ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คอลัมนิสต์ประจำอปท.นิวส์ ย้อนกลับ
อัตลักษณ์จีนกับความทันสมัย
02 เม.ย. 2566

โลกของจีน โดย ชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ

อัตลักษณ์จีนกับความทันสมัย

ฉบับที่แล้วได้เขียนเรื่อง “ความทันสมัยสไตล์จีน” ซึ่งเป็นเป้าหมายของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่จะนำพาประเทศไปสู่ความทันสมัย ต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัย เติ้ง เสี่ยวผิง ผู้นำรุ่นที่ 2 ที่ประกาศนโยบาย “สี่ทันสมัย” ฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วยการไม่ติดยึดกับแนวคิดโบราณ เปิดกว้างในการแสวงหาโอกาสใหม่ๆ เปิดประเทศรับการลงทุนและเทคโนโลยีจากต่างชาติ  จนทำให้จีนเกิดการพัฒนาอย่างรวดเร็ว

แนวคิดดังกล่าว ถูกส่งต่อผู้นำแต่ละรุ่นจนถึง สี จิ้นผิง ผู้นำรุ่นที่ 5 ที่นำพาจีนก้าวกระโดดอย่างรวดเร็วในทางเศรษฐกิจ โดยมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นตัวนำ แต่ทั้งหมดอยู่ภายใต้การกำกับของพรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยมีการตั้งธงที่จะบรรลุความทันสมัยระยะแรกในปี 2020 - 2035  ระยะที่สอง ปี 2035-2050 จีนฝันว่า จะเข้าสู่ “ประเทศสังคมนิยมที่ทันสมัย

แต่เพราะมีการจัดสัมมนาที่นำคำว่า “ความทันสมัยแบบอัตลักษณ์จีน” มาให้วิทยากรหลายท่านกล่าวปาฐกถา มาเปิดวงเสวนา โดยวิทยากรแต่ละท่านได้แสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกันไป ผู้เขียนเห็นว่า คำนี้คงจะถูกใช้กันอีกยาวนานเช่นเดียวกับคำว่า “สังคมนิยมแบบอัตลักษณ์จีน” จึงขอร่วมแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมต่อเนื่องในฉบับนี้

คำว่า “อัตลักษณ์จีน” ในความเห็นของผู้เขียนไม่ใช่มองแค่ภาษาพูดหรือตัวอักษรจีนที่มีใช้มายาวนานหลายพันปี มิใช่แค่อาหารการกินที่ใช้ตะเกียบมากกว่าช้อนซ่อม มิใช่แค่การแต่งกายซึ่งเปลี่ยนไปตามยุคสมัย การใช้ชีวิตการเดินทางที่เมื่อก่อนคนจีนนิยมขี่รถจักรยานเต็มเมือง แต่ปัจจุบันอาศัยรถยนต์ รถไฟฟ้าและรถไฟความเร็วสูงที่สร้างเป็นเครือข่ายใยแมงมุมทั่วประเทศและเชื่อมสู่ต่างประเทศ

ภาพของคนจีนยุคใหม่ คือคนที่ปรับตัวได้อย่างรวดเร็วมาก พร้อมที่จะรับเทคโนโลยีใหม่ๆ และนวัตกรรมที่เกิดขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง การใช้มือถือสแกนคิวอาร์โค้ด กลายเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน จนสังคมจีนแทบกลายเป็นสังคมไร้เงินสด หรือการสั่งซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์ กลายเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศที่พัฒนาสู่การเชื่อมโยงค้าขายกับตลาดโลก  

บทบาทจีนในเวทีโลก คือการเป็นผู้นำของการพัฒนาเศรษฐกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างน่าทึ่ง จีนสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตคนในชาติหลายร้อยล้านคนให้ก้าวพ้นเส้นความยากจน ในขณะที่หลายประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้งยุโรปและสหรัฐอเมริกากลับมีคนยากจนเพิ่มขึ้น มีคนไร้บ้านนอนอยู่ตามฟุตบาทอันเนื่องจากความล้มเหลวทางเศรษฐกิจ    

แม้ว่าจีนจะเปลี่ยนจากเดิมมาก รายได้ประชากรเพิ่มขึ้น การศึกษาสูงขึ้น บ้านเรือนทันสมัยขึ้น การคมนาคมสะดวกรวดเร็วเทคโนโลยีล้ำยุค แต่อัตลักษณ์จีนที่ถูกปลูกฝังมายาวนานนับพันปีที่ยังสัมผัสได้ในปัจจุบัน คือแนวความคิดเรื่อง ความกตัญญูรู้คุณ ความซื่อสัตย์ การรักษาขนมจารีตประเพณี ความสามัคคี และความรักชาติ 

เมื่อจะพัฒนาความทันสมัยแล้วทำไมต้องมี “อัตลักษณ์จีน” ?

ก็เพราะมีตัวอย่างให้เห็นจากกรณีฮ่องกงและไต้หวัน ที่เคยมีความทันสมัยกว่าแผ่นดินใหญ่ ทั้งสองแห่ง “เป็นของจีนแต่ปฏิเสธจีน” โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่หนุนประชาธิปไตยในฮ่องกงและไต้หวัน โดยมีมหาอำนาจตะวันตกอย่างสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาคอยหนุนหลังยุแหย่แทรกแซง

รัฐบาลปักกิ่งยืนยันมาตลอดว่า เกาะไต้หวันคือมณฑลหนึ่งของจีนที่ไม่สามารถประกาศเอกราช ต้องกลับมารวมตัวกับแผ่นดินใหญ่ไม่วันใดก็วันหนึ่ง    

เฉกเช่นเดียวกับฮ่องกงที่เป็นเพียงเขตปกครองพิเศษของจีนตามนโยบายหนึ่งประเทศสองระบบ ที่เรียกกันเต็มชื่อว่า “เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน” ที่มิใช่รัฐอิสระ จึงต้องฟังเสียงและปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาลกลาง            

ทั้งไต้หวันและฮ่องกงเคยแตกต่างกับจีนแผ่นดินใหญ่ทั้งสภาพบ้านเมืองและรายได้ คนจีนที่เกิดในไต้หวันยุคหลังส่วนหนึ่งอาจจะปฏิเสธแผ่นดินใหญ่และเรียกตนเองว่าเป็น “คนไต้หวัน” ไม่ใช่ “คนจีน” เช่นเดียวกับคนฮ่องกงส่วนหนึ่งที่ลุกขึ้นมาชุมนุมต่อต้านจีนกฎระเบียบอันเข้มงวดของจีนแล้วเรียกตนเองว่า “คนฮ่องกง” ไม่ใช่ “คนจีน”

วันหนึ่งเยาวชนและคนฮ่องกงจึงลุกขึ้นมาประท้วงเรียกร้องเสรีภาพจากรัฐบาลจีน จนรัฐบาลต้องออกมาปราบปรามอย่างรุนแรง วันหนึ่งผู้นำไต้หวันแสดงท่าทีอิงแอบอเมริกาอย่างยั่วยุ จนรัฐบาลจีนต้องแสงแสนยานุภาพซ้อมรบรอบเกาะไต้หวันเพื่อกำราบให้สงบปากสงบคำ 

สี จิ้นผิง กำลังมุ่งมั่นสร้างจีนให้กลายเป็น “ประเทศสังคมนิยมสมัยใหม่ที่ยิ่งใหญ่ในทุกมิติ” แต่บทเรียนของฮ่องกงและไต้หวันสอนให้รู้ว่า ต้องไม่ปล่อยให้ความทันสมัยจากฝั่งตะวันตกเข้ามามีอิทธิพลครอบงำคนในชาติ ต้องมีกระบวนการผสานความทันสมัยกับจิตวิญญาณของจีน ความเป็นสังคมนิยมแบบจีน ให้ยังคงความเข้มข้นตลอดไปเพื่อความมั่นคงในระยะยาว

ความทันสมัยแบบอัตลักษณ์จีน จึงเป็นการหลอมรวมด้านวัตถุกับจิตวิญญาณ เป้าหมายกับอุดมการณ์ ความมั่งคั่งกับความภักดี ชีวิตกับธรรมชาติ

กระบวนการสร้างอัตลักษณ์จีนดังกล่าวนี้ ผู้เขียนเชื่อว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนต้องดำเนินการตั้งแต่นโยบายการศึกษาและแผนการศึกษาของเยาวชนจีนทุกระดับ เพื่อปลูกฝังลักษณะนิสัย การค่านิยมหลักสังคมนิยม เพื่อสร้างเยาวชนจีนรุ่นใหม่ที่จะมาร่วมสร้างความทันสมัย แต่ไม่ทิ้งตัวตนและรากเหง้าความเป็นจีน

ผู้นำจีนบอกว่า นอกจากการพัฒนาทางด้านวัตถุแล้ว รัฐบาลต้องการยกระดับจิตใจและสามัญสำนึกของประชาชนให้ได้รับการพัฒนาอย่างรอบด้าน ต้องการให้การผลิต การใช้ชีวิต และคุ้มครองระบบนิเวศพัฒนาไปพร้อมกัน   เป็นการพัฒนาแบบโลกตะวันออกที่ไม่ใช่ลอกเรียนตะวันตกแบบก๊อปปี้มาทั้งฉบับ แต่เป็นปรับปรุงให้เหมาะสมกับคนในชาติ ผสมผสานกับสิ่งที่มีอยู่ ให้เกิดเป็น “อัตลักษณ์จีน” ที่ผ่านการประยุกต์แล้ว 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 มีนาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...