดี บารัก โอบามา ที่กำลังผลักดัน TPP (Trans-Pacific Partnership ) หรือข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก โดยไม่มีจีนอยู่ในกลุ่ม 12 ประเทศ  

กลุ่มประเทศสมาชิก TPP ในขณะนั้นมีมูลค่า GDP รวมเกือบ 40% ของ GDP โลก มีมูลค่าการค้ารวมเกือบ 30% ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของโลก แม้จะมีจำนวนประชากรเพียง 11% ของจำนวนประชากรโลก

แต่ความฝันของโอบามาที่ต้องการปักหมุดเอเชียด้วย “ถนนการค้าแห่งศตวรรษที่ 21” ได้ถูกเทโดยโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนต่อมา ด้วยเหตุผลว่าจะเป็นภัยร้ายแรงต่อสหรัฐอเมริกา

TPP วันนี้จึงกลายเป็น CPTPP (Comprehensive and Progressive Trans-pacific Partnership) หรือความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก เหลือสมาชิก 11 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม รวมประชากรมากกว่า 500 ล้านคน และมี GDP คิดเป็น 13% ของโลก โดยไม่มีชื่อสหรัฐอเมริกา

ภาพของ RCEP วันนี้ จึงมีจีนลอยเด่นในฐานะแกนนำความตกลง ซึ่งไม่เพียงจะสร้างสมดุลการค้าและการลงทุนระหว่างโลกตะวันตกกับโลกตะวันออก แต่ยังเป็นเครื่องมือคานอิทธิพลอเมริกาและยุโรปที่เคยกดดันชาติกำลังพัฒนาในกลุ่มอาเซียน

ทุกคนเห็นชัดว่า ผู้ที่จะได้ประโยชน์เต็มๆ ก็คือ “จีน” ที่เจอสงครามการค้าจากสหรัฐอเมริกาและสมัครพรรคพวก  ทั้งตั้งกำแพงภาษี ทั้งกีดกันการค้าและบริการ จะมีทางออกมากขึ้นในตลาดอาเซียนและอีก 4 ประเทศสมาชิก

วันนี้สหรัฐอเมริกากำลังจะมีผู้นำประเทศคนใหม่ชื่อ โจ ไบเดน แห่งพรรคเดโมแครต ที่จะเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในปลายเดือนมกราคม 2021 ซึ่งชูธง America Great Again และแน่นอนว่า ยังเดินหน้าชนจีนเพื่อสกัดกั้นอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมืองในระดับโลก

อย่าลืมว่า ไบเดนเคยเป็นรองประธานาธิบดีสมัยบารัก โอบามา ดังนั้น เขาจึงเคยมีบทบาทในการร่วมผลักดัน TPP มาก่อน มีความรู้ความเข้าใจดีว่า ทำไมอเมริกาต้องพยายามปักหมุดในเอเชีย ทำไมต้องสร้างยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก จึงเป็นที่แน่นอนว่า จำต้องนำอเมริกากลับเข้าร่วม CPTPP เพื่อหาพันธมิตรในการถ่วงดุลจีน

แต่การทิ้งสถานะแกนนำกลุ่มเศรษฐกิจไป 4 ปี ใช่ว่าจะกลับเข้ามาทวงเก้าอี้คืนง่ายๆ หรือกลับมาชี้นิ้วสั่งกันได้   เพราะผลประโยชน์ของแต่ละชาติย่อมไม่ขึ้นตรงต่ออเมริกา

ขณะเดียวกันจนถึงวันนี้ สหรัฐอเมริกาก็ยังล้มเหลวเรื่องการรับมือ COVID-19 เพราะชาวอเมริกันทั้งประเทศยังติดเชื้อเฉลี่ยวันละ 1.2 แสนคน รวมยอดผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 12 ล้านคน เสียชีวิตมากกว่า 2.6 แสนคน โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจอเมริกาในปี 2020 ที่ได้รับผลกระทบอย่างย่ำแย่จะหดตัวลงมากถึง 8.0%

ภารกิจเร่งด่วนของ โจ ไบเดน ในช่วงแรกๆ จึงไม่ใช่การรับไม้ต่อจากทรัมป์มาทะเลาะกับจีน แต่เป็นเรื่องการหยุดยั้งการแพร่ระบาดของ COVID-19 พร้อมๆ กับการหาทางฟื้นฟูเศรษฐกิจ การแก้ปัญหาคนตกงานหลายล้านคน การแก้ปัญหาคนไร้บ้านไม่มีที่ซุกหัวนอนอีกนับแสนคน

มองไปที่จีน วันนี้ไม่ใช่จีนเมื่อ 7 ทศวรรษก่อน ที่ถูกปรามาสว่าเป็น “คนป่วยแห่งเอเชีย” ยากจน อ่อนแอ ขี้โรค มีประชากรเยอะ แต่ไร้เทคโนโลยีที่จะพัฒนาบ้านเมือง ไม่มีปัญญาจะไปสู้รบปรบมือกับใคร

4 ทศวรรษที่ผ่านมา จีนได้ก้าวกระโดดขึ้นมาอย่างรวดเร็วอย่างเห็นได้ชัดในทุกด้าน จนเป็นที่น่าเกรงขาม 

4 ปีก่อน แม้จะโดนทรัมป์หาเรื่องฟาดงวงฟาดงาใส่ หรือเป็นชาติแรกที่พบการแพร่ระบาดไวรัส COVID-19 แตจีนได้พิสูจน์ให้เห็นว่า แข็งแกร่งพอที่จะยืนแลกหมัดกับอเมริกา และมีการบริหารจัดการด้านการแพทย์ดีกว่า จนผ่านพ้นวิกฤติการแพร่ระบาด มีการฟื้นฟูเศรษฐกิจดีกว่า จนได้รับการประเมินว่าเศรษฐกิจในปี 2020 จะเติบโตประมาณ 1.7-2% ทำให้เศรษฐกิจจีนแซงหน้าอเมริกาขึ้นเป็นอันดับ 1 ของโลกในยุคโดนัลด์ ทรัมป์นี่แหละ

ปี 2020 นี้ จีนประกาศความสำเร็จในการแก้ปัญหาความยากจน ปีหน้า 2021 จีนจะเริ่มใช้แผนพัฒนา 5 ปี ฉบับที่ 14 (2021-2025) ที่วางเป้าหมายจะสร้างชนชั้นกลางจีน จากปัจจุบันมีอยู่ 400 ล้านคน ให้ถึง 1,000 ล้านคน

นั่นหมายความว่า จีนจะสร้างพลังทางเศรษฐกิจพลังการบริโภคให้เติบโตขึ้นอีกหลายเท่า ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ

ปีหน้าโจ ไบเดน จะนั่งเก้าอี้ผู้นำที่ทำเนียบขาว ถือเป็นทุขลาภอันยิ่งใหญ่ของผู้เฒ่าวัย 78 ที่ไม่รู้ว่า สายตายังดีขนาดไหนกับการมองไกลหาอนาคตของสหรัฐอเมริกา

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...