ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คอลัมนิสต์ / บทวิเคราะห์ ย้อนกลับ
บทบาทของพลเมืองในการกำกับการใช้งบประมาณท้องถิ่นอย่างมีส่วนร่วม [1]
17 ก.ค. 2568

“ภาษี” มิใช่เพียงแหล่งรายได้ของรัฐเท่านั้น หากแต่เป็นทรัพยากรสาธารณะที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ยินยอมมอบทรัพย์สินบางส่วนของตนให้รัฐเพื่อแลกกับสิทธิในการบริหารจัดการและบริการสาธารณะที่มีคุณภาพ การใช้จ่ายงบประมาณจากภาษีเหล่านี้จึงควรสะท้อนความต้องการและลำดับความสำคัญของชุมชนอย่างแท้จริง การจัดเก็บและใช้จ่ายภาษีอย่างมีประสิทธิภาพจึงต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความชอบธรรม ความโปร่งใส และการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการตัดสินใจ เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการให้บริการ

ตามความต้องการของประชาชน

การจัดสรรงบประมาณแบบมีส่วนร่วม (Participatory Budgeting) เป็นแนวคิดที่ได้รับความสนใจกล่าวถึงในแง่ของกลไกตามระบอบประชาธิปไตยที่ภาครัฐจะเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมโดยตรง
ในการตัดสินใจเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณของภาครัฐ เพื่อนำไปสู่การใช้จ่ายงบประมาณอย่างโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ แนวคิดนี้ถูกนำมาใช้ครั้งแรกในเมืองปอร์โต อาเลเกร (Porto Alegre) ประเทศบราซิล เมื่อปี พ.ศ. 2532 โดยเทศบาลได้กันงบประมาณส่วนหนึ่งไว้ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการใช้จ่าย
ในกระบวนการดังกล่าว ประชาชนสามารถเสนอแนวคิด ร่วมอภิปราย และร่วมตัดสินใจว่า เงินงบประมาณของรัฐควรจะนำไปใช้กับโครงการอะไรบ้าง ผ่าน 5 ขั้นตอนคือ 1) ภาครัฐจัดสรรงบประมาณ 2) ประชาชนร่วมระดม
ความคิดเห็นโครงการ 3) กลั่นกรองและพัฒนาโครงการร่วมกัน 4) ประชาชนลงมติเลือกโครงการที่พึงปรารถนา
5) ภาครัฐดำเนินโครงการตามมติของประชาชน 6) การติดตามตรวจสอบโดยภาคประชาชน ผลการดำเนินงานพบว่าการจัดสรรงบประมาณแบบมีส่วนร่วมนั้น ช่วยให้เกิดการกระจายทรัพยากรอย่างเป็นธรรมมากขึ้น ทั้งยังเสริมความเชื่อมั่นในการปกครองท้องถิ่นและยกระดับความรู้ทางการเมืองให้แก่ประชาชน ส่งผลให้แนวคิดดังกล่าวได้รับการยอมรับและถูกนำไปประยุกต์ใช้ในหลายประเทศ โดยเฉพาะในมหานครนิวยอร์ก (New York City) ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ใช้แนวคิดดังกล่าวขยายผลในหลายเขตเลือกตั้ง

ในประเทศไทยพบว่า ไม่มีกรอบกฎหมายเฉพาะที่รองรับแนวคิดการจัดสรรงบประมาณแบบมีส่วนร่วมโดยตรง อย่างไรก็ตาม แนวคิดนี้ก็ได้รับความสนใจกล่าวถึงและนำไปประยุกต์ใช้เช่นกัน โดยมากพบในการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น ผ่านการทำ ประชาคมท้องถิ่น ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น ที่กำหนดให้ทางการต้องประสานกับประชาคมหมู่บ้านในการรวบรวม วิเคราะห์ปัญหาความต้องการสำหรับจัดทำเป็นโครงการในแผนพัฒนาท้องถิ่น ในแง่นี้ประชาชนจึงสามารถร่วมกับท้องถิ่นกำหนดประเด็นหลักที่ต้องการให้บรรจุไว้ในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาได้ แต่ถึงอย่างนั้นกระบวนการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นของไทย
ก็แตกต่างจากการจัดสรรงบประมาณแบบมีส่วนร่วมของประเทศบราซิลอย่างสำคัญ ในแง่ที่การมีส่วนร่วมในการจัดสรรงบประมาณของประเทศบราซิลนั้น ประชาชนคือผู้ตัดสินใจในการใช้งบประมาณอย่างแท้จริง ขณะที่
ในประเทศไทยประชาชนมีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลประกอบกับจัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาเท่านั้น
แต่ไม่ใช่ผู้ตัดสินใจขั้นสุดท้าย

ในแง่นี้ หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถจัดสรรงบประมาณประจำปีอย่างน้อย 5-10% ของ
งบลงทุนทั้งหมดเพื่อให้ประชาชนมีอำนาจตัดสินใจโดยตรงว่าควรใช้งบนี้กับโครงการใด ก็จะช่วยสนับสนุนให้ประชาชนมีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจเกี่ยวกับการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐได้มากขึ้น ทว่าในทางปฏิบัติจำเป็นต้องกลับมาทบทวนระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจัดทำงบประมาณรายจ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเปิดทางให้ประชาชนสามารถเป็นผู้มีบทบาทในการกำกับการใช้จ่ายงบประมาณท้องถิ่นอย่างมีส่วนร่วมได้มากขึ้น มิใช่เพียงผู้เสนอความคิดเห็นในขั้นตอนจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นเท่านั้น หรืออีกแง่หนึ่งผู้บริหารท้องถิ่นอาจพิจารณาตั้งงบประมาณพัฒนาบทบาทพลเมืองไว้ เพื่อเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้ร่วมกันพิจารณาโครงการนำเข้าสู่การพิจารณาโดยสภาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในฐานะ “ข้อเสนอจากประชาชน”
เพื่อพิจารณาจัดสรรงบประมาณตามความเหมาะสมต่อไป

 

เอกสารอ้างอิง

กระทรวงมหาดไทย. (2548). ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจัดทำแผนพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2548. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 122 ตอนพิเศษ 4 ง (ลงวันที่ 11 มกราคม 2548).

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.). (2563). แนวทางธรรมาภิบาลในการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี.

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.). (2563). คู่มือประชาคมท้องถิ่น: การมีส่วนร่วมของประชาชนในการวางแผนพัฒนา. กรุงเทพฯ: สสส.

OECD (2021). Enhancing Public Sector Efficiency and Effectiveness. https://www.oecd.org

Wampler, B. (2012). Participatory budgeting: Core principles and key impacts. Journal of Public Deliberation, 8(2), Article 12.

 

 

 

คอลัมน์ : รอบรั้วสถาบันพระปกเกล้า  โดย : ศูนย์สื่อสารองค์กร


[1] ผู้เขียน ดร.จารุวรรณ แก้วมะโน นักวิชาการผู้ชำนาญการ สำนักส่งเสริมการเมืองภาคพลเมือง สถาบันพระปกเกล้า

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 กรกฎาคม 2568
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
17 ก.ค. 2568
การแพทย์เป็นหนึ่งในระดับความสำคัญของการดำรงชีวิตอยู่ของมนุษยชาติ ซึ่งนอกจากตัวนายแพทย์ผู้ทำการรักษาแล้ว อุปกรณ์ทางการแพทย์แน่นอนย่อมมีความสำคัญไม่แพ้กัน ยิ่งในยุคสมัยใหม่นี้ด้วยแล้ว อุปกรณ์ทางการแพทย์ได้พัฒนาไปได้รวดเร็วยิ่ง อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทยเรา...