ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คอลัมนิสต์ประจำอปท.นิวส์ ย้อนกลับ
CSR เริ่มใน Clubhouse
21 ส.ค. 2564

#CSRcontent : โดย มนวิภา จูภิบาล กรรมการบริษัท วีอาร์ทวินส์ จำกัด

CSR เริ่มใน Clubhouse

Up for Thai อาสาสมัครเพื่อสังคมกลุ่มหนึ่งที่รวมตัวกันจากแรงบันดาลใจในช่วงการสนทนาในแอปพลิเคชั่น Clubhouse หม่อมราชวงศ์เฉลิมชาตรี ยุคล หรือคุณชายอดัม กล่าวถึงเพื่อน คุณอัพ ผู้บุกเบิกอีสปอร์ตของไทย ที่ติดเชื้อโควิด-19 เมื่อเดือนเมษายน 2564 และไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีจนเสียชีวิต เป็นที่น่าเสียใจและเสียดายอย่างยิ่ง  เหตุร้ายนี้ไม่ควรจะเกิดกับใครทั้งสิ้น หากมีการบริหารจัดการที่ดีพอ

การสื่อสารทางเสียงใน Clubhouse กำหนดหัวข้อการสนทนาไว้ แต่เนื้อหาพูดคุยอาจแปรเปลี่ยนไปได้เรื่อยๆตามสมาชิก ต้นและท้ายคนละเรื่องก็มี ให้ข่าวสารเรียลไทม์ เปิดเผยตัวตน ไม่มีข้อจำกัดของพื้นที่ เพศ วัยวุฒิ คุณวุฒิ สัญชาติ เชื้อชาติ ศาสนา อาชีพ สดจากคนทำงานจริง แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ความรู้อย่างไม่มีขอบเขต มีถกเถียง มีตัดบท วิพากษ์วิจารณ์ เนื้อหา สาระ อารมณ์ถูกส่งต่อไปยังโซเชียลมีเดียอื่นอย่างฉับไว เช่น ทวิตเตอร์ และ เฟซบุ๊ก หรือห้องอื่นใน Clubhouse ทำให้กระจายสารได้อย่างกว้างขวางทั่วโลกพร้อมกันทันที รวมถึงสามารถสร้างแนวร่วมในเนื้อหา สาระ อารมณ์จากผู้เสพสื่อ เสพสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อสารที่ส่งต่อ  คือการขอความร่วมมือช่วยเหลือสังคม บนพื้นฐานของข้อมูลข่าวสารที่เชื่อว่า เป็นจริง จึงมีพลังขับเคลื่อนให้กลุ่มจิตอาสาเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม อาสาสมัครกลุ่ม Up for Thai  ซึ่งก่อตั้งโดยคุณชายอดัม ใช้ชื่อเพจว่า “ต้องรอด Up for Thai” มีเจตนารมณ์ร่วมกันในการช่วยเหลือผู้ป่วย และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ภารกิจหลักคือ จัดหาอาหารให้ชุมชนที่กักตัว คนที่ออกมาซื้อหาไม่สะดวก คนยากจน แคมป์คนงาน ศูนย์พักคอย โรงพยาบาลสนาม รวมถึงการเข้าถึงผู้ป่วยเพื่อช่วยชีวิต และยังร่วมกับพันธมิตรภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และสื่อสารมวลชนตั้งโครงการเฉพาะกิจ #missionบุษราคัม75 จัดหาเครื่องอุปโภคบริโภคให้ผู้ป่วยที่พักรักษาที่โรงพยาบาลบุษราคัมเป็นระยะเวลา 75 วัน ก่อนจะมีการย้ายไปยังสถานที่ใหม่ สามารถบริจาคเงิน เครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นเพื่อสนับสนุนอาสาสมัครได้ ทางเพจมีโรงครัวกลางและกองอำนวยการอยู่ที่วัดเทวสุนทร ถนนกำแพงเพชร 6 เขตจตุจักร ติดต่อ ทีมงานต้องรอด โทร. 08 0000 4566  Line @upforthai   

        

เพจ เราต้องรอด ก่อตั้งโดยคุณ ได๋ ไดอาน่า จงจินตนาการ และคุณจ๊ะ นงผณี มหาดไทย ภารกิจหลักคือ ช่วยเหลือด้านการประสานหาเตียงและสถานพยาบาลให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที หารถพาไปตรวจและไปรักษาที่ภูมิลำเนา เพจนี้ไม่รับบริจาคเป็นเงินสด ขอเป็นสิ่งของเครื่องใช้ เช่น บัตรเติมน้ำมัน เครื่องผลิตออกซิเจน เครื่องวัดออกซิเจน ปรอท หน้ากากอนามัย ยาแก้ไอ ยาอมแก้เจ็บคอ น้ำขิง โดยทางเพจ update สิ่งที่ยังขาดแคลนทุกวันทาง Line @givehelp เราช่วยกัน สามารถส่งความช่วยเหลือได้ที่ เพจเราต้องรอด โชว์รูมโตโยต้าบางกอก ดอนเมือง  โทร 08 1363 5615    

เพจ เส้นด้าย ZEN-DAI คุณคริส โปตระนันทน์ เป็นผู้ก่อตั้ง ภารกิจหลักคือ จัดหารถรับส่งผู้ป่วยและผู้มีความเสี่ยงสูงเพื่อไปตรวจ ช่วยลดค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีรายได้น้อย ลดการใช้รถสาธารณะ ซึ่งผู้ป่วยมีความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ จัดหาเตียง จัดหาอาหารสำหรับผู้กักตัว ดูแลสัตว์เลี้ยงของคนไข้ ไปจนถึงช่วยเหลือญาติในการทำศพ สามารถสนับสนุนข้าวกล่อง อาหารแห้ง ค่ารถ ค่าอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ มีเมนูให้เลือกสนับสนุนผ่านร้านเส้นด้าย Line @zendai official นอกจากนั้น ยังมี เพจ Docterkatekate โดยแพทย์หญิงของขวัญ ฟูจิตนิรันดร์ สื่อสารให้ความรู้  สร้างความเข้าใจกับประชาชน โดยอธิบายให้เข้าใจง่าย ชัดเจน ช่วยลดการตระหนกขณะที่ต้องดำรงชีวิตอยู่ท่ามกลางโควิด-19 แนะวิธีปฏิบัติตนทั้งในภาวะปกติ ภาวะสงสัยว่าเสี่ยง ภาวะติดเชื้ออาการไม่มากให้ทำ Home Isolation ภาวะติดเชื้ออาการรุนแรงต้องทำอย่างไร มีทีมแพทย์ทำงานร่วมกับ เพจเราต้องรอด เพจเส้นด้าย เพจอีจัน และมูลนิธิกระจกเงา ซึ่งสองกลุ่มหลังไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงโควิด-19 แต่เป็นกลุ่มที่สังคมไทยรู้จักกันอยู่แล้วในบทบาทการทำงานเพื่อสังคม

ไม่ว่ากลุ่มอาสาสมัครจะทำได้ดีมีระบบแค่ไหนก็ไม่เพียงพอ ความขาดแคลนและความต้องการมีมากเหลือเกิน  ฟังบรรยากาศอาสาสมัครที่เผชิญกับอุปสรรคและความบีบคั้นจิตใจเมื่อเข้าช่วยเหลือผู้ป่วยไม่ทันจนเสียชีวิต กระตุ้นให้ผู้ฟังอยากติดตาม อยากมีส่วนร่วม ด้วยวินาทีนี้ ไม่มี CSR ใดที่จำเป็น เร่งด่วน และมีค่ามากกว่า CSR เพื่อช่วยผู้เดือดร้อนจากโควิด-19 Dr. Tedros Adhanom Ghebreyesus ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การอนามัยโลก ( WHO)  กล่าวไว้ตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2563 ว่า นี่ไม่ใช่แค่วิกฤตด้านสาธารณสุข แต่เป็นวิกฤตที่กระทบทุกภาคส่วน ดังนั้น ทุกภาคส่วนและทุกคนจะต้องมีส่วนร่วมในการต่อสู้ This is not just a public health crisis; it is a crisis that will touch every sector. So, every sector and every individual must be involved in the fights.

คนไทยจำนวนมากอยากร่วมต่อสู้ให้วิกฤตผ่านพ้นไปโดยเร็ว กลุ่มอาสาสมัครเหล่านี้จึงเสมือนเป็นตัวแทน เป็นที่พึ่ง เป็นสะพานให้เขาได้ร่วมต่อสู้ไปด้วย บริษัทขนาดใหญ่หลายบริษัทที่มีแผน CSR ของตัวเอง หรือมีบทบาทเป็นผู้นำด้าน CSR ในมุมของตัวเองอยู่แล้ว ต่างยินดีสนับสนุนการทำ CSR ของกลุ่มอาสาสมัคร เช่น บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด สนับสนุนน้ำดื่มตราสิงห์ แก่เพจ ต้องรอด Up for Thai ต่อเนื่องไปจนกว่าปิดศูนย์เมื่อสถานการณ์คลี่คลายลง  บริษัท พีทีทีโออาร์ จำกัด (มหาชน) มอบ  tOgetheR Box ชุดยาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยโควิดที่รักษาตัวที่บ้านให้เพจ เราต้องรอด เพื่อส่งมอบให้กับผู้ป่วยต่อไป บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด สนับสนุนออกซิเจนทางการแพทย์พร้อมอุปกรณ์ปรับลดแรงดันผ่านเพจ เส้นด้าย เพื่อผู้ป่วย Covid-19 ขั้นวิกฤตที่กำลังรอเตียง และอาสาสมัครกู้ภัยต่างๆ สามารถนำถังออกซิเจนที่ได้มาตรฐาน มอก.ออกซิเจนทางการแพทย์อายุไม่เกิน 5 ปี มาเติมออกซิเจนฟรีได้ที่ผู้แทนจำหน่ายในเครือข่ายที่บริษัทกำหนด     

ทุกภาคส่วนของโลกก็ต้องมีส่วนร่วมในการต่อสู้เช่นกัน หนึ่งในความพยายามเฉลี่ยความเหลื่อมล้ำของประเทศร่ำรวยและประเทศยากจนเพื่อให้เข้าถึงวัคซีนได้ คือ โครงการ Covax ( Covid-19 Vaccines Global Access Facility)  หรือโครงการเพื่อการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ระดับโลก ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือน เมษายน 2563 มุ่งสนับสนุนการพัฒนา จัดซื้อ และส่งวัคซีนไปยังกว่า 180 ประเทศทั่วโลก โดยมีองค์การอนามัยโลกเป็นผู้นำ ร่วมกับองค์กรพันธมิตรเพื่อวัคซีน (The Vaccine Alliance หรือ Gavi) และกลุ่มพันธมิตรความร่วมมือด้านนวัตกรรมเพื่อรับมือโรคระบาด (Coalition for Epidemic Preparedness Innovations หรือ Cepi) Dr. Seth Berkley ประธานบริหารของ Gavi กล่าวว่า ปัญหานี้ต้องมองเป็นเรื่องส่วนรวมของทุกประเทศในโลก เพราะไม่มีประโยชน์เลยหากประเทศหนึ่งมีวัคซีนแต่ถูกรายล้อมไปด้วยประเทศที่ยังมีไวรัสแพร่ระบาดอยู่ เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องคิดว่าเรายังไม่ปลอดภัย นอกเสียจากคนอื่นจะปลอดภัยด้วย

ขอจบสไตล์ Clubhouse ที่บางครั้งกลอนพาไปจนต้นกับท้ายอาจไม่ใช่เรื่องเดียวกัน เข้าทำนอง ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่ พอเหลาลงไปกลายเป็นบ้องกัญชา...คำพังเพยนี้คงใช้ในความหมายเดิมได้อีกไม่นาน  เพราะกัญชาไทยวันนี้เป็นของดีมีค่า แพ้ก็แต่ไฟเซอร์ โมเดอน่า โนวาแวกซ์ เท่านั้น

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...