ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คอลัมนิสต์ประจำอปท.นิวส์ ย้อนกลับ
Net Zero กับอุตสาหกรรมพานิชย์นาวี
18 พ.ค. 2566

ESG Today โดย มนวิภา จูภิบาล กรรมการบริษัท วีอาร์ทวินส์ จำกัด

Net Zero กับอุตสาหกรรมพานิชย์นาวี

ธุรกิจการขนส่งสินค้าทางทะเลมีการเปลี่ยนแปลงเรื่อยมาตั้งแต่ในอดีต ในปี 2021 University Maritime Advisory Services (UMAS)  ได้จัดทำรายงานให้กับ Getting to Zero Coalition กลุ่มพันธมิตรในแวดวงการเดินเรือและห่วงโซ่คุณค่าด้านพลังงาน ร่วมกับภาคการเงินและหน่วยงานอื่นๆ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเรือที่มีการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ในเชิงพาณิชย์ เรื่อง “กลยุทธ์เพื่อเปลี่ยนผ่านการขนส่งสินค้าทางทะเลสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์” (Strategy for the Transition to Zero-Emission Shipping)

รายงานนี้เป็นงานวิจัยที่ครอบคลุมแนวปฏิบัติที่รัฐบาล อุตสาหกรรม และองค์กรระหว่างประเทศต้องดำเนินการ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ภายในปี 2593 มีข้อมูลเชิงลึกที่มีองค์ประกอบที่สำคัญประกอบด้วยข้อกำหนดทางการเมือง เทคนิค เศรษฐกิจ และการค้า ตลอดจนการดำเนินการที่จำเป็นเพื่อนำไปสู่เป้าหมายดังกล่าว

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงไปสู่ Zero-Emission Shipping จะเป็นโอกาสในการสร้างตลาด เทคโนโลยี และตำแหน่งงานใหม่ๆ ควบคู่ไปกับการสร้างประโยชน์แก่สังคมมากมาย รายงานได้ให้ข้อสรุปว่า แม้หนทางการใช้เชื้อเพลิงจะยังกำหนดล่วงหน้าไม่ได้ แต่ทางเลือกที่เกิดขึ้นในอนาคตนั้น จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้

สำหรับบริษัทเดินเรือที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย เช่น บริษัท พรีเชียส ชิพปิ้ง จำกัด (มหาชน) (PSL) จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อปี 2536 เป็นบริษัทเจ้าของเรือและบริหารจัดการเรือขนส่งสินค้าแห้งเทกอง ขนาดแฮนดี้ไซส์ ขนาดซุปราแมกซ์ และขนาดอัลตราแมกซ์ สำหรับขนส่งสินค้าแห้งเทกองในตลาดการเดินเรือแบบไม่ประจำเส้นทาง ได้ระบุไว้ในรายงานประจำปี 2565 ของบริษัทว่า บริษัทมุ่งหวังที่จะสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) โดยได้รวมเป้าหมายเหล่านี้ไว้ในการดำเนินธุรกิจเพื่อให้แน่ใจว่าธุรกิจของบริษัทจะเติบโตอย่างยั่งยืน

บริษัทมีเป้าหมายในปี 2573 ที่จะลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อเที่ยวการขนส่งสินค้า (เดทเวทตัน) ลงร้อยละ 40 ภายในปี 2573 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2551 ซึ่งเป็นปีฐาน และเป็นผู้ประกอบการขนส่งด้วยพลังงานใหม่ที่สนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและความเป็นกลางทางคาร์บอน  

ในปี 2565 PSL มีความพยายามที่จะดำเนินการเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายดังกล่าว โดย 1.เข้าร่วมกลุ่ม Getting to Zero Coalition 2.ลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อเที่ยวการขนส่งสินค้า (เดทเวทตัน) ลงร้อยละ 35.05 ในปี 2565 เมื่อเทียบกับปี 2551 3. วางแผนเส้นทางการเดินเรือของบริษัททุกลำเพื่อลดปริมาณการใช้เชื้อเพลิงและเพื่อเพิ่มความปลอดภัย และ 4. บรรลุเป้าหมายในการลดการใช้เชื้อเพลิงร้อยละ 5 ต่อลำเรือ โดยการติดตั้งท่อ wake equalizing ducts ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ติดบริเวณใบจักรเรือ เพื่อช่วยลดอัตราการกินน้ำมันบนเรือเพิ่มอีก 7 ลำ รวมทั้งสิ้น 18 ลำ

ดร.ทริสตัน สมิธ รองศาสตราจารย์จากสถาบันพลังงานแห่ง UCL กล่าวว่า “นับตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) ได้หารือถึงการใช้พลังงานที่ไม่ก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์กันอย่างกว้างขวาง เพื่อพิจารณาหาทางเลือกการใช้พลังงานในอุตสาหกรรม และโอกาสในการกำหนดราคาคาร์บอน” ในเดือนมิถุนายน 2564 IMO  ได้ออกมาตรการใหม่สองมาตรการเพื่อให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ในการบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อเที่ยวการขนส่งลงร้อยละ 40 ภายในปี 2573 และลดลงถึงร้อยละ 70 ในปี 2593 ได้แก่ 1) ดัชนีประสิทธิภาพพลังงานของเรือที่มีอยู่ 2) ดัชนีความเข้มข้นของคาร์บอนและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2566 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อร้อยละ 80 ของกองเรือทั่วโลก และท้าทายเจ้าของเรืออย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

ส่วน บริษัท อาร์ ซี แอล จำกัด (มหาชน) ( RCL) จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อปี  2531 ลักษณะธุรกิจคือ เป็นสายการเดินเรือที่ประกอบธุรกิจขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางทะเลที่มีฐานประกอบกิจการในประเทศไทย ดำเนินการ 3 สายธุรกิจ ได้แก่ 1. Shipper Owned Container 2. Carrier Owned Container และ 3. การให้บริการที่สร้างมูลค่าเพิ่มในด้านโลจิสติกส์ นอกจากดำเนินการตามแนวทางของ IMO RCL มีเป้าหมายในการจัดการด้านความยั่งยืนในมิติสิ่งแวดล้อมสำหรับปี 2566 อาทิ ลดความเร็วเรือเพื่อลดการสิ้นเปลืองพลังงาน ปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดการสินค้าเพื่อลดระยะเวลาเทียบท่า วางแผนการบรรทุกสินค้าให้คุ้มค่าที่สุด คอยตรวจสอบความสิ้นเปลืองน้ำมัน ควบคุมการทำงานของเครื่องจักรให้มั่นใจว่าสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ การใช้สารเคมีเพื่อปรับปรุงคุณภาพการเผาไหม้เพื่อการลดมลพิษ เรือที่มีแผนเข้าอู่ต้องขัดสีตัวเรือทั้งลำในแนวราบและแนวตั้งเพื่อลดพื้นผิวขรุขระและแรงเสียดทาน ใช้ระบบการนำเรือเพื่อให้ได้ข้อมูลเป็นปัจจุบันและใช้พลังงานให้คุ้มค่าที่สุด และขายเรือที่มีอายุการใช้งานมาก เป็นต้น 

คําถามตอนนี้คือ ทําอย่างไรอุตสาหกรรมและรัฐบาล จึงจะสามารถทํางานร่วมกันเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 มีนาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...