ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คอลัมนิสต์ประจำอปท.นิวส์ ย้อนกลับ
ผู้ตรวจการเลือกตั้ง
18 พ.ค. 2566

เขียนให้คิด โดย ซีศูนย์

ผู้ตรวจการเลือกตั้ง

สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่เคารพ ช่วงเวลานี้จนถึงเดือนพฤษภาคม เราคงจดจ่ออยู่กับเรื่องการเลือกตั้งทั่วประเทศกันชนิดตาไม่กระพริบ มีทั้งโพล มีทั้งไลน์ ส่งข้อมูลทั้งพรรคทั้งบุคคลกันอย่างเอาเป็นเอาตาย ยังไงเสียพวกเราก็ต้องออกไปใช้สิทธิกันนะครับ

คราวก่อนพูดถึงเรื่องความเป็นกลาง มาคราวนี้เรามารู้จักกับ “ผู้ตรวจการเลือกตั้ง” ที่ กกต.เขาแต่งตั้งทุกจังหวัดครับ ซึ่งในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง ตำแหน่งนี้ดูเหมือนจะมีบทบาทไม่แพ้เจ้าหน้าที่ส่วนอื่นของ กกต.นะครับ จากข้อมูลของ I law สรุปไว้ดี ขอนำมาถ่ายทอดต่อนะครับ

หน้าที่หลักของผู้ตรวจการเลือกตั้ง คือ ตรวจสอบ เตือนการทำงานของเจ้าหน้าที่จัดเลือกตั้ง รายงานความผิดปกติต่อ กกต. ตามกฎหมายลูกของ กกต. โดยในการเลือกตั้ง ส.ส. หรือ ส.ว. แต่ละครั้ง ให้ กกต.แต่งตั้ง “ผู้ตรวจการเลือกตั้ง” เพื่อปฏิบัติหน้าที่ในแต่ละจังหวัด โดยผู้ตรวจการเลือกตั้งมีอำนาจและหน้าที่ในจังหวัดที่ได้รับการแต่งตั้ง ดังต่อไปนี้

(1) ตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐและเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการเลือกตั้ง เช่น ผู้อำนวยการประจำเขต กรรมการประจำเขต กรรมการประจำหน่วย หรือเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เป็นต้น โดยสามารถแจ้งเตือนให้ปฏิบัติให้ถูกต้องได้ ถ้าไม่มีการดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องให้รายงานให้ กกต. ทราบโดยเร็ว

(2) ตรวจสอบการกระทำความผิดกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง หรือการกระทำใดที่จะทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริต เที่ยงธรรม หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย

(3) เข้าไปในที่เลือกตั้ง หรือสถานที่นับคะแนนเลือกตั้ง เพื่อสังเกตการณ์หรือเมื่อมีเหตุอื่นใดที่อาจทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม

(4) ปฏิบัติงานอื่นตามระเบียบ คำสั่ง ประกาศ และมติของ กกต. และตามที่ได้รับมอบหมาย

นอกจากนี้ ผู้ตรวจการเลือกตั้งยังต้องรายงานความผิดปกติตามข้อ (1) และ (2) ข้างต้น ให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด เพื่อให้ดำเนินการสืบสวน ไต่สวน และวินิจฉัยชี้ขาดตามระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป

ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้ถือว่าผู้ตรวจการเลือกตั้งเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาด้วยนะครับ ใครขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ตรวจการเลือกตั้ง ต้องระวางโทษจำคุก หรือปรับหรือทั้งจำทั้งปรับ หากเป็นการขัดขวางโดยใช้หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือเพื่อให้การเลือกตั้งไม่สุจริต เที่ยงธรรม หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุก หรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับเช่นกัน

ส่วนคุณสมบัติผู้ตรวจการเลือกตั้งตามระเบียบ กกต.ว่าด้วยผู้ตรวจการเลือกตั้ง พ.ศ. 2561 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม) ต้องมีสัญชาติไทย อายุ 45-70 ปี สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความเป็นกลางทางการเมือง ไม่มีความประพฤติเสื่อมเสีย ไม่เป็นข้าราชการ ไม่เป็นสมาชิกพรรคใดในเวลาห้าปีที่ผ่านมา และไม่เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งระดับชาติหรือท้องถิ่น หรือมีบุพการี คู่สมรสหรือบุตร เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ฯลฯ

เท่าที่ทราบเกือบทุกจังหวัดที่ กกต.แต่งตั้งมักจะเป็นข้าราชการเกษียณแล้ว ซึ่งจะเป็นอดีตข้าราชการ ทหารและตำรวจเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ กกต. แต่งตั้งจังหวัดละ 5-8 คน โดยใช้วิธี “จับสลาก” แล้วมีคำสั่งแต่งตั้งและจัดทำ “บัญชีรายชื่อผู้ตรวจการเลือกตั้ง” ซึ่งมีระยะเวลาไม่เกินห้าปีไว้ จากนั้นในการเลือกตั้ง ส.ส. หรือ ส.ว. แต่ละครั้ง กกต. จะต้องแต่งตั้ง “ผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด” จากผู้ที่อยู่ใน “บัญชีรายชื่อผู้ตรวจการเลือกตั้ง” จังหวัดละห้าถึงแปดคน ขึ้นอยู่กับจำนวนเขตเลือกตั้ง ในการแต่งตั้ง กกต. จะใช้วิธี “จับสลาก” เพื่อให้มีจำนวน “ผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด” ครบตามจำนวน โดยแบ่งเป็น ผู้ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัด หรือ “คนในพื้นที่” จำนวน  2 คน และผู้ที่ไม่มีภูมิลำเนาในจังหวัด หรือ “คนนอกพื้นที่”

ทั้งนี้ ในกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้ง “คนในพื้นที่” ได้ ให้ กกต.แต่งตั้ง “คนนอกพื้นที่” แทน เพื่อให้ครบจำนวนได้ ผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดมีระยะเวลาการปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่มีคําสั่งแต่งตั้ง ซึ่งต้องไม่ช้ากว่า 10 วัน แต่ไม่เร็วกว่า 30 วัน นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งมีผลใช้บังคับจนถึงวันประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส. ไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของเขตเลือกตั้งทั้งหมด หรือวันประกาศผลการเลือก ส.ว. แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2561 กกต. ได้จัดทำบัญชีรายชื่อและมีคำสั่งแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้ง โดยบัญชีรายชื่อดังกล่าวมีระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่มีคำสั่ง คือ มีผลจนถึงวันที่ 10 ตุลาคม 2566

ดังนั้น สำหรับการเลือกตั้งเดือนพฤษภาคม 2566 นี้ กกต. จะต้องจับสลากและแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดจากบัญชีรายชื่อเดิมเมื่อปี 2561 ผู้ตรวจการเลือกตั้ง มีเงินเดือน-เบี้ยเลี้ยง ห้าหมื่นกว่าบาท และยังสามารถ เบิกค่าเบี้ยเลี้ยงได้วันละ 400 บาท และผู้ช่วยปฏิบัติงาน 15,000 บาท เบิกค่าเบี้ยเลี้ยงได้วันละ 250 บาท (ผู้ตรวจการเลือกตั้งสามารถมีผู้ช่วยปฏิบัติงานได้หนึ่งคน) ขณะที่ยังกำหนดอัตราค่าตอบแทนสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่เสี่ยงภัย จังหวัดสงขลา 3,750 บาทต่อเดือน จังหวัดยะลา ปัตตานีและนราธิวาส 5,000 บาทต่อเดือน ให้ด้วย

ครับก็หวังว่า การเลือกตั้งที่จะถึงเดือนพฤษภาคม 2566 นี้ พวกเราคงได้เห็นผู้ตรวจการ เลือกตั้งทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพนะครับ

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...