ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คอลัมนิสต์ประจำอปท.นิวส์ ย้อนกลับ
CSR แบบ Organic
04 ส.ค. 2565

#CSRcontentโดย มนวิภา จูภิบาล กรรมการบริษัท วีอาร์ทวินส์ จำกัด

CSR แบบ Organic

เมื่อหนังกลางแปลงกลับมาให้คนรุ่นใหม่ได้รู้จักบรรยากาศรื่นเริงของคนรุ่นเก่า ก็น่ายินดีสำหรับคนทำอาชีพหนังกลางแปลงที่ยังหลงเหลืออยู่ คนรุ่นเก่าที่ได้คิดถึงความสนุกในวัยเยาว์ และเป็นการต่ออายุมหรสพไทยที่ควรได้รับการฟื้นฟูและอนุรักษ์ไว้

งามนิส เขมาชฎากร ได้กล่าวถึงหนังกลางแปลงในวิทยานิพนธ์เรื่อง พัฒนาการหนังกลางแปลง และแนวทางการบริหารจัดการ: กรณีศึกษา กาเหว่าภาพยนตร์ และท่าพระภาพยนตร์ (พ.ศ. 2530-2559) ว่า การฉาย “หนังกลางแปลง” หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “Outdoor Cinema” หรือ “Open-Air Screening” เป็นลักษณะการฉายภาพยนตร์กลางพื้นที่โล่งแจ้ง ไม่มีหลังคาคลุม จึงจําเป็นต้องฉายในเวลากลางคืนเท่านั้น

การฉายหนังกลางแปลงเป็นการฉายแบบเปิดให้สาธารณชนเข้าชมฟรี ไม่มีการเรียกเก็บค่าเข้าชมใดๆ ทั้งสิ้น หนังกลางแปลงจึงเป็น CSR เพื่อประชาชนทั่วไปโดยธรรมชาติ เนื่องจากจะต้องมีเจ้าภาพในการฉาย เช่น งานฉลองวันเกิด งานบวช งานศาลเจ้า งานวัด งานประจําปี และงานแก้บน เป็นต้น เพื่อให้ความบันเทิงแก่แขกผู้ร่วมงาน เพื่อแสดงความมีหน้ามีตาหรือเกียรติยศของเจ้าภาพ หนังกลางแปลงยังมีความหมายรวมถึงหนังเร่ของหน่วยงานรัฐบาลที่จัดฉาPภาพยนตร์ขึ้นเพื่อโฆษณาเผยแพร่ข่าวสารและผลงานของรัฐตามท้องถิ่นทั่วประเทศ หนังกลางแปลงมีการฉายครั้งแรกในงานเปิดพระบรมรูปทรงม้าในสมัยรัชกาลที่ 5 และต่อมาได้จัดฉายอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ 6 ที่พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นที่ชุมนุมเสือป่าในสมัยรัชกาลที่ 9 วันที่ 5 ธันวาคม ก็เคยมีการฉายหนังกลางแปลง 100 จอ ที่ประชาชนเบียดเสียดกันเข้าชมที่ท้องสนามหลวงเช่นกัน

ในช่วงปี 2515-2521 ถือเป็นยุคทองของหนังกลางแปลงที่มีบทบาทเชื่อมโยงกับสังคมไทยในชนบทอย่างมาก ด้วยเป็นแหล่งชมภาพยนตร์ที่ไม่เสียค่าใช้จ่าย สามารถเคลื่อนย้ายไปได้หลากหลายชุมชน เป็นพื้นที่ประชาสัมพันธ์สินค้าแลกเปลี่ยนกับการฉายหนัง จึงเรียกหนังกลางแปลงว่า “หนังขายยา” เป็นแหล่งนัดพบสังสรรค์ของผู้คน ซึ่งไม่ได้มาชมภาพยนตร์เท่านั้น แต่ถือเป็นกิจกรรมรื่นเริง มีร้านค้า มีความสัมพันธ์อันดีเกิดขึ้นในหลากหลายครอบครัว การฉายหนังกลางแปลงจึงทําหน้าที่เป็นกระจกเงาสะท้อนความเป็นอยู่ของสังคมนั้นๆ และมีบทบาทในการบันทึกวัฒนธรรมแวดล้อมของสังคมได้เป็นอย่างดี

ความนิยมดังกล่าวได้หมดไปอย่างถาวรเมื่อประมาณปี 2540 จากประเด็นปัญหาต่างๆ เช่น การปรับเปลี่ยนเข้าสู่ยุคดิจิตอล ลิขสิทธิ์งานภาพยนตร์ พัฒนาการทางเทคโนโลยีของโรงภาพยนตร์ สื่อบันเทิงที่เข้าถึงที่พักอาศัย และบรรยากาศในการรับชม อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ประกอบอาชีพรับจ้างฉายหนังกลางแปลงหลงเหลืออยู่ โดยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการบริหารจัดการ อาทิ ปรับไปฉายหนังกลางแปลงรูปแบบงานอีเว้นท์ที่ต้องรับงานผ่านออแกไนเซอร์  โดยบริษัทที่ว่าจ้างใช้หนังกลางแปลงเป็น CSR ขององค์กร  

จาก หนังกลางแปลงที่ต้องพึ่งออแกไนเซอร์ในการหางานในปัจจุบัน ก็ให้คิดถึง “รำวงย้อนยุค” แรกเริ่มเดิมที รำวงย้อนยุคเกิดในช่วงรัชสมัยของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นการละเล่นของชาวบ้านในภาคกลางเช่น สระบุรี อ่างทอง และชัยนาท ในช่วงหลังเก็บเกี่ยวข้าวเพื่อพักผ่อนและคลายเหนื่อยล้าจากการทำนา ต่อมาจอมพล ป. ได้นำมาปรับ โดยใส่รำวงมาตรฐานเข้าไป จึงออกมาเป็นศิลปะรำวง

รำวงย้อนยุคเป็นหนึ่งในกิจกรรม CSR ชุมชน ที่ยังเป็นที่นิยมในต่างจังหวัด เช่น จังหวัดระยอง ชุมชนส่วนใหญ่จะมีคณะรำวงย้อนยุคของตัวเอง เล่นในเทศกาลสำคัญ เช่น เทศกาลสงกรานต์ ผู้รำเป็นสตรีในชุมชน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ครอบครัวผู้นำชุมชนก็จะมาร่วมรำเป็นเกียรติกับงานด้วย นักดนตรีเป็นคนในชุมชนเช่นกัน เล่นเพลงจังหวะสนุกๆ เช่น ชะชะช่า รำเป็นรอบ เก็บเงินผู้ขึ้นมารำในแต่ละรอบ หรือใครจะเหมาทั้งเพลง เช่น 100 บาท และให้ใครขึ้นมาร่วมสนุกก็ได้ บริษัทที่มีพื้นที่ประกอบการในชุมชนก็ถือโอกาสนี้ในการทำ CSR ด้วยการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดงาน เงินที่เก็บได้ก็มอบให้ชุมชนไปใช้ประโยชน์ เป็นการทำ CSR ที่มีค่าใช้จ่ายน้อย แต่ได้ใช้เวลาพบปะชุมชนกลุ่มใหญ่อย่างใกล้ชิดในบรรยากาศของความสนุกสนาน นำไปสู่ความสัมพันธ์อันดีต่อกัน ง่ายต่อการสื่อสารทำความเข้าใจ และช่วยเหลือเกื้อกูลกันในอนาคต

ชุมชนมอญในไทยก็เช่นกัน บ่อนสะบ้าในเทศกาลสงกรานต์ ก็เป็นการละเล่นทางวัฒนธรรมที่งดงามและมีเอกลักษณ์ ยามค่ำคืนก็มีคณะนักร้องนักดนตรี 2-3 ชิ้น เดินเล่นขับกล่อมไปตามซอกซอยในชุมชนอย่างครื้นเครง ซึ่งองค์กรต่างๆ ก็สนับสนุนกิจกรรมเหลานี้เป็น CSR ได้ 

อยากเรียกการทำ CSR ประเภทนี้ว่า CSR แบบ Organic ใช้เอกลักษณ์ของชุมชนเป็น content ของ CSR ที่ได้ประโยชน์ตรงทั้งผู้ให้ผู้รับและสังคมไทย

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...