ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
อปท.เชิญเป็นแขก ย้อนกลับ
มนวิภา จูภิบาล กรรมการ บริษัท ไอเอ็นดีสเปซ จำกัด
18 ก.ค. 2566

การสร้างธุรกิจให้สำเร็จในปัจจุบัน ใครหลายคนอาจมองว่าความสำเร็จถูกวัดจากเม็ดเงินหรือผลกำไรของบริษัทนั้นๆ แต่ด้วยยุคสมัยที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สังคม และคุณภาพชีวิตมากขึ้น การเปิดโรงงานหรือธุรกิจที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ ย่อมไม่สร้างผลดีต่อภาพลักษณ์ของบริษัท และอาจส่งผลเสียต่อรายได้ของธุรกิจในระยะยาว

ด้วยเหตุนี้จึงเกิดแนวคิด ESG (Environment, Social, และ Governanc) หรือการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน โดย ESG ได้รับความนิยมจากนักลงทุนทั่วโลกในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นแนวคิดที่นักลงทุนใช้ประกอบการพิจารณาลงทุน โดยให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจที่คำนึงถึงความรับผิดชอบ 3 ด้านหลัก คือ สิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี สร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ธุรกิจ ด้วยการสะท้อนบทบาทความรับผิดชอบของธุรกิจที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสีย และการนำเสนอผลการดำเนินงานเพื่อพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน

อปท.นิวส์เชิญเป็นแขกฉบับนี้ จึงขอพาทุกท่านไปพบกับคุณมนวิภา จูภิบาลกรรมการ บริษัท ไอเอ็นดีสเปซ จำกัด ผู้ขับเคลื่อน ESG ให้องค์กรต่างๆ มาแล้วกว่า 20 ปี และยังเป็นผู้สร้างสรรค์โครงการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอีกจำนวนมาก ที่สนับสนุนให้องค์กรธุรกิจไม่เพียงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง แต่ยังทำให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนในระยะยาว

โดยนางสาวมนวิภา จูภิบาล กรรมการ บริษัท ไอเอ็นดีสเปซ จำกัด เปิดเผยว่าเป็นชาวภูเก็ต หลังจบมัธยมต้น ได้ย้ายมาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร เรียนมัธยมปลายที่โรงเรียน บดินทรเดชา(สิงห์ สิงหเสนี) จบการศึกษาปริญญาตรีครุศาสตร์บัณฑิต (การสอนภาษาอังกฤษและธุรกิจ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2522และปริญญาโทอักษรศาสตร์มหาบัณฑิต (ภาษาอังกฤษ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2524

หลังจบการศึกษาเข้าทำงานที่การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยเมื่อ ปี 2524 ซึ่งเป็นปีที่ 3 ของการก่อตั้งองค์กร ปัจจุบันคือบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เริ่มทำงานในฝ่ายก่อสร้าง ซึ่งขณะนั้นกำลังดำเนินโครงการก่อสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติโรงแรกที่จังหวัดระยอง จากนั้นย้ายไปทำงานที่สำนักผู้ว่าการ ปตท.ในส่วนงานวิเทศสัมพันธ์ และเป็นเลขานุการประธานกรรมการ ปตท. และผู้ว่าการ ปตท. ในช่วงที่ผู้ว่าการ ปตท.คือ ดร.อาณัติ อาภาภิรมและเมื่อไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในปี 2534-2535 ก็ได้ติดตามไปเป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการ จากนั้นกลับมาทำงานที่ ปตท. และได้ศึกษาเพิ่มเติมหลักสูตรปริญญาโทรัฐศาสตร์มหาบัณฑิต (การสื่อสารทางการเมือง) ที่วิทยาลัยสื่อสารทางการเมือง มหาวิทยาลัยเกริกปี 2549

นอกจากทำงานที่ ปตท.คุณมนวิภา ยังมีโอกาสไปทำงานที่บริษัทมหาชนในกลุ่ม ปตท.ในสายงานสื่อสารองค์กรความรับผิดชอบต่อสังคม และสายงานกิจการองค์กร (Corporate Affairs) ตั้งแต่บริษัท ATC, PTTAR และ IRPC การทำงานในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง 7 ปี ทำให้ได้ลงมือทำงานชุมชนสัมพันธ์อย่างจริงจัง โดยเฉพาะในช่วงการก่อสร้างโครงการปิโตรเคมีขนาดใหญ่ของ PTTARเป็นกรรมการ บริษัท สานพลัง วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด กรรมการ บริษัท เทคโนโลยี ไออาร์พีซี จำกัด และ เกษียณในตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักกิจการองค์กร IRPCในปี 2561 โดยคุณมนวิภา กล่าวอีกว่า   

“ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ได้ทำงานมาหลากหลาย อาทิ งานเลขานุการบริษัท (Company Secretary) งานประชาสัมพันธ์ ส่งเสริมภาพลักษณ์ และสื่อสารองค์กรธุรกิจ วางระบบงานเพื่อให้ข้อมูลแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มอย่างเพียงพอและโปร่งใส บนพื้นฐานของหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี และแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับบริษัทโดยเร่งด่วนเมื่อมีเหตุที่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อภาพลักษณ์อีกทั้งเคยทำงานCSR วิเคราะห์ วางแผน ออกแบบงาน CSR ให้เหมาะกับธุรกิจ โดยใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า ครอบคลุมผู้มีส่วนได้เสียของบริษัทตามกรอบเวลาที่เหมาะสม เช่น โครงการขาเทียม ใช้เม็ดพลาสติกซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัทในการทำขาเทียม โครงการลำไทรโยงโมเดล แก้ปัญหาน้ำแล้งในชุมชนอีสาน โครงการถังขยะพับได้ สนับสนุนความสะอาด ความเป็นระเบียบให้กรุงเทพมหานคร บริษัทได้รับรางวัลทั้งในประเทศและในระดับสากลหลายรางวัลต่อเนื่องทุกปี เช่น Golden Peacock Awards : CSR จาก The Institute of Directors (IOD), India จัดที่ประเทศอังกฤษรวมไปถึงงานด้านการจัดการด้านความยั่งยืน ( Sustainability Management )  วางแผนและดำเนินงานด้านEnvironment, Social, Governanceหรือ ESG”

คุณมนวิภา ได้เล่าเสริมถึงการทำงาน ESGอีกว่าการทำ ESG เป็นการดำเนินธุรกิจโดยผนวก บทบาทองค์กรด้านความรับผิดชอบต่อสังคมสิ่งแวดล้อม และการกำกับดูแลกิจการที่ดีเข้าไปในกลยุทธ์ธุรกิจตั้งแต่ต้นESG ช่วยให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาชาติ UNSDGs17และเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญของการประเมินDow Jones Sustainability Index : DJSIที่ผ่านมาได้ริเริ่มโครงการ Cubic Academy ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาความรู้ด้าน  ESG: Environment, Social, Governanceแก่พนักงานและบุคคลภายนอกที่ IRPCมาก่อนและยังคงเป็นโครงการที่บริษัททำต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน

ซึ่งปัจจุบันคุณมนวิภา ยังคงทำงานเกี่ยวกับ ESG โดยดำรงตำแหน่ง กรรมการ บริษัท ไอเอ็นดีสเปซ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผลิต software รวมถึงผลิตApplication เกี่ยวกับการส่งเสริมการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Corporate Governance) การต่อต้านคอรัปชั่น และ ESG  สำหรับบริษัทต่างๆหรือที่เรียกว่า การทำmodern governance ซึ่งช่วยให้บริษัทสามารถจัดการเรียนการสอนให้พนักงาน ให้ข้อมูลที่จำเป็น บันทึกเส้นทาง และติดตามผลการดำเนินงานผ่าน Application ได้อย่างเป็นระบบ ทำให้ประเมินผลได้อย่างถูกต้อง โปร่งใส มีหลักฐานที่ตรวจสอบได้ใช้ในการวิเคราะห์เพื่อการพัฒนาในขั้นต่อไปและใช้สำหรับการรายงานผลต่อผู้มีส่วนได้เสีย

อย่างไรก็ตามประโยชน์สูงสุดของ modern governance คือการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี และการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนให้องค์กรนอกจากนั้น ยังทำงานที่ปรึกษาด้าน เลขานุการบริษัทและการกำกับดูแลกิจการที่ดี

“หลักคิดพื้นฐานของESGที่ประชาคมโลกเรียกร้อง และเข้าประชิดเรามากขึ้นเรื่อยๆก็คือ ในอนาคตธุรกิจไม่สามารถดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืนด้วยผลกำไรเพียงอย่างเดียวหากแต่จะต้องทำธุรกิจโดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดีด้วย ตัวอย่างเช่น บริษัทที่ไม่มีการดำเนินการด้าน ESG เลย อาจเกิดการต่อต้านจากประชาชน ธุรกิจเสียภาพลักษณ์ เสียค่าใช้จ่ายมากขึ้นส่งผลเสียโดยรวมจนอาจไปถึงธุรกิจต้องหยุดชะงัก แต่ถ้าธุรกิจประเมินและออกแบบให้ESG อยู่ในแผนธุรกิจตั้งแต่ต้นจะเป็นการลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ เช่น การลงทุนทำโรงงาน ก็ต้องคำนึงถึงการยอมรับของชุมชนบริษัทจะดูแลพวกเขาอย่างไร หากเกิดปัญหาจะมีวิธีการเยียวยาอย่างไร มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในกรอบที่กฎหมายกำหนดหรือไม่และชุมชนรับได้แค่ไหน เป็นต้น”

“ปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้ความสำคัญและมีการประเมินผลด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียน อีกทั้งองค์กรอื่นๆอาทิ รัฐวิสาหกิจ บริษัทจำกัด ให้ความสำคัญกับ ESG กันมากขึ้นเรื่อยๆ โดยตั้งเป้าหมายที่ท้าทายต่างกันตามความเหมาะสมของธุรกิจ”คุณมนวิภา พูดถึงความสำคัญและประโยชน์ที่ผู้ประกอบการจะได้รับจากการทำ ESG

เมื่อถามถึง CSR และ ESG มีความแตกต่างกันอย่างไร คุณมนวิภา กล่าวว่า “CSR เป็นเรื่องของความรับผิดชอบต่อสังคม หากเป็นธุรกิจก็คือการทำธุรกิจโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อชุมชนและสังคมโดยรวม มีแผนการบริหารจัดการผลกระทบต่อกลุ่มเป้าหมายต่างๆนอกจากนั้นยังส่งเสริมสนับสนุนให้ชุมชนและสังคมมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเพื่อให้เติบโตคู่ไปกับธุรกิจเช่น ส่งเสริมด้านการศึกษา การงานอาชีพ สุขอนามัย หรือสภาพแวดล้อม การทำ CSR ไม่จำกัดเฉพาะธุรกิจ องค์กรอื่นๆหรือประชาชนทั่วไปก็ทำ CSR ได้ในรูปแบบต่างๆ ปัจจุบันสังคมไทยนิยมทำกิจกรรมCSR หรือจิตอาสากันมาก”

“CSR เป็นคำที่บัญญัติขึ้นก่อน ส่วนESGมีความหมายที่กว้างขึ้น รวบเอา 3 ปัญหาใหญ่ของโลกมาไว้ด้วยกันทั้งเรื่องของE การจัดการสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยแก้ปัญหาClimate ChangeS การจัดการด้านสังคมที่มีปัญหาเช่น ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ สิทธิมนุษยชน การศึกษา และ G การกำกับดูแลกิจการที่ดีที่รวมถึงปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น จะเรียกว่าCSRเป็นส่วนหนึ่งของ ESG ก็ว่าได้ บริษัทที่ทำESG ได้ดีมีประสิทธิภาพนอกจากจะช่วยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนแล้วยังเป็นการยกระดับองค์กรสู่มาตรฐานสากลมากขึ้นด้วย”คุณมนวิภา กล่าว

คุณมนวิภา ได้กล่าวทิ้งท้ายอีกว่า สำหรับผู้ที่สนใจและอยากทำงานด้านESGหรืองานใดก็ตามให้มีประสิทธิภาพนั้น หลักสำคัญคือต้องมีความรักในสิ่งที่ทำ เพราะการทำงานที่ชอบจะทำให้เกิดพลังและเกิดการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา ซึ่งตัวเองเห็นความสำคัญของงานด้านสังคมด้านการพัฒนาองค์กร และชอบการทำงานในเชิงสื่อสารและสร้างสรรค์จึงนับเป็นความโชคดีที่ได้ทำงานในสายนี้

เพราะการทำงาน ESG ในบริษัท ต้องรังสรรค์โครงการต่างๆ ภายใต้งบประมาณที่จำกัดเป้าหมายจึงไม่เพียงแต่ทำให้สำเร็จลุล่วงไปตามวัตถุประสงค์เท่านั้น แต่ยังต้องสร้างผลลัพธ์ที่คุ้มค่าที่สุด ได้ประโยชน์สูงสุดในหลายมิตินอกเหนือไปจากด้านสังคม สิ่งแวดล้อม เช่น โครงการขาเทียม ผู้พิการได้ประโยชน์โดยตรง มูลนิธิขาเทียมได้ทำงานที่เป็นประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ ขณะที่บริษัทเองก็ได้ใช้ผลิตภัณฑ์ในการช่วยแก้ปัญหาสังคม ช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้บริษัทหรือ จะเป็นโครงการด้านสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการลำไทรโยง โมเดล ขุดอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ภาคอีสาน ช่วยให้คนในชนบทมีน้ำใช้เพียงพอ ขณะที่พนักงานได้ใช้ศักยภาพในด้านวิศวกรรมเพื่อช่วยเหลือสังคมเป็นต้น

และด้วยการทำงาน ESG ที่ต้องเชื่อมโยงกับความรู้สึกของคนในพื้นที่และผู้มีส่วนได้เสียหลายกลุ่มเป็นสำคัญ หลายๆ ครั้ง ย่อมเกิดอุปสรรคหรือความท้าทายในการทำงานอย่างแน่นอน วิธีรับมือคือการตั้งสติและหาต้นตอของปัญหา เพราะบางครั้งปัญหาที่เกิดขึ้น อาจไม่ใช่ปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า แต่เกิดจากความสัมพันธ์เชื่อมโยงอยู่เบื้องหลังดังนั้นจึงต้องค้นหาสาเหตุของปัญหาว่าคืออะไร ดูให้รอบด้านเสียก่อน ก่อนที่จะใช้องค์ความรู้ไปแก้ปัญหา

 

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...