ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ธรรมาภิบาล ย้อนกลับ
ยืนโทษคุก 7 ปี! อดีตผู้ช่วยผอ.สวทช. เอื้อปย.เอกชนจัดซื้อจ้าง-เอารถส่วนตัวให้สถาบันฯเช่า
15 ส.ค. 2563

เมื่อเร็วๆ นี้ เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่ความคืบหน้าผลคดีกล่าวหา นายพอพนธ์ สิชฌนุกฤษฎ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กับพวก เอื้อประโยชน์ให้ บริษัทไฮเทค โปร อิควิปเมนท์ จำกัด ในการทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง, ขายเศษ Sputtering target ชนิด Silver ซึ่งเป็นพัสดุของสำนักงานเพื่อให้ตนเองได้รับประโยชน์ที่มิควรได้และนำรถยนต์ส่วนตัวมาให้สถาบันฯเช่า

ซึ่งถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงมติชี้มูลความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 , g11 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ,  91  ตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา

โดยความคืบคดีนี้ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560  ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษาว่า จำเลย มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การ หรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 และมาตรา 11  การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดและปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต จำคุก 2 ปี ฐานเป็นพนักงานมีหน้าที่ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต จำคุก 5 ปี รวมจำคุก 7 ปี ให้จำเลยคืนหรือชดใช้เงินที่เบียดบังไป จำนวน 335,634 บาท ให้แก่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2562 ศาลอุทธรณ์ พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะส่วนที่วินิจฉัยความผิดกรรมสองว่าฐานเป็นพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริตและฐานเป็นพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทลงโทษ ฐานเป็นพนักงานมีหน้าที่ซื้อทำจัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้น เป็นของตนเองหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริตอันเป็นบทหนักที่สุดตาม ป.อ.มาตรา 90

ส่วนบทลงโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

เบื้องต้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการประชุมเมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2563 มีมติเห็นชอบในการที่อัยการสูงสุด (อสส.) จะไม่ฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

ทั้งนี้ คดียังไม่สิ้นสุด จำเลย มีสิทธิต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธ์ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้อีกได้

พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การ หรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502  มาตรา 4 ระบุว่า ผู้ใดเป็นพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใดเบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสี่หมื่นบาท

มาตรา 11 ระบุ ผู้ใดเป็นพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...