ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
อปท.เชิญเป็นแขก ย้อนกลับ
กอบกิจ ประดิษฐผลพานิช คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
01 ก.ค. 2565

นิเทศศาสตร์ นับเป็นศาสตร์หรือแขนงของการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่เกี่ยวข้องกับศิลปะในการสื่อสารที่จะกระจายข่าวสารให้กับสาธารณชนได้รับทราบ ซึ่งหากย้อนหลังไปสักประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา เป็นหนึ่งในวิชาที่ได้รับความนิยมค่อนข้างสูงจากนิสิตนักศึกษาที่ต้องการก้าวเข้าสู่การประกอบอาชีพสำหรับตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นนักหนังสือพิมพ์ นักจัดรายการทางวิทยุ-โทรทัศน์ นักประชาสัมพันธ์ นักโฆษณา หรือแม้กระทั่งอาชีพที่มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องกับการสื่อสารทั้งหมด ปัจจุบันมหาวิทยาลัยต่างๆ จึงได้เปิดการเรียนการสอนสาขาวิชานิเทศศาสตร์แทบทุกมหาวิทยาลัย

อปท.นิวส์เชิญเป็นแขกฉบับนี้ จึงขอนำท่านผู้อ่านมารู้จักกับหนึ่งในผู้สอนนิเทศศาสตร์รัดับชั้นนำของประเทศที่ก้าวขึ้นมาสู่ตำแหน่งคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ หรือDPUในปัจจุบัน ซึ่งบุคคลผู้นั้นก็คือ อาจารย์กอบกิจ ประดิษฐผลพานิช หรือที่เรียกกันว่าอาจารย์ก้อง นั่นเอง

กล่าวกันว่า อาจารย์ก้อง เป็นบุคคลที่มีโลกทัศน์และองค์ความรู้ด้านสื่อต่างประเทศและด้านการสื่อสารดิจิทัลเป็นอย่างดีคนหนึ่งในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมากในการพัฒนาการศึกษาและสร้างทักษะทางวิชาชีพให้กับเยาวชนในอนาคตสมกับที่คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ในปีนี้ มีสโลแกนว่า “Beyond Content Creator มากกว่านักสร้างคอนเทนต์ เราเน้นธุรกิจแห่งอนาคต”

อาจารย์ก้อง จบการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเซนต์คาเบรียล สามเสน กรุงเทพฯ และเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี สาขาการตลาด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยระหว่างเรียนได้เป็นหัวหน้านักศึกษาในสาขาของรุ่น Shi 60 ด้วย หลังจากนั้นได้เรียนต่อระดับปริญญาโทหลักสูตรนิเทศศาสตรมหาบัณฑิต (การสื่อสารมวลชน) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งถือเป็นรุ่นที่ 13 และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการประกอบวิชาชีพด้านการสื่อสารมวลชน

อาจารย์ก้อง ในวัย 41 ปี เล่าให้ฟังว่า ผ่านงานมาทั้งการทำงานคลื่นวิทยุเอฟเอ็ม(FM) ในกรุงเทพฯ และทำสื่อสิ่งพิมพ์ของตัวเองในนามนิตยสาร New Silk Road หลังจากนั้นก็ได้เริ่มพัฒนางานจากสื่อแบบดั้งเดิมมาเป็นสื่อดิจิทัล โดยเริ่มจากการใช้ facebookส่วนตัว ซึ่งถือเป็นยุคแรกๆ ประมาณปี พ.ศ.2548 ที่ยังต้องใช้อีเมลของสถานศึกษาต่างประเทศ Log in เปิดใช้เท่านั้น หลังจากนั้นจึงได้เริ่มทำแฟนเพจข่าว และพัฒนามาเป็นการทำเพจข่าวต่างๆ ควบคู่ไปกับการเริ่มเป็นอาจารย์ด้านนิเทศศาสตร์ที่มหาวิทยาลับธุรกิจบัณฑิตย์ในช่วงปี พ.ศ. 2551 เป็นต้นมาจนมาในปี 2560 จึงได้รับตำแหน่งคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์มาจนถึงปัจจุบัน

อาจารย์ก้องบอกว่า ภารกิจที่สำคัญและมีความตั้งใจมาโดยตลอดในบทบาทนักการศึกษาคือการสร้างนักศึกษาให้รู้ทันสื่อ มีทักษะการทำสื่อในโลกดิจิทัล นอกจากนี้ยังมุ่งที่จะทำสื่อเพื่อประชากรกลุ่มเฉพาะและผลักดันให้คนพิการและผู้สูงอายุเข้าสู่โลกดิจิทัลแบบรู้เท่าทัน พร้อมทั้งทำสื่อได้ ให้เดินไปได้พร้อมๆกันกับคนรุ่นใหม่

ด้านประสบการณ์ทำงาน อาจารย์ก้องบอกว่าในช่วง 5 ปีหลังนี้ ได้เข้ามาช่วยสื่อจีนในเรื่องการสื่อสารข่าวสารให้บริการกับสื่อไทย เพื่อให้ประชาชนไทยได้รับข้อมูลข่าวสารที่สมดุล ไม่ใช่จากแหล่งข่าวตะวันตกเพียงอย่างเดียว จนปัจจบันเป็นผู้ผลิตรายการจับจ้องมองจีน ทุกวันเสาร์ เวลา 15.30 น. ทางเนชั่นทีวี ซึ่งผลิตรายการโดยเนชั่นทีวี และ China Media Group เป็นผู้ดูแลงานข่าวแปลภาคภาษาไทยของซินหัวไทย บรรณาธิการ จีนไทยนิวส์ และ New Silk Road ผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสารสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล

สำหรับอาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัยอาจารย์ก้องเล่าว่า อาชีพอาจารย์อาจเป็นอาชีพที่หลายคนใฝ่ฝันและคิดว่าเป็นอาชีพที่สบายๆ แต่สำหรับคนที่ใกล้ชิดกับคนที่ประกอบวิชาชีพเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยจะทราบดีว่า อาชีพนี้ไม่ใช่ง่ายเลยแม้แต่น้อย ยิ่งในยุคดิจิทัลที่มีหลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว อาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัยในฐานะผู้ผลิตบัณฑิตที่ต้องทำงานหรือต้องหารายได้ทันทีหลังเรียนจบ ก็ต้องเร่งอัพเดตตัวเอง อัพเดตความรู้ และจัดการบริหารให้องค์กรการศึกษาของตัวเองมีความทันสมัยตลอดเวลา

“ผมเองตอนแรกมีความสนใจในเรื่องการสื่อสารการตลาดมาก่อน ต่อมาเกิดปรากฏการณ์ยุค Social Media ก็ได้ติดตามความเปลี่ยนแปลงของวงการในเฟซบุ๊กมาโดยตลอด จนมาถึงยุคเมตา หรือเมตาเวิร์ส”

อาจารย์ก้อง บอกด้วยว่า ในช่วงที่สอนด้านการสื่อสารการตลาดยุคแรกๆ ท้าทายมาก เพราะเป็นยุคขาขึ้นของการใช้สื่อดิจิทัล จนพอได้รับตำแหน่งคณบดีฯ ก็ทำการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญร่วมกับคณาจารย์ทุกคน รวมพลังกันเปลี่ยนสาขาทั้งหมดของคณะนิเทศศาสตร์ DPU ให้เป็น “ดิจิทัล” ทั้งหมด โดยประกอบด้วย 4 สาขาหลักคือ

หลักสูตรการสื่อสารการตลาดดิจิทัล (DigiC)หลักสูตรสื่อดิจิทัลและการสร้างสรรค์ (DigiM)หลักสูตรภาพยนตร์และสื่อดิจิทัล(FD)และหลักสูตรการสื่อสารการแสดงดิจิทัล (PlayC)

“ตอนนั้นถือว่าเป็นข่าวดังไปทั้งวงการที่เรามีวิชาเฟซบุ๊กศึกษา และทั้ง 4 สาขาของเรา หากใครได้บัณฑิตจากเราไป สามารถเอาคนเหล่านั้นไปร่วมมือกันทำธุรกิจได้ทันที ยกตัวอย่างเช่น หากจะทำธุรกิจไลฟ์ขายสินค้า ตัวพิธีกร ตัวนักขาย ก็เริ่มจากหลักสูตรการสื่อสารการแสดงดิจิทัล หลังจากนั้นก็ทำคลิป ทำภาพ ทำหนังสั้น ทำหนังโฆษณา ด้วยหลักสูตรสื่อดิจิทัลฯ และหลักสูตรภาพยนตร์ฯ จบด้วยให้ฝ่ายการตลาด หลักสูตรการสื่อสารการตลาดดิจิทัล สื่อไปให้ถึงกลุ่มเป้าหมายแบบคุ้มค่าที่สุดฎ

“นักนิเทศศาสตร์ที่จบจากเราจึงต้องเป็นนักผลิตสื่อดิจิทัลมืออาชีพ เป็น Content creator, Podcaster, Youtuber เป็นนักแสดง เป็นนักทำหนังสั้น เป็นนักสื่อสารการตลาดที่มีทักษะรอบด้าน สมมุติว่าคนหนึ่งคนควรจะมีทั้งทักษะการวางแผน ทักษะเล่าเรื่อง ทักษะการกำกับการแสดง ทักษะการใช้กล้อง ทักษะการถ่ายทำหนัง เขียนบท ตัดต่อเทป สร้างสรรค์เสียง และกราฟิกเพื่องานคลิปวิดีโอ เข้าใจการทำงานในธุรกิจสื่อโมเดลใหม่ สามารถสร้างสื่อให้เป็นเงิน ทำสื่อดิจิทัลได้ในทุกแพลตฟอร์ม และทำการตลาดหารายได้เลี้ยงตัวเองได้”

อย่างไรก็ตามในยุคเมตาเวิร์ส นักการศึกษา ผู้ผลิตบัณฑิตด้านนิเทศศาสตร์ ยังต้องทำงานหนัก ต้องนำพาให้นักศึกษาเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ รู้จักสื่อเสมือนจริง ไม่แปลกแยกกับโลกเสมือน ภารกิจตรงนี้โชคดีว่า ทีมงานผู้บริหารส่วนกลางของDPU มีความเข้มแข็งมาก อย่างที่ทราบกันในข่าวว่า มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ หรือ DPU เป็นสถาบันแรกในไทยที่มอบปริญญาบัตรในรูปแบบของ NFT (Non-Fungible Token) โดยเปิดให้นักศึกษาที่มีวอลเล็ตดาวน์โหลดได้เลย นอกจากนั้นทาง DPU ยังมีการจัด Virtual Concert และเตรียมที่จะจัด Virtual Exhibition รวมถึง Virtual Variety and Game show กับองค์กรสื่อชั้นนำอีกด้วย

อาจารย์ก้อง ได้บอกถึงวิวัฒนาการ องโลกเสมือนจริงเอาไว้ว่า“คำศัพท์ที่เราพูดกันเปลี่ยนไปมากในปีเดียว Immersive Media สื่อเสมือนจริง VR (Virtual Reality) ความจริงเสมือน AR (Augmented Reality) ความจริงเสริมเติม MR (Mixed Reality) ความจริงผสมผสาน XR (Extended Reality) ความจริงต่อขยาย และ ตบท้ายคือ Metaverse หรือจักรวาลนฤมิตร ทั้งหมดนี้กลายเป็นอนาคตของด้านนิเทศศาสตร์ ในปี 2565 คณะนิเทศศาสตร์ของ DPU จะมุ่งสู่กลยุทธ์เชิงรุก เปิดหลักสูตร รายวิชาใหม่ๆ โดยจะ Zoom Out ออกมามองหาจุดยืนใหม่ที่ไม่ทับซ้อนกับคนอื่น”

ด้วยโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้หลักคิดจากนักการศึกษาและนักนิเทศศาสตร์ จึงมีความเหมือนกันประการหนึ่งคือ ต้องไม่ตกยุค ต้องตามโลกทัน ต้องไม่ถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง โดยอาจารย์ก้อง เล่าให้ฟังว่า คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มีภารกิจการสื่อสารเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ต้องการพัฒนาตนเอง และต้องการทักษะจำเป็นในช่วงโควิด เช่น ทำรายการคนหูหนวกรู้สู้โควิดกับทาง สสส. ที่ช่วยให้ข้อมูลด้านสุขภาพอันจำเป็นเช่นเรื่องการดูแลตัวเอง การฉีดวัคซีน แก่คนหูหนวกที่ไม่เข้าถึงข้อมูลข่าวสารเท่าที่ควร ทำรายการ D-มีดี กับทาง กสทช.เพื่อส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อ ทุกคนดูร่วมกันได้ ทั้งผู้สูงอายุ ผู้พิการ และวัยรุ่น ทำรายการหนังสือเสียง “สามก๊ก” กับทาง  CMG ให้ทั้งคนทั่วไป วัยรุ่น คนทำงาน คนสูงอายุฟังได้ไปด้วยกัน รวมถึงคนตาบอดอีกด้วย

และล่าสุดได้จัดหลักสูตรให้ผู้สูงอายุมาหัดใช้สื่อดิจิทัล ทำคลิป ทำหนังสั้น ภายใต้หลักสูตร ชื่อ DMA หรือ บัณฑิตพันธุ์ใหม่ : การผลิตสื่อดิจิทัลสำหรับผู้สูงอายุและบุคคลทั่วไป ซึ่งเปิดรับแล้วเต็มภายในสามวัน ทั้งหมดนี้เป็นอีกหนึ่งภารกิจที่ต้องร่วมด้วยช่วยกันอาจารย์ก้องเล่าให้ฟังว่า ผู้สูงอายุในยุคนี้ มีความต้องการอยากจะรู้จักการทำLive streaming การฟัง Podcast หรือทำขึ้นมาด้วยตัวเอง ซึ่งตรงนี้คณะนิเทศศาสตร์สามารถช่วยอบรมให้กับกลุ่มผู้สูงอายุได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตามในยุคดิจิทัลที่มีแต่ความเปลี่ยนแปลง อาจารย์ก้องมีข้อคิดที่อยากจะฝากไว้คือ “อยากจะให้ทุกคนมีสติให้มาก อย่าใช้ข่าวปลอม ข่าวลวง ข่าวด้านเดียว มาเป็นอาวุธทางด้านการสื่อสาร เพื่อใช้ประหัตประหารกัน อยากจะเห็นการบริโภคข้อมูลข่าวสารทั้งสองทาง ฟังด้านใดแล้วให้ไปเปิดรับอีกด้านหนึ่งเอาไว้ไตร่ตรองดูด้วย เพื่อที่จะได้ไม่ถูกฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดชักจูงไปในทางที่ผิด โดยเฉพาะข่าวการเมืองและข่าวต่างประเทศ สองด้านนี้เป็นเหมือนสนามรบที่ต้องรู้เท่าทัน มากกว่าเรื่องแค่การติดตามเทคโนโลยีส่วนในด้านวิสัยทัศน์ก็อยากจะบอกผู้ที่สนใจในเรื่องสื่อดิจิทัลให้มองสังเกตการณ์อาชีพใหม่ๆ ในโลกเสมือน ในอนาคตจะมีอาชีพใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย เพราะงานสื่อสาร งานโฆษณา แบบเดิมกำลังจะขยายจังไปอยู่ในโลกเสมือนอย่างกลมกลืน”

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...