ชูเฮ อาซูมะ (ซ้าย) และโช เซนิยะ (ขวา) (จาก The Japan Times/Shuhei Azuma Office)
ช่วงปลายปี 2024 เทศบาลนครชิโจนาวาเตะ จังหวัดโอซากะ ประเทศญี่ปุ่น ได้จัดการเลือกตั้งนายกเทศมนตรี แทนตำแหน่งของชูเฮ อาซูมะ ที่ดำรงตำแหน่งมาแล้ว 2 สมัย
ในการเลือกตั้ง อาซูมะและกลุ่ม Shijonawate People Power ที่เขาสังกัด ได้เปิดรับสมัครผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งจากทั่วประเทศ ผ่านแพลตฟอร์มหางานออนไลน์ En Japan เพื่อคัดเลือกผู้ที่กระหายจะทำหน้าที่นายกเทศมนตรีมาพัฒนานครชิโจนาวะเตะและสานต่องานของอาซูมะ โดยไม่จำกัดอุดมการณ์ทางการเมือง
จากผู้สมัครกว่า 200 คน ผู้ที่ได้รับคัดเลือกคือ ยูจิ ชิโนฮาระ อดีตบุคลากรสหประชาชาติวัย 38 ปี แต่ด้วยปัญหาสุขภาพ ชิโนฮาระจึงถูกแทนที่ด้วย โช เซนิยะ อดีตพนักงานเทศบาลนครชิโจนาวาเตะวัย 36 ปี ผลคือ เซนิยะชนะการเลือกตั้ง และกลายเป็นนายกเทศมนตรีญี่ปุ่นคนแรกที่ถูกคัดเลือกผ่านแพลตฟอร์มหางานออนไลน์
การเลือกใช้แพลตฟอร์มหางานออนไลน์ของอาซูมะและกลุ่ม Shijonawate People Power นี้ เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์การเลือกตั้งท้องถิ่นแบบไร้คู่แข่งหรือมีผู้สมัครรับการเลือกตั้งเพียงคนเดียวในญี่ปุ่น ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงสี่ปีก่อนหน้า และเริ่มมาสุกงอมในการเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วประเทศเมื่อปี 2023 ที่พบว่ามีจำนวนมากกว่าการเลือกตั้งทั่วประเทศครั้งก่อนถึง 2 เท่า โดยส่วนใหญ่เกิดในเทศบาลขนาดเล็กในชนบทที่กำลังเผชิญปัญหาประชากรลดลงฉับพลัน และจังหวัดที่เทศบาลเหล่านั้นตั้งอยู่
ผลคือ มีนายกเทศมนตรี 96 คน และสมาชิกสภาท้องถิ่น 2,057 คนชนะการเลือกตั้งโดยไม่ต้องแข่งขันกับใคร ขณะที่ชาวญี่ปุ่นที่มีสิทธิ์เลือกตั้งเกือบ 1 แสนคนไม่มีตัวเลือกในการเลือกตั้งครั้งนั้น
สำนักข่าว Nikkei Asia กล่าวว่า เหตุที่ทำให้การเลือกตั้งท้องถิ่นแบบไร้คู่แข่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเกิดจากสามปัจจัยสำคัญ ได้แก่ 1) จำนวนประชากรญี่ปุ่นที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง 2) วงการการเมืองท้องถิ่นที่มี ‘เสน่ห์’ ลดลง ไม่สามารถสื่อสารกับสาธารณะและดึงดูดคนรุ่นใหม่ได้ และ 3) การทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติของสภาท้องถิ่นล้มเหลวในหลายพื้นที่
ในส่วนของอาซูมะ ผู้ผ่านการเป็นนายกเทศมนตรีสองสมัยและเคยลงสมัครแบบอิสระ ได้ให้น้ำหนักกับอีกสองปัจจัย นั่นคือ ความยากในการเข้าสู่สนามการเมืองท้องถิ่นของบุคคลทั่วไป และวัฒนธรรมการเมืองญี่ปุ่นที่ไม่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชน
การเพิ่มขึ้นของการเลือกตั้งแบบไร้คู่แข่งนี้ ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าจะยิ่งทำให้ความไว้วางใจและความสำคัญของการเมืองท้องถิ่นญี่ปุ่นถูกลดทอนลงจนไม่สามารถดึงดูดคนหน้าใหม่มาเติมเต็มระบบได้ นำไปสู่ข้อเสนอต่าง ๆ เพื่อออกจากวิกฤตินี้ก่อนสายเกินไป ทั้งการเรียกร้องให้รัฐแก้ไขกฎระเบียบและสภาพแวดล้อมให้ประชาชนเข้าสู่ระบบการเมืองท้องถิ่นได้ง่ายขึ้น การเพิ่มค่าตอบแทนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองท้องถิ่นให้เหมาะสม หรือการลดจำนวนสมาชิกสภาท้องถิ่นลง เป็นต้น
สำหรับอาซูมะ ได้เสนอว่า ต้องเร่งสร้างช่องทางการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และเพิ่มพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางการเมืองสำหรับประชาชน ซึ่งการใช้แพลตฟอร์มหางานมารับสมัครผู้ลงเลือกตั้งก็ถือเป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดช่องทางและพื้นที่ดังกล่าว เพราะนอกจากจะเป็นการเปิดให้คนทั่วประเทศที่อยากเป็นนายกเทศมนตรีมา ‘ปล่อยของ’ แสดงวิสัยทัศน์และคว้าโอกาสเข้าสู่ตำแหน่งแล้ว ในอีกมิติหนึ่งก็เป็นพื้นที่สะท้อนคุณสมบัติผู้นำท้องถิ่นญี่ปุ่นที่ต้องการ และแลกเปลี่ยนบทสนทนาทางการเมืองไปในตัวด้วย
อย่างไรก็ตาม กิจกรรมนี้ก็ถูกตั้งคำถามว่า จะนำไปสู่การสร้างพื้นที่กลางทางการเมืองให้ประชาชนทุกกลุ่มมีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่นได้จริงหรือไม่ เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่ดำเนินการโดยกลุ่มการเมืองเพียงกลุ่มเดียว และยังเสี่ยงที่จะถูกมองว่า เป็นกิจกรรมที่นำตำแหน่งนายกเทศมนตรีมาสืบทอดอำนาจของอาซูมะเองด้วย
คำถามนี้อาจไม่สามารถหาคำตอบได้ในเร็ววันและคงต้องรอดูผลในระยะยาว แต่คุณูปการหนึ่งจากกรณีนี้ คือการทำให้เราได้เห็นความพยายามในการแก้ปัญหาการเลือกตั้งแบบไร้คู่แข่งด้วยเครื่องมือร่วมสมัย กระตุ้นให้เกิดการฉุกคิดถึงความสำคัญของหลักการว่าด้วยความหลากหลายของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งท้องถิ่น ที่กล่าวกันว่าหากมีจำนวนและความหลากหลายเพียงพอ จะช่วยให้ประชาชนมีตัวแทนที่สามารถสะท้อนความต้องการของตนอย่างทั่วถึง และนำไปสู่การพัฒนาการบริหารจัดการท้องถิ่นในระยะยาว
คุณูปการนี้ชวนให้เรากลับมาสำรวจการเลือกตั้งท้องถิ่นในไทยเช่นกัน ว่าที่ผ่านมาเกิดปรากฏการณ์เช่นนี้บ้างหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน และส่งผลต่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างไร
คอลัมน์ : รอบรั้วสถาบันพระปกเกล้า โดย : ศูนย์สื่อสารองค์กร
เขียนโดย พงศ์ปรีดา ลิ้มวัฒนะกุล วิทยาลัยพัฒนาการปกครองท้องถิ่น สถาบันพระปกเกล้า