ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คอลัมนิสต์ประจำอปท.นิวส์ ย้อนกลับ
หมดสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนฯ เพราะออกคำสั่งให้ชดใช้ พ้น 10 ปี เพียงวันเดียว !
31 ก.ค. 2565

หมดสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนฯ เพราะออกคำสั่งให้ชดใช้ พ้น 10 ปี เพียงวันเดียว !

เมื่อพูดถึงการเรียกร้องให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ สิ่งสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามได้เลยก็คือ “ระยะเวลาการใช้สิทธิเรียกร้อง” เพราะหากล่วงพ้นระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด ก็หมดสิทธิในการเรียกร้องดังกล่าว ซึ่งสิทธิเรียกร้องที่จะคุยกันในวันนี้ คือ สิทธิของหน่วยงานต้นสังกัดที่จะเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่หน่วยงาน

โดยกรณีดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ซึ่งมีหลักการว่า เมื่อเจ้าหน้าที่กระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ หน่วยงานของรัฐมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่ หากเจ้าหน้าที่นั้นได้กระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ซึ่งระยะเวลา (อายุความ) การใช้สิทธิเรียกร้องจะแบ่งเป็น 2 กรณี ได้แก่ กรณีแรก คือ ภายใน 2 ปี นับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวเจ้าหน้าที่ผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน (ใช้ในกรณีที่หน่วยงานและกระทรวงการคลังเห็นเหมือนกันว่าเจ้าหน้าที่ต้องรับผิด) หรือ กรณีที่สอง คือ ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐมีคำสั่งตามความเห็นของกระทรวงการคลัง (ใช้ในกรณีที่หน่วยงานเห็นว่าเจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิด แต่กระทรวงการคลังเห็นว่าต้องรับผิด) ซึ่งคดีที่จะชวนคุยกันในวันนี้ ... อยู่ในกรณีที่สอง

  • สำหรับคดีดังกล่าวมีประเด็นชวนคิด

 เกี่ยวกับการใช้สิทธิเรียกร้องของหน่วยงานต้นสังกัดในการออกคำสั่งเรียกให้เจ้าหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ซึ่งนอกจากจะต้องอยู่ภายใต้บังคับเรื่องระยะเวลาตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดฯ ข้างต้นแล้ว ยังต้องอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 448 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันทำละเมิด) ด้วยหรือไม่ ?

เรามาดูรายละเอียดของคดี ... ที่จะทำให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับการนับระยะเวลาการใช้สิทธิให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยข้อเท็จจริงเรื่องนี้มีอยู่ว่า เทศบาลแห่งหนึ่งได้มีประกาศจัดซื้อรถตักหน้าขุดหลังจำนวน 1 คัน โดยวิธีประมูลด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งบริษัท C จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูล เมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายและเทศบาลได้ตรวจรับมอบรถ วางฎีกาเบิกจ่ายเงินนอกงบประมาณ และได้จ่ายเงินให้กับบริษัท C ในวันที่ 15 มิถุนายน 2550 แล้ว  ต่อมาได้มีผู้ร้องเรียนต่อผู้ว่าราชการจังหวัด (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ว่าเทศบาลจัดซื้อรถในราคาที่ไม่เหมาะสมและมีการทุจริต นายกเทศมนตรี (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดกรณีดังกล่าว

ผลการสอบข้อเท็จจริงคณะกรรมการฯ มีความเห็นว่า พฤติการณ์ไม่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นคณะกรรมการกำหนดราคากลาง (ผู้ฟ้องคดีทั้งสาม) กระทำด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง และไม่ปรากฏหลักฐานที่ชี้ชัดได้ว่าราคาในการจัดซื้อแพงกว่าความเป็นจริง จึงไม่มีผู้ใดต้องรับผิด นายกเทศมนตรีเห็นชอบตามความเห็นดังกล่าว จึงส่งรายงานผลการสอบสวนไปยัง กระทรวงการคลังในวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๕๙  ต่อมา กระทรวงการคลังโดยกรมบัญชีกลางได้แจ้งผลการพิจารณาตามหนังสือลงวันที่ 13 มิถุนายน 2560 ว่า การจัดซื้อรถตักหน้าขุดหลังเป็นไปโดยไม่ชอบ เป็นเหตุให้เทศบาลได้รับความเสียหาย โดยผู้ฟ้องคดีทั้งสามต้องรับผิดคนละเท่า ๆ กัน

นายกเทศมนตรีจึงมีคำสั่งลงวันที่ 14 มิถุนายน 2560 ให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสามชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ตามจำนวนที่ได้รับแจ้งจากกรมบัญชีกลาง พร้อมทั้งมีหนังสือลงวันที่ 16 มิถุนายน 2560 แจ้งคำสั่งดังกล่าวให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสามทราบ ผู้ฟ้องคดีทั้งสามอุทธรณ์คำสั่ง แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดมีคำวินิจฉัยยกอุทธรณ์ ผู้ฟ้องคดีทั้งสามจึงนำคดีมาฟ้องเพื่อขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษา เพิกถอนคำสั่งและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ข้างต้น

ประเด็นพิจารณา คือ คำสั่งของนายกเทศมนตรีที่เรียกให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสามชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เป็นการใช้สิทธิภายในระยะเวลาหรืออายุความตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ ?

คดีดังกล่าวมีข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดนั้น ท่านว่าขาดอายุความเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันทำละเมิด” และพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 42 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “คำสั่งทางปกครองให้มีผลใช้ยันต่อบุคคลตั้งแต่ขณะที่ผู้นั้นได้รับแจ้งเป็นต้นไป”

  • คำวินิจฉัยที่ควรรู้

ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่นายกเทศมนตรีเห็นว่าผู้ฟ้องคดีทั้งสามไม่ต้องรับผิดกรณีจัดซื้อรถตักหน้าขุดหลัง แต่กระทรวงการคลังตรวจสอบแล้วเห็นว่าต้องรับผิด นายกเทศมนตรีต้องใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนภายในกำหนดเวลา 1 ปี นับแต่วันที่มีคำสั่งตามความเห็นของกระทรวงการคลังตามมาตรา 10 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดฯ เมื่อกระทรวงการคลังโดยกรมบัญชีกลางมีหนังสือลงวันที่ 13 มิถุนายน 2560 แจ้งผลการพิจารณาให้นายกเทศมนตรีทราบ และนายกเทศมนตรีได้สั่งการในวันเดียวกันว่าดำเนินการตามที่เสนอ กรณีจึงถือว่าวันที่ 13 มิถุนายน 2560 เป็นวันที่นายกเทศมนตรีมีคำสั่ง
ตามความเห็นของกระทรวงการคลัง
ซึ่งต้องใช้สิทธิเรียกร้องภายใน ๑ ปี นับแต่วันดังกล่าว

ดังนั้น การที่นายกเทศมนตรีมีคำสั่งลงวันที่ 14 มิถุนายน 2560 ให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสามชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เทศบาลภายใน 30 วัน นับแต่วันรับทราบคำสั่ง และผู้ฟ้องคดีทั้งสามได้รับแจ้งคำสั่งเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2560 โดยในวันเดียวกันผู้ฟ้องคดีที่ 1 ได้ลงนามรับทราบในหนังสือแจ้งคำสั่งดังกล่าว ส่วนผู้ฟ้องคดีที่ 2 และที่ 3 ได้ลงนามรับทราบคำสั่ง แต่มิได้ลงวันที่กำกับไว้ กรณีจึงเป็นการออกคำสั่งภายในกำหนดระยะเวลา 1 ปี ตามมาตรา 10 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ในการใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนนั้น นอกจากจะต้องใช้สิทธิภายในระยะเวลา ๑ ปี ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดฯ แล้ว ยังจะต้องใช้สิทธิภายในระยะเวลา 10 ปี นับแต่วันทำละเมิดตามมาตรา 448 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไปด้วย

เมื่อเทศบาลได้จ่ายเงินให้กับบริษัท C จำกัด (ผู้ขาย) ในวันที่ 15 มิถุนายน 2550 กรณีต้องถือว่า วันดังกล่าวเป็นวันกระทำละเมิดต่อเทศบาล นายกเทศมนตรีจึงต้องใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนอันเกิดแต่มูลละเมิด ภายใน 10 ปี นับแต่วันดังกล่าวด้วย ซึ่งการออกคำสั่งทางปกครองจะมีผลใช้ยันต่อผู้ฟ้องคดีทั้งสามได้ ก็ต่อเมื่อผู้ฟ้องคดีทั้งสามได้รับแจ้งคำสั่งแล้วตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ  ดังนั้น แม้นายกเทศมนตรีจะมีคำสั่งเรียกให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันที่ 14 มิถุนายน 2560 แต่เมื่อได้มีหนังสือลงวันที่ 16 มิถุนายน 2560 แจ้งคำสั่งดังกล่าวให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสามทราบ และผู้ฟ้องคดีทั้งสามได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งในวันเดียวกัน จึงเชื่อได้ว่าผู้ฟ้องคดีทั้งสามได้รับทราบคำสั่งในวันที่ 16 มิถุนายน 2560

ดังนั้น คำสั่งเรียกให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสามชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันที่ 16 มิถุนายน 2560 จึงเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องเมื่อพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันทำละเมิด (วันที่ 15 มิถุนายน 2550) ตามมาตรา 448 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คำสั่งดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และคำวินิจฉัยยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีทั้งสามจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อผ. 26/2565)

  • บทสรุปชวนอ่าน

คดีดังกล่าว ... ถือเป็นแนวทางการนับระยะเวลาการใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนของหน่วยงานของรัฐที่ถูกต้อง โดยจะต้องใช้สิทธิเรียกร้องภายในกำหนดระยะเวลาตามมาตรา 10 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดฯ (2 ปี หรือ 1 ปี แล้วแต่กรณี) และยังต้องอยู่ภายใต้บังคับของอายุความตามมาตรา 448 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คือ ต้องไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันทำละเมิด อันเป็นกฎหมายทั่วไปด้วย  นอกจากนี้ การนับเวลาใช้สิทธินั้น จะต้องนับแต่วันที่เจ้าหน้าที่ผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนได้รับแจ้งคำสั่ง มิใช่วันที่หน่วยงานออกคำสั่งเรียกให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ซึ่งปัญหาเรื่องระยะเวลาหรืออายุความนี้ถือเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลปกครองสามารถหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองแม้คู่กรณีไม่ได้ยกขึ้นอ้างต่อศาล  ทั้งนี้ ตามข้อ 92 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วย
วิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543  ฉะนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องระมัดระวังในการพิจารณาให้ทันเวลา เพื่อจะได้ไม่เสียสิทธิเช่นในคดีนี้ที่พ้นระยะเวลาการใช้สิทธิไปเพียงวันเดียวเท่านั้น !!

(ปรึกษาการฟ้องคดีปกครองได้ที่ สายด่วนศาลปกครอง 1355)

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...