การแพทย์เป็นหนึ่งในระดับความสำคัญของการดำรงชีวิตอยู่ของมนุษยชาติ ซึ่งนอกจากตัวนายแพทย์ผู้ทำการรักษาแล้ว อุปกรณ์ทางการแพทย์แน่นอนย่อมมีความสำคัญไม่แพ้กัน ยิ่งในยุคสมัยใหม่นี้ด้วยแล้ว อุปกรณ์ทางการแพทย์ได้พัฒนาไปได้รวดเร็วยิ่ง
อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทยเราแล้ว กล่าวกันได้ว่า ด้านการแพทย์ไม่แพ้ชาติใดอย่างแน่นอน ถึงขั้นวางแนวทางขึ้นเป็นศูนย์กลาง หรือ ฮับทางด้านการแพทย์ของภูมิภาค แต่กระนั้นไทยเราเองก็ยังมีปัญหาด้านการผลิตอุปกรณ์การแพทย์อยู่ไม่น้อย
วันนี้ อปท.นิวส์ เชิญเป็นแขก จึงขอนำท่านผู้อ่านมารู้จักกับนายแพทย์หนุ่มท่านหนึ่ง ที่มากไปด้วยความสามารถ และแรงบันดาลใจอย่างล้นเหลือเพื่อการพัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่สำคัญๆ ให้สามารถผลิตใช้ได้เองในประเทศ เพราะคุณหมอท่านนี้เป็นทั้งนายทหาร นายแพทย์ และนักประดิษฐ์คิดค้น ที่หาได้อยากยิ่งนักในวงการแพทย์ไทย
ครับ ... เรากำลังจะกล่าวถึง นาวาเอก นายแพทย์ เถลิงเกียรติ แจ่มอุลิตรัตน์ หัวหน้างานกลุ่มงานรังสีวิทยา แห่งโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า ซึ่งคุณหมอนักประดิษฐ์ ในวัย 46 ปี ผู้นี้ เริ่มเล่าให้เราฟังว่า ตัวคุณหมอเป็นคนนนทบุรี คุณพ่อเป็นข้าราชการตำรวจ ส่วนคุณแม่เป็นคุณครู ชั้นประถมศึกษา เรียนที่โรงเรียนพันธะวัฒนา จนจบประถมศึกษา 6 ก็มาต่อมัธยมต้นที่โรงเรียเบญจมราชานุสรณ์ ที่จังหวัดนนทบุรี ส่วนในระดับมัธยมปลายสอบติดเข้าเรียนต่อได้ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา สอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย (สอบเอนทรานซ์) เข้ามาติดที่วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า โดยคุณหมอบอกว่า ตั้งธงที่จะเรียนหมอมาตั้งแต่เรียนอยู่ในระดับมัธยมแล้ว ขณะที่คุณพ่ออยากให้รับราชการทหารหรือตำรวจ ส่วนคุณแม่อยากให้เรียนหมอ ดังนั้น ก็เลยคิดว่า มาเป็นหมอทหารซะเลย ก็เลยนำมาสู่การสอบเข้าวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์พระมงกุฎเกล้า
“ก็เรียนแพทย์ที่วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์พระมงกุฎเกล้าอยู่ 6 ปี โดย 3 ปีแรกเป็นชั้น pre-clinic แล้วอีก 3 ปี ก็เป็นชั้น clinic (คลินิก) ชั้น pre-clinic ก็ยังมีแยกย่อยอีก คือปีแรกจะเรียน basic science (วิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐาน) ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และปีที่ 2- 3 ก็กลับมาเรียนที่วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์พระมงกุฎเกล้าครับแล้วก็ปี 4 -5- 6 ก็ขึ้นชั้นคลินิกที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าครับ ส่วนการมาเลือกจะไปเหล่าทัพไหน บก เรือ อากาศ ก็จะมาเลือกในปีสุดท้าย ใครคะแนนสูงก็เลือกก่อน”
ส่วนการเลือกจะเป็นแพทย์ด้านใด คุณหมอ บอกว่า ก่อนจะไปเลือกด้านใดได้ ก่อนอื่นหลังจบแล้วเราต้องกลับไปทำงานใช้ทุนก่อน 3 ปี ตามโรงพยาบาลค่าย โรงพยาบาลชนบท แล้วถึงกลับมาเลือกสาขา คือตอนนั้นเราจะได้รู้ว่า เราจะไปด้านใดต่อ โดยขอคุณหมอตอนใช้ทุนครั้งแรกไปเป็นแพทย์อยู่ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ทีสัตหีบ ชลบุรี หลังจากที่เลือกเหล่ามาอยู่ที่ทัพเรือ โดยคะแนนดีได้เลือกก่อน และอีกอย่างที่เลือกทัพเรือ เพราะทหารเรือมีพื้นที่ใช้ทุนอยู่ไม่ไกล มีแค่กรุงเทพฯ – ชลบุรี-จันทบุรี ก็อยู่ใช้ทุนที่โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ยู่ 1 ปี พอปีที่ 2 ก็ไปเป็นผู้บังคับกองร้อยพยาบาล กองกำลังป้องกันชายแดนด้านจันทบุรี-ตราด ส่วนในปีที่ 3 ก็กลับมาอยู่ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า ตอนนั้นอายุก็ประมาณ 20 กว่าๆ เอง
“แรกๆ ก็มาทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยที่ห้อง ICU ผู้ป่วยฉุกเฉิน เพื่อฝึกประสบการณ์ แล้วก็เป็นช่วงที่เราจะถามตัวเองว่า อยากเรียนอะไร เราอยากเป็นหมออะไรอย่างนี้ คือในช่วงใช้ทุนนี่ เราจะเป็นเหมือนแพทย์ฝึกหัด เป็นแพทย์ทั่วไป เขาเรียกเป็น GP หรือ General physician ก็คือเราจะต้องดูทุกอย่าง ทำคลอดได้ ผ่าไส้ติ่งได้ ทำแผลได้ ทำอะไรได้หมด เป็นแบบหมอทั่วไป พอเราจบปีที่ 3 ก็ต้องเลือก และว่าจะเรียนต่อเฉพาะทางอะไร เพื่อจะได้ไปสอบเข้าต่อ”
และคุณหมอก็มาเลือกสาขารังสีวิทยา เกี่ยวกับเรื่องของการแบบอ่านฟิล์ม เรื่องของอ่านเอกซเรย์ เรื่องของการแปลผลภาพ ที่เราเรียกว่า radiologist หรือว่า รังสีแพทย์ จะดูเกี่ยวกับเรื่องของการตรวจอัลตร้าซาวด์ ดูเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การดูภาพเอกซเรย์คนไข้ ฯลฯ
ส่วนทำไมถึงเลือกมาด้านนี้ คุณหมอบอกว่า สมัยก่อนมีหน่วยหรือสาขาวิชาที่เรียกว่า รังสีร่วมรักษา หรือที่เรียกว่า Body intervention หรือภาษาไทยก็คือ รังสีร่วมรักษาส่วนลำตัว ซึ่งคุณหมอผมสนใจสาขานี้มาตั้งแต่สมัยใช้ทุนปีที่ 3 ตอนต้นๆ และเพราะสาขานี้เป็นสาขาที่ใช้องค์ความรู้ทางด้านรังสีในการช่วยผ่าตัด ในการช่วยเข้าไปรักษาคนไข้โดยที่ไม่ต้องผ่าตัดใหญ่ เขาเรียกว่า ฟื้นตัวไว แผลเล็ก เจ็บน้อย อย่างไรก็ตาม คนที่จะมาเรียนสาขาหรือต่อยอดตรงนี้ได้ จะต้องจบรังสีแพทย์ก่อน ถึงจะมาเรียนตรงนี้ได้
“ความสำคัญของมัน ก็คือว่าเราสามารถใช้เครื่องเอกซเรย์ อัลตร้าซาวด์ ซีทีสแกน นำทาง อย่างเช่น มีก้อนมีหนองอยู่ในตับ ถ้าเกิดเป็นคุณหมอผ่าตัด ก็จะผ่าตัดเปิดเข้าไปเลยแบะท้องออก แต่ถ้าเกิดเป็นหมอประเภทนี้ รังสีร่วมรักษาส่วนลำตัว เราจะใช้เครื่องเอกซเรย์นำทาง เอ๊ะเข้าตรงไหนดีนะ โอเคเจาะรูนิดเดียวเข้าไปปุ๊บถึงก้อน ต่อสายดูดออกมาคนไข้หาย จากเดิมนอนโรงพยาบาลเดือนหนึ่งเหลือแค่ 2 วัน ผมก็รู้สึกชอบ เอะมันเป็นวิชาที่ดีนะ เราน่าจะทำอะไรกับการพัฒนาเรื่องของนวัตกรรม เรื่องของการรักษาคนไข้ได้เยอะ ถ้าเราเรียนวิชานี้ แต่เราก็ต้องผ่านรังสีแพทย์ก่อน”
“เราต้องรู้จักเครื่องมือเอกซเรย์ รู้จักเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ รู้จักเครื่องมือทั้งหมดของแพทย์ก่อน ซึ่งวิชารังสีแพทย์จะเกี่ยวข้องกับเครื่องมือเยอะ ก็เลยเลือกเรียนรังสีแพทย์ที่ โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย ขณะที่ก็ยังเป็นแพทย์อยู่ที่สมเด็จพระปิ่นเกล้า โดยขอลาไปเรียนต่ออีก 3 ปี”
หลังจากนั้นก็ต้องกลับมาทำงานใช้ทุนอีก 2 ปี ในหน้าที่รังสีแพทย์ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า หลังจากนั้นก็ไปเรียนต่อที่จุฬาฯ กับพระมงกุฎฯ อีกแห่งละ 1 ปีในสาขารังสีร่วมรักษา คือที่จุฬาฯ เรียนเรื่อง อัลตร้าซาวด์หลอดเลือด อีก 1 ปี ไปเรียนรังสีร่วมรักษาส่วนลำตัวที่พระมงกุฎฯ หลังจากจบก็กลับมาอยู่ที่สมเด็จพระปิ่นเกล้า
สำหรับจุดเริ่มต้นที่ไปทีมาของการเข้ามาสู่การเป็นนักประดิษฐ์คิดค้นเครื่องมือทางการแพทย์ คุณหมอเถลิงเกียรติ บอกว่า หลังจากเรียนเฉพาะทางต่อยอดมาจากจุฬาฯและพระมงกุฎเกล้า แล้วกลับมาอยู่ที่สมเด็จพระปิ่นเกล้า จนถึงปัจจุบัน 12 ปี ก็ทำงานอยู่ 2 ด้าน คือด้านรังสีวิทยาด้วย ส่วนอีกด้านหนึ่งก็ทำงานทางด้านรังสีร่วมรักษาส่วนลำตัวไปด้วย และในระหว่างการทำงานด้านรังสีร่วมรักษาส่วนลำตัว เกิดมีอุปกรณ์ที่เกิดข้อขัดข้องที่ไม่สมบูรณ์ เพราะเป็นหมอที่ต้องใช้อุปกรณ์เยอะ ไม่ว่าจะเป็นการเจาะตัดชิ้นเนื้อที่ต้องใช้เข็มตัดชิ้นเนื้อที่ตับที่ปอด ต้องมีการใช้อุปกรณ์ป้องกันรังสี มีการใช้เครื่องมือในการให้ยามะเร็ง พูดง่ายๆ ว่า อุปกรณ์ทุกอย่างที่อยู่ในหน่วยนำเข้า 100% เป็นอุปกรณ์ที่เราเสียดุลการค้าต่างชาติ ไม่มีประเทศไทยผลิตเองเลย
“ในช่วงที่ผมเรียนอยู่ได้ทำเรื่องเรียนต่อในวันหยุดราชการ วันเสาร์-อาทิตย์ ไปเรียนทางด้าน เมดิคอล เอ็นจิเนียริ่ง (Medical Engineering) ปริญญาโทที่คณะวิศวกรรมเครื่องกลที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งในระหว่างเรียนได้พัฒนาคิดค้นมาเรื่อย เพราะชอบเป็นนักคิด นักประดิษฐ์ ตั้งแต่ในวัยเด็กแล้ว แต่ก็ได้ในระดับหนึ่ง เพราะเราไม่มีองค์ความรู้ แต่ก็ต้องการพัฒนาอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานมามช้เอง ก็เลยปรึกษาเพื่อนที่เป็นวิศวกร เขาก็แนะนำให้ไปเรียนต่อ จะได้ทำเองได้ลึก เลยตัดสินใจเรียนวิศวะกับแพทย์ไปเลย เพื่อจะได้มาผลิตอุปกรณ์ขึ้นใช้เอง แล้วก็มันก็เลยเกิดเป็นอุปกรณ์ขึ้นมามากมาย”
สำหรับผลงานเด่นๆ คุณหมอเถลิงเกียรติ บอกว่า ชิ้นแรกที่จะแนะนำคือ อุปกรณ์ป้องกันรังสี ซึ่งปกติเราจะใส่เป็นชุดตะกั่ว เป็นเสื้อตะกั่วป้องกันรังสี เวลาใส่ทำงานหนักมาก ประมาณตัวหนึ่ง 10 กิโลกรัม คุณหมอก็ออกแบบเป็นตู้ป้องกันรังสีที่สามารถใช้ทำงานในห้องผ่าตัดได้โดยที่ไม่ต้องใส่ชุดตะกั่วเลย เดินเข้าไปถึงสวมมือเข้าไปทำงานได้เลย เป็นตู้ไทยตัวแรกที่ได้ทุนจากรัชการที่ 10 ในการสร้างสรรค์ผลงานด้วย หลังจากนั้นก็มีผลงานเรื่อยๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศและนานาชาติ 30-40 กว่ารางวัล
“นอกเหนือจากตู้ป้องกันรังสี ก็จะมีอุปกรณ์ช่วยตัดชิ้นเนื้อ อุปกรณ์เรเซอร์นำทางในการตัดชิ้นเนื้อ อุปกรณ์ช่วยจับเข็มเผาทำลายก้อนมะเร็งที่ตับ อุปกรณ์ให้ยาอัจฉริยะต้านมะเร็ง แล้วก็เป็นอุปกรณ์ระบายหนองและสารคัดหลั่งอัจฉริยะ ใช้ AI ช่วยทำงาน อันนี้เป็นอุปกรณ์ที่จดสิทธิบัตรหมดแล้ว แล้วก็มีการบางชิ้นก็มีการขายไปแล้วด้วย ผลิตโดยผู้ที่เข้ามาร่วมทุน เราทำงานร่วมกับสำนักงานวิจัยแห่งชาติ แล้วกับบริษัทเอกชนที่สนใจอุปกรณ์ทางการแพทย์”
คุณหมอเถลิงเกียรติ เล่าต่อด้วยว่า คุณหมอยังมาเรียนต่อปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยมหิดลด้าน science innovation ด้านการออกแบบนวัตกรรมวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะ คือฝึกมาเพื่อการดีไซน์แล้วการออกแบบอุปกรณ์โดยเฉพาะ ตอนนี้ก็คือเหลือแค่การตีพิมพ์ ตีพิมพ์เสร็จก็จะได้รับปริญญาเอก จริงๆ ปริญญาเอกนี่ก็เรียนมาพร้อมๆ กับปริญญาโท แต่โทจบก่อน
ต่อข้อถามถึง การให้ยาอัจฉริยะต้านมะเร็งคืออะไร คุณหมอเถลิง กล่าวว่า เข้ารียกว่า นวัตกรรมท smart med infusion system คือเป็นอุปกรณ์ช่วยให้ยาอัจฉริยะ คือ ต้องท้าวความก่อนว่า ปกติเราจะให้ยามะเร็งตับนี่ คุณหมอต้องผสมยาด้วยมือ แล้วฉีดให้คนไข้ที่นอนอยู่ โดยการให้ยาจะมีไอระเหย ถ้าเราผสมปุ๊บ ยามันกัดอุปกรณ์แล้วมันแตกออกมานี่ ไอระเหยนั้นจะทำร้ายคนไข้ แล้วก็ทำร้ายหมอด้วย ยาเคมีก็เหมือนยาพิษ ใส่เข้าไปก้อนมันตาย แต่เซลล์ปกติมันก็ตายด้วยเพราะยามันเป็นยาพิษเพื่อไปทำลายก้อนมะเร็ง แต่มันไม่ได้ฆ่าแค่ก้อนมะเร็ง มันฆ่าเซลล์ปกติด้วย เพราะฉะนั้นในระหว่างให้ยา ถ้ายามีไอระเหยออกมาแล้วเข้าไปที่ปอดหมอ ปลอดพยาบาลปอดคนไข้ ก็เป็นมะเร็งอีก ยาใส่เข้าไปเพื่อรักษามะเร็งตับ แต่เราสูดเข้าไปเราเป็นมะเร็งปอด อันนี้คือ Pain Point
“เพราะฉะนั้น ผมจะต้องทำอุปกรณ์ที่มันให้ยาแทนเรา เป็นเหมือนกับเครื่องให้ยาอัจฉริยะ คือเราเอายามาใส่เข้าไปในเครื่อง เครื่องคำนวณตามที่เราตั้ง ส่งยาเข้าไปให้คนไข้ผ่านสายสวนหลอดเลือดได้เลย ผมนั่งกดโทรศัพท์อยู่ข้างนอกสามารถจะควบคุมได้เลยโดยใช้ระบบ Bluetooth หมออยู่ข้างนอก ปลอดภัย กดเครื่องมือควบคุมผ่านบลูทูธ System เครื่องมี AI ช่วย ให้ยาได้เลย อันนี้คืออธิบายง่ายๆ ของระบบให้ยาอัจฉริยะ เป็นเครื่องให้ยาแทนหมอ แล้วก็จำนวนปริมาณยาก็แม่นยำ เพราะว่าเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ควบคุม จากปกติหมอฉีดกันเอง คนไข้ได้ยาไม่ครบก็ไม่หาย ตัวนี้ยาคำนวณครบเป๊ะ เพราะมันเป็น AI ระบบนี้ได้ทุนรัฐบาลไต้หวันมาพัฒนาร่วมกัน สำเร็จแล้ว เครื่องมีขายแล้วด้วย”
ต่อข้อถามว่า นอกเหนือจากที่บอกมา ตอนนี้มีพัฒนาอะไรอยู่บ้าง คุณหมอบอกว่า มีเยอะแยะเลยครับรณ์ มีเรื่องอุปกรณ์ช่วยกดหลอดเลือด เวลามีเลือดออกในห้องผ่าตัด มีเครื่องช่วยกดเหมือนหุ่นยนต์ มีอุปกรณ์จับเข็มในการตัดชิ้นเนื้อ เป็นงานช่วยการแพทย์ แล้วก็เป็นพวกสารแร่ธาตุกราฟีน เป็นเร่ธาตุชนิดใหม่ที่เอามาใช้แทนตะกั่วในการป้องกันรังสี แต่ก่อนเราต้องใส่เสื้อตะกั่วหนักๆ อันนี้เราสวมเป็นเสื้อกีฬาเข้าไปได้เลย อันนี้ก็เป็นอุปกรณ์ใหม่ที่เรากำลังทำอยู่
สำหรับการต่อยอดต่อไป คุณหมอบอกว่า ต่อยอดก็คือพยายามทำสิ่งใหม่ๆ ที่จะช่วยลดการนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์ของประเทศไทย อย่างเช่นพวกขวดระบายหนอง พวกนี้ประเทศไทยนำเข้าหมดเลย ขวดพลาสติกระบายสารคัดหลั่ง โดยใช้แรงดัน เขาเรียกขวด Negative Pressure dan ทำไปแล้ว แต่กำลังรอขั้นตอนการตรวจสอบคุณภาพ ถ้าเกิดพวกนี้ทำได้หมดจริง เราก็ลดการนำเข้า ใช้เอง บรรจุเข้าบัญชีนวัตกรรมไทย แล้วก็ใช้เองในประเทศ เราก็จะทำให้ประเทศไทยดีขึ้น พัฒนาขึ้น
คุณหมอเถลิงเกียรติ ยังกล่าวด้วยว่า โรงพยาบาลแต่ละแห่งจะเจริญไม่ได้ถ้าหน่วยงานเอกซเรย์ไม่แข็งแรง เพราะว่าหมอทุกคนก็ต้องใช้เอกซเรย์ในการวินิจฉัย นั่นเป็นสาเหตุหนึ่งที่ผมเลือกเรียนเอกซเรย์ เพราะเอกซเรย์คือตัวช่วยในการวินิจฉัยโรคของทุกแผนก เพราะฉะนั้น เอกซเรย์คือหัวใจของการพัฒนาโรงพยาบาล เอกซเรย์แข็งแรง การบริหารโรงพยาบาลทั้งหมดก็จะแข็งแรง
เราทิ้งท้ายถามถึงความฝันของคุณหมอเป็นอย่างไร คุณหมอเถลิงกียรติ บอกว่า ความฝันคือผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้เองในประเทศ ต้องทำให้ได้ แล้วก็ต้องทำให้เยอะด้วย คืออันไหนที่ทำไม่ได้ เราต้องทำให้ได้ ก็คือทำเองใช้เอง แล้วก็เป็นแบรนด์ของคนไทย อันนี้คือเป้าหมายของผมที่มุ่งมั่น คือเรื่องเติบโตในหน้าที่การงานผมเฉยๆ คือ เราไม่ได้เรียนมาแบบเพื่อสร้างโปรไฟล์ให้ตัวเอง หรือเพื่อจะเป็นอะไรสูงสุดของทางด้านยศฐาบรรดาศักดิ์
แต่ที่มันขับเคลื่อนเรา หรือเป็นแรงบันดาลใจ (passion) อยู่นี่ คือ การทำอุปกรณ์ ทำนวัตกรรม ทำเองใช้เอง หรือที่เรียกว่า Made in Thailand มันช่วยเราได้ อย่างที่เห็นชัดๆ ก็ช่วงโควิดที่ผ่านมา คนไข้เยอะมาก เราขาดขวดระบายสารคัดหลั่งออกจากปอด คือขวดมาจากจีน จีนไม่ส่งเพราะคนไข้จีนเยอะ จีนต้องระบายออกเอง ยุโรปก็ไม่ส่ง ทำให้เราไม่มีขวดที่จะใส่เพื่อระบายสารน้ำในปอด ซึ่งจากการที่ไม่มีขวดแค่นี้ ทำให้คนไข้ต้องเสียชีวิตแบบเยอะมาก ซึ่งอันนี้มันทำให้เป็นจุดที่เป็น passion ให้ผม เพราะเราเป็นคนรักษาคนไข้ด้วย ของแค่นี้เราไม่มี ปัจจุบัน ก็ทำเองได้แล้วอย่างที่บอก ก็อยู่ในขั้นตรวจสอบคุณภาพเท่านั้น