ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คอลัมนิสต์ประจำอปท.นิวส์ ย้อนกลับ
CSR in Saudi Arabia
05 มี.ค. 2565

#CSRcontent โดย มนวิภา จูภิบาล กรรมการบริษัท วีอาร์ทวินส์ จำกัด

CSR in Saudi Arabia

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศความสำเร็จในการเยือนซาอุดีอาระเบียว่า เป็นชัยชนะของทั้งสองประเทศในการตกลงฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตกลับสู่ภาวะปกติ ในระดับเอกอัครราชทูต หลังจากถูกลดระดับมานานกว่า 30 ปี ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า แม้ในช่วงของความแตกร้าว แต่สองประเทศยังมีสายใยที่ยังเชื่อมโยงกันอยู่ คือความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนและความสัมพันธ์ในเชิงมิติวัฒนธรรมและศาสนา ทำให้ซาอุดีอาระเบียไม่ได้ปิดสถานทูต ไม่ได้ตัดสัมพันธ์แบบไม่เหลือเยื่อใย

รัฐบาลซาอุดีอาระเบียประกาศ Saudi Vision 2030” เป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศ มุ่งหวังให้ประชาชนทั้งหญิงและชายมีส่วนร่วมในการพัฒนาและกระหายที่จะมีการเปลี่ยนแปลง ลดการพึ่งพานํ้ามัน หันไปพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ๆ เช่น การท่องเที่ยว การบริการด้านการเงิน เหตุผลหนึ่งคือ เพื่อกระตุ้นการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิตและการกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น สอดรับกับทิศทางการผลิตทั่วโลก

facebook ของนายกรัฐมนตรีไทย กล่าวถึงโอกาสที่จะได้รับในด้านพลังงานว่า จะเกิดการร่วมวิจัยและลงทุน ทั้งในรูปแบบพลังงานดั้งเดิม พลังงานสะอาด และพลังงานหมุนเวียน โดยซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศผู้ค้าและมีแหล่งสำรองน้ำมันอันดับต้นๆ ของโลก ตลอดจนมีวิทยาการด้านพลังงานที่ทันสมัย ส่วนไทยก็มีเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่พร้อมรองรับการวิจัย พัฒนา และการลงทุนแห่งอนาคตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามนโยบาย BCG Economy ซึ่งสอดรับกับข้อริเริ่ม Saudi Green Initiative และ Middle East Green Initiative ของซาอุดีอาระเบีย ข้อริเริ่มสีเขียวนี้ จะช่วยขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ การเสื่อมโทรมของพื้นดินกลายสภาพเป็นทะเลทราย และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ  

The Arab Forum for Environment and Development หรือ AFED ได้กล่าวถึงความท้าทายที่สําคัญที่ประเทศอาหรับเผชิญไว้ในรายงานปี 2011 ว่า "การเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว ไม่ได้เป็นเพียงตัวเลือกสําหรับภูมิภาคอาหรับเท่านั้น แต่เป็นภาระหน้าที่ในการปูทางไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยซาอุดีอาระเบียเป็นหนึ่งในประเทศผู้บุกเบิกการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะด้านการวางผังเมือง เกษตรอินทรีย์ และการอนุรักษ์น้ํา ซาอุดีอาระเบียยังมีกิจกรรม CSR ด้านสังคมที่โดดเด่น ได้แก่ การสร้างโอกาสในการทํางานให้คนว่างงาน การส่งเสริมผู้ประกอบการ การรณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่ การสนับสนุนทางการแพทย์ ความรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กกําพร้าฯ แต่ยังไม่กล่าวถึงนโยบาย CSR เกี่ยวกับความเสมอภาค การเลือกปฏิบัติ และด้านแรงงาน มากนัก

จากงานวิจัยของ Nuha Hamed Alofi ปี 2020 การเกิดขึ้นของอาหรับสปริงในปี 2010-2011 นํามาซึ่งวิวัฒนาการของ CSR ภายในตะวันออกกลาง เป็นสาเหตุให้ประเด็นปัญหาต่างๆ เช่น ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และความต้องการขั้นพื้นฐานถูกหยิบยกขึ้นมาวางแถวหน้าของวาระทางการเมืองในซาอุดีอาระเบีย CSR ไม่เพียงแต่ช่วยสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แต่ยังมีความสําคัญกับการเมือง ภาครัฐจําเป็นต้องทํางานร่วมกับสังคมเพื่อรักษาสันติภาพภายในซาอุดีอาระเบีย และลดกระแสความไม่พอใจใดๆ กับระบอบการปกครองได้ Nuha Hamed Alofi ยังศึกษาการรับรู้และมุมมองด้าน CSR ของผู้จัดการธุรกิจของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ Tadawul ซาอุดีอาระเบีย พบว่าผลการดำเนินงานทางการเงินมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับดัชนี CSRD ซึ่งเป็นตัวชี้วัดด้าน CSR ขององค์กร แต่จําเป็นที่จะต้องสื่อสารเรื่องนี้เพิ่มขึ้นอีกมาก เพื่อสร้างความเชื่อให้กับนักธุรกิจและผู้บริโภค  

The National Commercial Bank ของซาอุดีอาระเบียมีความเห็นเกี่ยวกับการทำกิจกรรม CSR ในประเทศว่า มีแรงผลักดันที่แข็งแกร่งสองประการคือ ความจําเป็นในการปรับปรุงหรือปฏิรูปสังคม และศรัทธาแรงกล้าในศาสนาอิสลามของประชาชน ทำให้ CSR เปรียบเสมือนการทำหน้าที่ทางศาสนาในการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสและยากจน นอกจากนั้น รัฐบาลและองค์กรการกุศลยังสนับสนุนองค์กรธุรกิจให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมผ่าน CSR เนื่องจากรัฐบาลยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการทางสังคมทั้งหมดได้   

ตัวอย่างกิจกรรม CSR ของ Saudi Aramco บริษัทน้ำมันแห่งชาติซาอุดีอาระเบีย มีความหลากหลายและตอบสนองการพัฒนาประเทศตาม Saudi Vision 2030 อาทิ โครงการ Green Site ซึ่งเป็นโครงการนำร่องที่ริเริ่มขึ้นเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติของโรงงานสีเขียวที่รับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซและของเสียจากอุตสาหกรรม (SA Well Completion Operation Department : SAWCOD) โครงการปลูกป่าชายเลนตามแนวชายฝั่งอาหรับ ในปี 2020 สามารถปลูกได้ 3 ล้านต้น รวมที่ปลูกแล้วทั้งหมด 5.3 ล้านต้น โครงการ In-Kingdom Total Value Add (iktva) การพัฒนาห่วงโซ่อุปทานในท้องถิ่นให้มีศักยภาพแข่งขันได้ในระดับโลก เพื่อผลักดันการสร้างมูลค่าภายในประเทศ และเอื้อต่อการพัฒนาภาคพลังงานที่ยั่งยืน บริษัทมีเป้าหมายที่จะรักษา 70% ของค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมดไว้ให้ห่วงโซ่อุปทานในราชอาณาจักร โครงการ The King Abdulaziz Center for World Culture (Ithra) เป็นโครงการระดับเรือธงของบริษัทในการมีส่วนร่วมทางวัฒนธรรมที่ใหญ่ที่สุด   สนับสนุนความสามารถด้านความคิดสร้างสรรค์เนื้อหาใหม่ๆที่แสดงศักยภาพของซาอุดิอาระเบีย  และมอบประสบการณ์ใหม่ทางวัฒนธรรมให้ประชาชนทั่วโลก โครงการทําแผนที่แนวปะการังและตรวจจับการรั่วไหลของน้ำมันด้วยดาวเทียม โครงการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ป่า 100,000 เฮกตาร์ และโครงการตามแนวคิด Circular Carbon Economy เช่น นํานวัตกรรมเปลี่ยนขยะยางรถยนต์ให้เป็นยางมะตอย ช่วยสร้างทางหลวงของราชอาณาจักร

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย และอียิปต์ ครองตำแหน่งสามอันดับแรกในการขับเคลื่อนความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร ตามรายงานการสำรวจระดับภูมิภาค Middle East and North Africa (MENA) CSR ฉบับแรก ประจำปี 2020 จัดทำโดย Cicero & Bernay Public Relations หน่วยงานด้านการสื่อสารระดับภูมิภาคชั้นนำร่วมกับ YouGov กลุ่มวิจัยและวิเคราะห์ข้อมูลระดับนานาชาติ ผู้วิจัยมีมุมมองว่าผลจากโควิด-19 ทำให้รัฐบาลทั่วโลกต้องรับผิดชอบต่อความปลอดภัยของประชาชนมากขึ้น และภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจะทดสอบฝีมือ ความเห็นอกเห็นใจและการสนับสนุนประชาชนของรัฐบาล ดังนั้น CSR จะถูกจัดลำดับเป็นเรื่องสำคัญในวาระของทั้งรัฐบาลและบริษัทมหาชน

CSR is a necessity, not a mere luxury.

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...