ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คอลัมนิสต์ประจำอปท.นิวส์ ย้อนกลับ
ดัชนีความโปร่งใส : การใช้รถราชการ อปท.
17 ก.พ. 2566

เขียนให้คิด โดย ซีศูนย์

ดัชนีความโปร่งใส : การใช้รถราชการ อปท.

สวัสดีครับท่านผู้อ่านมา ช่วงนี้อากาศเริ่มร้อนระอุมากขึ้นทุกวัน หลังจากผ่านความหนาวเย็นมาพักหนึ่ง มหานครอย่าง กทม.และหลายจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศปีนี้ PM2.5 มากกว่าปกติ ขนาดยังไม่ถึงช่วงหน้าร้อนเต็มๆ ก็ระวังโรคภัยไข้เจ็บกันนะครับ อ้อ... โควิทก็ยังไม่หมดไป

สำคัญอีกเรื่องใกล้จะเลือกตั้งกันอีกแล้วครับ ในวงราชการไทยเองช่วงนี้ การตรวจสอบก็เข้มข้น เอาตั้งแต่เรื่องตู้ห่าวเริ่มซาไป ก็มีเรื่องตำรวจท้องที่ สน.ห้วยขวาง เรียกรับเงินจากคนต่างชาติ เรื่อง ป.ป.ช. ป.ป.ท.และ ปปป.ตำรวจร่วมจับสดผู้อำนวยการโรงเรียนในสังกัด กทม.รับเงินจากผู้ประมูลอาหารกลางวันโรงเรียนอีก  ดูแล้วการทำงานของข้าราชการเริ่มถูกจับจ้องตรวจสอบมากขึ้น แม้จะยังจับได้ไม่มากก็ยังคงมีเรื่องเหล่านี้ตลอด จนกลายเป็นวัฒนธรรมของข้าราชการเลวๆ ไปแล้วครับ

เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติหรือ TI (Transparency International) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ที่ตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1993 มีสถานะเป็นองค์กรภาคประชาสังคมระหว่างประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานด้านการต่อต้านการทุจริต ได้ประกาศผลประเมิน “ดัชนีรับรู้การทุจริต ประจำปี 2565” หรือ CPI 2022 (Corruption Perception Index 2022) ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก 180 ประเทศ ไทยเราก็ได้คะแนน 36 คะแนน เป็นอันดับที่ 101 ใน 180 ประเทศ เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่ได้ 35 คะแนน และเป็นอันดับที่ 110 สำหรับดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) เป็นสิ่งสะท้อนภาพลักษณ์การทุจริตของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่มีความสำคัญต่อนักลงทุนหรือนักธุรกิจในการประเมินความเสี่ยง หรือใช้ประกอบการตัดสินใจในการเข้ามาลงทุนในแต่ละประเทศ

ทั้งนี้ ดัชนีการรับรู้การทุจริตจัดทำโดยการรวบรวมข้อมูลจากฐานข้อมูลหน่วยงานต่างๆ จำนวน 13 แหล่งข้อมูล เช่น International Institute for Management Development (IMD) World Economic Forum (WEF) Varieties of Democracy Institute (V -dem) เป็นต้น ซึ่งในส่วนของไทย ปีที่ผ่านมา ได้รับการคำนวณจาก 9 แหล่งข้อมูล พบว่า ไทยได้คะแนนดีขึ้นกว่าปีที่แล้วจำนวน 2 แหล่งข้อมูล คือ IMD WORLD การติดสินบนและการทุจริตมีอยู่หรือไม่ มากน้อยเพียงใด และ WEF ภาคธุรกิจต้องจ่ายเงินสินบนในกระบวนการต่างๆ มากน้อยเพียงใด

ส่วนแหล่งข้อมูลที่คะแนนที่ตกลงจากปีที่แล้ว มาจาก PERC (Political and Economic Risk Consultancy)ระดับการรับรู้ว่า การทุจริตเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสถาบันทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองมากน้อยเพียงใด และ WJP (World Justice Project) เจ้าหน้าที่รัฐมีพฤติกรรมการใช้ตำแหน่งหน้าที่ในทางมิชอบมากน้อยเพียงใด ก็มากกว่าปี 2564 เพียงคะแนนเดียว ไม่ได้หมายถึงการทุจริตจะลดลงแต่อย่างใดครับ

สำหรับประเทศที่มีคะแนน CPI 36 คะแนน เท่ากับไทยและอยู่อันดับ 101 ร่วมกัน เช่น อัลเบเนีย เอกวาดอร์ คาซัคสถาน ปานามา เปรู เซอร์เบีย ศรีลังกา และตุรกี ทั้งนี้ ไทยเคยได้ 36 คะแนนมาแล้ว 3 ปีก่อนหน้านี้ คือ ปี 2561-2563 (ค.ศ. 2018-2020) เราต้องยอมรับความจริงว่า คะแนนเท่านี้แสดงให้เห็นว่า ไทยเรายังมีคอร์รัปชั่นที่ไม่อาจลดลงได้มาตลอด ทั้งองค์กรตรวจสอบหรือผู้บริหารประเทศ ก็ไม่สามารถปราบปรามคอร์รัปชั่นได้เลยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่อยู่อันดับต้นๆ และคะแนนเกินห้าสิบคะแนนขึ้นไป โดยในรอบ 11 ปีที่ผ่านมา ไทยเคยได้คะแนน CPI สูงสุดที่ 38 คะแนน ระหว่างปี 2557-2558 (ค.ศ. 2014-2015) เมื่อดูคะแนนประเทศที่อยู่อันดับต้นๆ แล้วเห็นว่า ส่วนใหญ่จะอยู่ในแถบสแกนดิเนเวีย

ประเทศที่ได้อันดับ 1 ในปีนี้คือ เดนมาร์ก ได้ 90 คะแนน ฟินแลนด์และนิวซีแลนด์อยู่ที่ 2 ร่วม ได้ 87 คะแนนเท่ากัน นอร์เวย์อยู่ที่ 4 ได้ 84 คะแนน และสิงคโปร์อยู่ที่ 5 ร่วมกับสวีเดน ได้ 83 คะแนน ขณะที่ประเทศคะแนนต่ำสุดในโลกคือ โซมาเลีย ได้ 12 คะแนน อยู่อันดับ 180 ของโลก ซีเรีย 13 คะแนน อยู่อันดับ 178 ร่วมกับเซาท์ ซูดาน โดยคะแนน CPI 2022 พบว่า มีคะแนนเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 43 คะแนนจาก 100 คะแนน โดยมี 2 ใน 3 ของประเทศทั่วโลกที่มีคะแนนต่ำกว่า 50 คะแนน ซึ่งก็หมายถึงไทยด้วยละครับ

มันหมายถึงความล้มเหลวของหน่วยงานตรวจสอบ รวมถึงรัฐบาลด้วยหรือไม่ เราคงมองออกนะครับ ยิ่งถ้าเห็นภาพของการทุจริตที่พูดถึงข้างต้นด้วยแล้ว คงต้องดูว่านายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ที่จะมาบริหารประเทศไม่กี่เดือนข้างหน้าจะจริงจังและจริงใจกับการปราบปรามทุจริตหรือไม่ครับ

มาว่าเรื่องรถราชการต่อจากคราวที่แล้วอีกนิดนะครับ คราวนี้มาพูดถึงการเช่า ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจเช่ารถส่วนกลางหรือรถประจำตำแหน่งได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม โดยถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงการคลังโดยอนุโลม นอกจากนั้น การใช้รถส่วนกลางและรถรับรอง ปกติให้ใช้ภายในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น หากจะใช้รถดังกล่าวออกไปปฏิบัติหน้าที่นอกเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องได้รับอนุญาตจากผู้บริหารท้องถิ่นก่อน  

สำหรับรถประจำตำแหน่งยังมีข้อห้ามผู้มีสิทธิได้รับรถประจำตำแหน่ง ซึ่งได้รถประจำตำแหน่งแล้วนำรถส่วนกลางไปใช้อีก เว้นแต่มีเหตุผลความจำเป็นเฉพาะคราว ทั้งนี้ ให้ระบุเหตุผลความจำเป็นที่ต้องใช้รถส่วนกลางไว้ด้วย รวมถึงผู้ใช้รถประจำตำแหน่งเป็นผู้จ่ายค่าน้ำมันเชื้อเพลิงเอง ในกรณีที่นำรถไปใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งนอกเหนือไปจากหน้าที่ปกติประจำให้เบิกจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงหรือเบิกค่าน้ำมันเชื้อเพลิงได้ ทั้งนี้ ผู้บริหารท้องถิ่นต้องรับรองทุกครั้งว่า ได้มีการนำรถประจำตำแหน่งไปใช้ในกรณีดังกล่าวจริง ส่วนการใช้รถส่วนกลางและรถรับรอง ให้เบิกจ่ายค่าน้ำมันเชื้อเพลิงจากงบประมาณขององค์กรปกครอง

ส่วนท้องถิ่นนั้น ก็คงไม่ใจร้ายให้เจ้าหน้าที่เอาเงินส่วนตัวไปเติมน้ำมันเองถ้าใช้งานราชการ เว้นแต่เอารถส่วนกลางไปใช้ส่วนตัวแล้วยังเบิกน้ำมันหลวงอีกเช่นนี้ก็คงไม่พ้นถูกสอบครับ

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...