ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คอลัมนิสต์ประจำอปท.นิวส์ ย้อนกลับ
คนจีนรุ่นใหม่ ถอดใจสู้ชีวิต
02 ก.พ. 2566

โลกของจีน โดย ชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ

คนจีนรุ่นใหม่ ถอดใจสู้ชีวิต

          แต่ไหนแต่ไรเราเคยแต่ได้ยินว่า  คนจีนตั้งแต่บรรพบุรุษล้วนเป็นคนที่สู้ชีวิต  ปากกัดตีนถีบ หนักเอาเบาสู้ ไม่ย่อท้อ ไม่ว่าจะอดอยากยากจนแค่ไหนก็ล้วนแต่คิดเอาชีวิตรอด  ล้วนแต่มุ่งมั่นสร้างฐานะ  จึงมักได้เห็นคนจีนจากที่ไม่มีเงินทองสามารถเก็บหอมรอมริบยกฐานะตนเองจนเป็นผู้มีอันจะกิน  หลายคนกลายเศรษฐีและมหาเศรษฐีติดอันดับโลก

          เศรษฐีจีนในไทยและรุ่นลูกหลานที่ร่ำรวยได้ก็ล้วนหนีความยากจนจากจีนแผ่นใหญ่ใหญ่แบบ “เสื่อผืนหมอนใบ” มารับจ้างแบกหาม ใช้แรงงาน ใช้ประสบการณ์  แสวงหาโอกาสแล้วค่อยๆสั่งสมทุนจนร่ำรวย

          ลักษณะนิสัยเช่นนี้ทำให้ประเทศจีนที่เคยเป็นชาติด้อยพัฒนา  ด้อยเทคโนโลยี  รายได้น้อย คุณภาพชีวิตต่ำ  แต่กลับพัฒนาได้อย่างรวดเร็วในช่วงเวลาเพียงชั่วอายุคนจนสามารถแซงหน้าชาติที่พัฒนาแล้วทั้งตะวันออกและตะวันตก  ขึ้นมาเคียงบ่าเคียงไหลชาติอุตสาหกรรมที่คุยโม้ว่าร่ำรวยเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจได้ก็เพราะชาวจีนที่คิดและทำในจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ “ก้าวให้พ้นความยากจน  แสวงหาชีวิตที่ดีกว่า”

          แต่ในช่วง 3 ปีที่จีนต้องล็อคดาวน์ประเทศจากเหตุเชื้อโควิด-19 แพร่ระบาด  พรรคคอมมิวนิสต์ใช้นโยบาย Zero-COVID ในการบริหารจัดการประเทศโดยให้เหตุผลว่า  “การรักษาชีวิตและสุขภาพของคนในประเทศสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด”  แม้จะกระทบต่อการทำธุรกิจการค้าการลงทุนของชาวจีนและคนทั่วโลกก็ตาม 

          ไม่เพียงเท่านั้น Zero-COVID ยังส่งผลต่อความรู้สึกของเยาวชนจีน  อาตี๋อาหมวยรุ่นใหม่  ที่ไม่ใช่กลุ่มที่แสดงความกล้าหาญลุกขึ้นมาประท้วงรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นในการล็อคดาวน์เมือง  จนรัฐบาลต้องยอมลดความเข้มงวดในทุกพื้นที่และประกาศเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2023  แต่เป็นเยาวชนกลุ่มที่หมดไฟ หมดกำลังใจที่จะต่อสู้ดิ้นรนเพื่ออนาคตที่ดีกว่า  โดยมีคำเรียกความรู้สึกนี้และคนกลุ่มนี้ว่า “ป่ายล่าน” (Bailan) แปลว่า “ปล่อยให้เน่าไป”

          ภาพรวมของคนกลุ่มนี้คือ  เหน็ดเหนื่อยกับการใช้ชีวิตตั้งแต่เด็ก ถูกผู้ปกครองบังคับเคี่ยวเข็ญให้เรียนหนักเพื่อแข่งขันทำคะแนนดีๆเพื่อเรียนต่อในระดับสูง  เมื่อจบมาแล้วก็ต้องแสวงหางานและแย่งชิงตำแหน่งงานที่มีน้อยนิดและค่าตอบแทนต่ำในช่วงโควิด  เมื่อได้งานก็เจอกฎกติกาที่ต้องทำงานหนักต้องมีผลงานดีเพื่อรักษางานนั้นๆไว้

          ความรู้สึกที่เหมือนกันของคนรุ่นนี้คือ “ภาระอันหนักอึ้ง” ที่ต้องแบกรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆในครอบครัว  การต้องดูแลพ่อ-แม่ที่เกษียณอายุ  หรืออาจจะรวมไปถึงปู่-ย่า และตา-ยาย ที่ล้วนแต่สุขภาพดีอายุยืน ที่แม้จะมีสวัสดิการจากภาครัฐแต่ก็ไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพที่สูงขึ้น  ยิ่งหากมีคู่ชีวิต มีลูกตามมาอีกก็เท่ากับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นในอนาคต

         การมองโลกในแง่ร้ายเห็นแต่อนาคตที่มืดมน  ยอมแพ้ต่อชะชาชีวิต  สิ้นหวัง  ท้อแท้  ไม่ต้องการความสำเร็จในชีวิต  หันหลังให้กับเป้าหมายในชีวิตที่เคยตั้งไว้  ไม่อาจรับแรงกดดันทางสังคมที่เพิ่มขึ้นไม่สิ้นสุด  ไม่ทะเยอทะยาน  ละทิ้งความฝัน  คือคำอธิบายของกลุ่ม “ไป่ล่าน” ที่หลายคนเชื่อว่ากำลังเพิ่มจำนวนขึ้นหากสถานการณ์ในจีนยังไม่ดีขึ้น

          ก่อนเกิดโควิด-19 ระบาด ประเทศจีนกำลังรุ่งเรือง  กำลังเร่งเครื่องจักรทุกด้านเพื่อชิงความเป็นหนึ่งของโลก  คนจีนรุ่นใหม่มีความเชื่อมั่นในอนาคต  มีเป้าหมายชีวิตที่สดใส  จึงกล้ากิน กล้าใช้  กลายเป็นสังคมที่เน้นการบริโภค  กินหรู อยู่สบาย  เที่ยวต่างประเทศ

          แต่โควิด-19 กับการปิดประเทศที่มาพร้อมนโยบายโควิดเป็นศูนย์ ได้กดเศรษฐกิจจีนปี 2022 โตแค่ 3% ต่ำสุดในรอบกว่า 50ปี  มีผลต่อความเชื่อมั่นและทำลายฝันของคนหลายสิบล้านคนในหมู่ประชากร 1,400 ล้านคน

          ธุรกิจที่ต้องปิดกิจการเพราะค้าขายไม่ได้  ธุรกิจที่ต้องลดสาขา  ลดการจ้างงาน  ลดเงินเดือน  ผลกระทบจากฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์  ผลกระทบจากสถาบันการเงิน  การจัดระเบียบสังคมครั้งใหม่คุมเข้มสถาบันกวดวิชา  การตรวจสอบกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ฯลฯ  ล้วนมีผลต่อการจ้างงานคนหนุ่มสาวที่กำลังไปได้ดี

          ช่วงโควิด เด็กไทยจบใหม่ระดับอุดมศึกษามีอัตราว่างงานประมาณ  2.5 % บ้านเราถือว่าสูงแล้ว   แต่ยังเทียบไม่ได้กับอัตราการว่างงานในจีนที่เคยสูงถึง 19 % ในกลุ่มเยาวชนจีนอายุ 16-24 ปี หรือคน Gen Z ที่เชื่อว่าจะเป็นผู้กำหนดทิศทางในอนาคตของชาติ

          มองด้านสังคมวิทยา  พรรคคอมมิวนิสต์จีนเคยใช้นโยบายคุมกำเนิดให้ครอบครัวมี “ลูกคนเดียว” เพื่อแก้ปัญหาความอดอยากยากจน  ยุคสมัยหนึ่งได้ผลแต่กลายเป็นปัญหาโครงสร้างประชากรและปัญหาสังคมมาถึงปัจจุบัน  ที่ครอบครัวส่วนใหญ่ยังคงมีลูกคนเดียว  แล้วลูกคนเดียวต้องรับผิดชอบดูแลพ่อ-แม่,  ปู่-ย่า, ตา-ยาย

          คนจีนรุ่นใหม่จึงนิยมอยู่เป็นโสดมากกว่าแต่งงาน  หรือหากแต่งงานก็ไม่อยากมีลูกให้เป็นภาระเพิ่ม

          ช่วง 3 ปีที่ผจญโควิดกับมาตรการล็อคดาวน์  คู่ครองที่ต้องเลี้ยงลูกแบเบาะพร้อมๆกับผู้สูงอายุในภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง  คือสิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธ  คือแรงกดดันมหาศาล  คืออาการเหนื่อยล้า หมดเรี่ยวแรง  หมดไฟที่จะต่อสู้

          ส่วนคนโสดที่มีภาระน้อยกว่าอาจจะเจอวัฒนธรรมทำงาน 9-9-6 ( ทำงานตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 3 ทุ่ม ตลอด 6 วัน ) ซึ่งเมื่อก่อนถือว่าเป็นการทุ่มเทเพื่อผลผลิตของประเทศชาติ  แต่ปัจจุบันเริ่มมีการต่อต้านว่าเป็นพิษต่อชีวิตและสุขภาพ  คนรุ่นใหม่รู้สึกว่างานกับชีวิตไม่มีความสมดุล 

          รัฐบาลจีนที่ไวต่อความรู้สึกของประชาชน  เข้าใจว่ากำลังมีความพยายามแก้ไข  เพราะถ้าปล่อยให้ระบาดแบบเชื้อไวรัส  ฝังเข้าไปในเซลส์สมองของคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ที่เป็นอนาคตของชาติ  ก็จะกลายเป็นความเฉื่อยชาทางสังคมที่จะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจซึ่งรัฐบาลจีนกำลัง “จุดสตาร์ท” อีกครั้งในปีนี้

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...