ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คอลัมนิสต์ประจำอปท.นิวส์ ย้อนกลับ
ต้องเตรียมทักษะ ด้านดิจิทัล เพื่อการทำงานในอนาคต
23 พ.ย. 2564

DigiC : โดย ธวัชชัย สุขสีดา (อ.ดร.ต้นรัก) วิทยากรการตลาดดิจิทัล

ส่งท้ายปี 2564 คนไทยต้องเตรียมทักษะ

“ด้านดิจิทัล” เพื่อการทำงานในอนาคต

ผ่านไปอย่างรวดเร็วใกล้ปีใหม่ 2565 เข้ามาแล้ว เป็นธรรมเนียมที่เราต้องมาตั้ง New Year’s Resolution ปณิธานรับปีใหม่กันช่วงต้นปี เพื่อเดินหน้าพัฒนาตัวเองกันต่อไป สำหรับใครที่ยังไม่รู้ว่าจะตั้งเป้าหมายอะไร ชีวิตของเรายังต้องดำเนินต่อไป ซึ่งวิกฤตโรคโควิด-19 ก็ยังอยู่กับเรา จะเห็นได้ว่าหลายสิ่งเปลี่ยนแปลง ทุกคนบนโลกสามารถเก็บเกี่ยวบทเรียนที่ได้เพื่อไปสู่อนาคตที่ดีและชีวิตในช่วงหลังโควิด Post Covid เราจะดำเนินต่อไปอย่างไร

ความท้าทายและความเปลี่ยนแปลงจากโควิด-19 รายได้ เงินออม ลดลง สุขภาพจิตแย่ลง ถ้าชีวิตมีการปรับตัวได้เร็วที่สุดและมีการเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีอยู่ตลอดเวลา โดยดิจิทัล คือโอกาสของคนไทยในการสร้างรายได้ สร้างอาชีพและสร้างธุรกิจเพื่อความอยู่รอด การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ ส่งผลต่อการเสริมทักษะดิจิทัลให้กับคนไทย เพราะคนไทยในระยะสั้นมีคนตกงาน และเสี่ยงที่จะตกงานหลายล้านคน ส่วนในระยะยาวส่งผลต่อรูปแบบของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม 

นอกจากนี้ตลาดแรงงานไทยยังมีแนวโน้มที่จะเลิกจ้างแรงงานในสาขาที่มีความเสี่ยงสูงจำนวนมาก เช่น แรงงานที่ไม่มีทักษะและสามารถทดแทนด้วยเทคโนโลยีได้ แรงงานจึงต้องเตรียมย้ายไปยังสาขาที่จะสามารถอยู่รอดได้ในยุคดิจิทัล พร้อมกับพัฒนาทักษะ upskill reskill ให้เท่าทันต่อบริบทการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี

การที่คนไทยมีทักษะด้านดิจิทัลจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก โดยทักษะด้านความรู้ (Hard skills) และทักษะด้านอารมณ์ (Soft skills) เป็นความต้องการของตลาดงานในปัจจุบัน และยังคงมีความสำคัญในอนาคต เช่น ทักษะการแก้ปัญหา การคิดวิเคราะห์ ความยืดหยุ่นต่อสถานการณ์ที่เผชิญ ความอดทนต่อความเครียด การใช้เทคโนโลยี และการออกแบบและพัฒนาโปรแกรม หากดูในประเทศไทยทักษะสำคัญสำหรับคนไทยได้แก่

1. ทักษะคิดวิเคราะห์และนวัตกรรม (Analytical Thinking and Innovation) เป็นคนที่รู้จักคิดวิเคราะห์ ช่างสังเกต ช่างสงสัย ช่างถาม จับประเด็น แยกแยะและเชื่อมโยง นำไปสู่การคิดสร้างสรรค์งานใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมได้

2. การแก้ปัญหาที่ซับซ้อน (Complex Problem-Solving) เป็นคนที่มีทักษะในการจัดการกับปัญหาที่มีความสลับซับซ้อน มีกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ สามารถวิเคราะห์ความเชื่อมโยงของปัจจัยที่เกี่ยวข้อง และหาแนวทางการแก้ไขที่ต้นตอของปัญหา

3. การเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning and Learning Strategies) การเรียนรู้จากการลงมือทำด้วยตัวเอง ฝึกคิดวิเคราะห์ แลกเปลี่ยนประสบการณ์กลุ่มพร้อมร่วมกันแก้ปัญหา ผ่านกิจกรรมการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วม

4. ทักษะการคิดวิเคราะห์ (Critical Thinking and Analysis) เป็นคนที่มีทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ การคิดวิเคราะห์ตามหลักเหตุผล และประเมินความถูกต้อง มีความสมเหตุสมผล โดยใช้วิจารณญาณของความเป็นมนุษย์

5. ทักษะความคิดสร้างสรรค์  (Creativity, Originality and Initiative) เป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ คิดต่างไม่ซ้ำใคร (คิดนอกกรอบ) มีความคิดริเริ่มและกล้าที่จะทำในสิ่งใหม่

จะเห็นได้ว่าในยุคที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วพร้อมกับสถานการณ์โรคระบาดที่ยังมีอยู่ คนก็ต้องปรับตัวให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงให้ทัน ดังนั้นเราจึงต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต และปรับตัวให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงนี้ได้เพื่ออนาคตของตนเองและครอบครัว

(*อ้างอิงข้อมูลสำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ETDA)

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...