ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คอลัมนิสต์ประจำอปท.นิวส์ ย้อนกลับ
ไฟไหม้....ผีซ้ำด้ำพลอย
05 ส.ค. 2564

#CSRcontent : โดย มนวิภา จูภิบาล กรรมการบริษัท วีอาร์ทวินส์ จำกัด

ไฟไหม้....ผีซ้ำด้ำพลอย

ท่านกลางวิกฤตโควิด-19 ที่รุมเร้าเดือดร้อนกันทั่วประเทศ ทั้งชีวิต สุขภาพ และการทำมาหากิน เกิดไฟไหม้ระเบิดรุนแรงที่โรงงานผลิตโฟมและเม็ดพลาสติกภายในซอย 21 ถนนกิ่งแก้ว ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ในค่ำคืนวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 เวลาประมาณ 03.10 น. ใช้เวลาควบคุมสถานการณ์ 28 ชั่วโมง ความรุนแรงครั้งนี้ทำให้อาสาดับเพลิงวัย 19 ปี เสียชีวิต 1 คน มีผู้บาดเจ็บกว่า 40 คน บ้านเรือนและทรัพย์สินประชาชนเสียหาย  ตามมาด้วยมลพิษทางอากาศและน้ำจากการเผาไหม้ของสารเคมีซึ่งเป็นอันตรายต่อชุมชนใกล้เคียง 

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มีคำสั่งด่วนให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ใกล้โรงงานในระยะ 5 กิโลเมตรอย่างจ้าละหวั่น พร้อมจัดตั้งศูนย์อพยพต่อมาระยะเสี่ยงก็ขยายวงเป็น 10 กิโลเมตร โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต เร่งขนย้ายผู้ป่วยกว่า 100 ชีวิตไปยังโรงพยาบาลในเครือ ประชาชนเฝ้าติดตามการรายงานข่าวตั้งแต่เช้ายันค่ำ ยังมีฝนตกในบางช่วงชะล้างกลุ่มควัน ซึ่งเป็นสารพิษตกลงในลำคลองหรือบ่อน้ำ ไฟปะทุเป็นระยะๆ จากความร้อนและสารเคมีที่สะสม แม้ควบคุมได้แล้วยังต้องเฝ้าระวังต่อข้ามวัน ในวันรุ่งขึ้นก็มีเหตุเพลิงไหม้โรงงานผลิตน้ำหอม ภายในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง โซน 3 ถนนฉลองกรุง กรุงเทพมหานคร ล่าสุดยามดึกวันที่ 16 กรกฎาคม ยังมีไฟไหม้ถังเก็บน้ำมันของโรงงานกำจัดสารเคมี ที่ ปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา

การเกิดเพลิงไหม้ ระเบิด สารเคมีรั่วไหล เป็นกรณีศึกษาพื้นฐานของโรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องมีการซ้อมแผนระงับเหตุฉุกเฉินกันเป็นประจำทุกปี อีกทั้งตลอดปียังมีการซ้อมย่อย ซ้อมร่วมกับโรงงานอื่น ร่วมกับสถานพยาบาลร่วมกับภาครัฐ ร่วมกับองค์กร/มูลนิธิอาสาสมัคร สื่อมวลชน แม้กระทั่งซ้อมการอพยพและการสื่อสารกับชุมชน เมื่อเกิดเหตุขึ้นจะมีการดำเนินการเป็นขั้นตอนตามแผน หากความเสียหายขยายวงจนโรงงานรับมือเองไม่ไหว ก็จะส่งต่อโดยอัตโนมัติไปยังหน่วยบัญชาการที่กว้างขึ้น เช่น ไปสู่ระดับจังหวัด หรือระดับภาค รวมทั้งต้องมีผู้บัญชาการและกำหนดผู้สื่อสารกับสาธารณชน (spokesperson) ที่ชัดเจน เพื่อแจ้งข้อมูลข่าวสารเป็นระยะ ป้องกันการแตกตื่นไร้ทิศทางและป้องกันอันตราย  จะเป็นใครก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ซึ่งระบุไว้ในแผนทั้งหมด         

แต่น่าแปลกที่การระงับเหตุเพลิงไหม้ครั้งนี้ ดูสับสน เหมือนไม่มีผู้บัญชาการ ไม่มีการให้ข่าวสารที่ชัดเจนไม่ว่าจะออกมาจากโรงงานหรือส่วนอื่นใด จะเห็นภาพเจ้าหน้าที่ดับเพลิงจากหลายหน่วยงานเข้าไประงับเหตุ จนกระทั่งเกิดการสูญเสียเจ้าหน้าที่ ขณะที่มีประชาชนใส่แค่หน้ากากอนามัยถือโทรศัพท์เข้าไปถ่ายวีดิโอในระยะใกล้  ไม่มีการแจ้งชื่อและอันตรายจากสารเคมีที่เผาไหม้และวิธีการแก้ไขหากสัมผัส อย่างทันท่วงที ประชาชนรับรู้ข่าวสารส่วนใหญ่จากสื่อโซเชียลมีเดีย ใช้แอพพลิเคชั่นเช็คระยะห่างจากที่เกิดเหตุ เช็คทิศทางลมกันเอง  

ความรับผิดชอบต่อสังคมในกรณีนี้อยู่ที่ไหน บริษัทที่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดีจะต้องกำหนด นโยบายความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมไว้เป็นกรอบในการดำเนินธุรกิจ มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยหรือ จป ที่เป็นหน้าด่านสำคัญในการผจญกับสถานการณ์ ในการทำธุรกิจปกติ โรงงานจะต้องดำเนินการโดยระมัดระวังให้มีผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียน้อยที่สุด ทั้งพนักงาน ชุมชน  สังคม และสิ่งแวดล้อม เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นก็ต้องมีแผนรองรับบริหารจัดการให้สถานการณ์คลี่คลายโดยเร็วและส่งผลกระทบน้อยที่สุดเช่นกัน จากนั้นก็เป็นการเยียวยา และหากทำต่อเนื่องในระยะยาวก็จะเป็นประโยชน์อย่างยั่งยืนของทั้งชุมชนและองค์กรธุรกิจ

ภาครัฐก็ต้องกำกับดูแลการดำเนินธุรกิจในภาวะปกติของโรงงานให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับต่างๆ ซึ่งหมายถึงการลดความเสี่ยงในการเกิดเหตุฉุกเฉินอันตราย แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว หน่วยงานผู้รับผิดชอบ ก็ต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างฉับไว มีประสิทธิภาพ และที่สำคัญคือมีข้อมูลและความรู้ที่ถูกต้อง เพื่อการตัดสินใจดำเนินการที่เหมาะกับสถานการณ์มากที่สุด  มิฉะนั้นอาจซ้ำเติมสถานการณ์ให้แย่ลงได้

การสร้างความสูญเสียต่อผู้อื่นโดยประมาทหรือละเว้นการบริหารจัดการที่ดี ยังขัดต่อแนวทางสิทธิมนุษยชน อันเป็นหนึ่งในแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ สิทธิมนุษยชนเป็นหลักคุณค่าและมีความเป็นสากล ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration on Human Rights) ที่ได้รับการรับรองจากองค์การสหประชาชาติในปี 2491 คือรากฐานสำคัญในการวางแนวคิดและหลักการว่าด้วยมาตรฐานขั้นต่ำในการดำรงชีวิตของมนุษย์ เรียกร้องให้ทุกคนและทุกภาคส่วนของสังคมเคารพในชีวิตและศักดิ์ศรีซึ่งกันและกัน

หากพิจารณาตามหลักจารีตประเพณีของปฏิญญาสากลนี้แล้ว รัฐคือผู้รับผิดชอบเบื้องต้นต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน และยังกำหนดพันธกรณีที่ผูกพันรัฐซึ่งให้สัตยาบันต้องเคารพ คุ้มครอง และทำให้สิทธิมนุษยชนของประชาชนเป็นจริง ส่วนองค์กรธุรกิจในฐานะหน่วยหนึ่งของสังคมที่มีบทบาทด้านเศรษฐกิจ การค้า การเมือง และมีความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสียหลายกลุ่มย่อมมีหน้าที่ รับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ด้วยความเคารพในคุณค่าของมนุษย์และหลักสิทธิมนุษยชนเช่นเดียวกัน องค์กรธุรกิจที่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี นอกจากจะมีแนวทางการบริหารจัดการความเสี่ยงทางธุรกิจแล้ว จึงมีการบริหารความเสี่ยงเรื่องเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนขององค์กรตลอดสายโซ่การผลิต รวมถึงคู่ค้าและบริษัทในเครือ

เสียงเจ้าหน้าที่ตะโกนบอกต่อกันว่าโฟมหมดๆ ขณะที่ไฟยังลุกโหมแสดงถึงการขาดแคลนอุปกรณ์ และรวมถึงขาดแคลนนักดับเพลิงที่มีอุปกรณ์ป้องกันตัวเต็มที่ นักดับเพลิงหญิงไทยในสหรัฐอเมริกาคนหนึ่งแสดงความเห็นใน clubhouse ว่า อุปกรณ์ป้องกันตัวเองมีความสำคัญมากเพื่อทำงานได้อย่างเต็มที่ เธอเห็นภาพนักดับเพลิงจากข่าวไฟไหม้ครั้งนี้แล้วอยากร้องไห้ อุปกรณ์ไม่พร้อม บางคนใส่เสื้อยืด รถโฟม อุปกรณ์ดับเพลิง และเจ้าหน้าที่ระงับเหตุ ส่วนหนึ่งมาจากบริษัทต่างๆ ที่เข้ามาช่วยเหลือ เช่น บริษัท บางจากคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ส่งรถโฟมและเจ้าหน้าที่ กลุ่ม ปตท. ระดมอุปกรณ์และศักยภาพความเชี่ยวชาญในการจัดการสารเคมีเข้าช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน บริษัท สตาร์ปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ในฐานะสมาชิกกลุ่มความช่วยเหลือกรณีฉุกเฉิน (Emergency Mutual Aid Group: EMAG) ซึ่งเป็นการรวมตัวของทีมตอบโต้เหตุฉุกเฉินในกลุ่มโรงงานนิคมอุตสาหกรรมพื้นที่มาบตาพุดและใกล้เคียง จังหวัดระยอง ส่งน้ำยาโฟมช่วยระงับเหตุและยับยั้งการลุกลาม

ไม่ว่าจะเหตุไฟไหม้หรือวิกฤตโควิด-19 หลังเกิดเหตุย่อมเห็นภาพ CSR ปลายเหตุ จากหน่วยงานต่างๆ มากมาย การลงชุมชนเยี่ยมผู้ได้รับผลกระทบ มอบอาหาร เครื่องใช้ หน้ากากกันสารพิษ ตลอดจนการสร้างภาพลักษณ์หรือเพิ่มพื้นที่ข่าวทางการเมืองด้วย CSR วนลูปซ้ำแล้วซ้ำเล่า หากผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจบริหารจัดการไม่ให้เกิดวิกฤต จะได้เก็บพลังและทรัพยากรที่ใช้ทำ CSR ปลายเหตุไว้ทำ CSR เพื่อการพัฒนาแทน........จะดีกว่าไหม

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 มีนาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...