ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คอลัมนิสต์ประจำอปท.นิวส์ ย้อนกลับ
ไม่ควรมีเด็กถูกทำร้าย
26 พ.ค. 2565

#CSRcontent โดย มนวิภา จูภิบาล กรรมการบริษัท วีอาร์ทวินส์ จำกัด

ไม่ควรมีเด็กถูกทำร้าย

โลกสวยก็พูดแบบนี้ แต่ความจริงยังห่างไกล

“ผงะ เด็กวัย 12-17 ปีถูกละเมิดทางเพศออนไลน์พุ่ง อับอายไม่กล้าแจ้งตำรวจอื้อ” “ทะเลาะกลางร้านปิ้งย่าง ผัวขี่รถหนีเมียฉุนจัด ตบตีทุ่มเก้าอี้ใส่ลูก 5 ขวบ” “เชิญวิญญาณน้องเหนือเหยื่อพ่อเลี้ยงโหด แม่ขอโทษ ยันวันเกิดเหตุไม่รู้เรื่อง”

เราเพิ่งคุยถึงเด็กๆ ที่ประสบปัญหาจากภัยสงครามรัสเซีย ยูเครน ทำให้บ้านแตก อดอยาก สุขอนามัยย่ำแย่ และเสี่ยงกับอันตรายในระหว่างการอพยพ ย้อนมาดูในประเทศไทย แม้ไม่มีสงคราม แต่กลับพบข่าวเด็กถูกทำร้ายไม่เว้นแต่ละวัน มีหลายองค์กรทั้งภาครัฐ เอกชน รวมถึงมูลนิธที่ดำเนินการมายาวนาน คอยช่วยเหลือเด็กๆ จากภัยอันตรายและการถูกล่วงละเมิดสิทธิ นั่นหมายถึง ปัญหายังฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง และไม่มีทีท่าจะดีขึ้น ความรุนแรงทางร่างกาย เช่น การทุบตี ยังคงถูกมองจากบางครอบครัวว่า เป็นวิธีปกติในการสร้างวินัยให้กับเด็ก เช่น กรณีแม่ทำร้ายลูก แม่บอกเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า ลูกของตัวเองจะทำอะไรก็ได้ ในประเทศไทยยังไม่ค่อยเห็นการทำ CSR ที่ให้ความรู้กับประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางในเรื่องสิทธิและการคุ้มครองเด็ก รวมทั้งโทษหากทำผิดกฎหมาย ทางองค์การยูนิเซฟเสนอให้มีการปรับเปลี่ยนความเชื่อและแนวปฏิบัติในการอบรมเด็กจากการใช้ความรุนแรงเป็นการสร้างวินัยเชิงบวก ผ่านการสื่อสารเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและสังคม

บทสัมภาษณ์ของศาสตราจารย์ สรวิศ ชัยนาม เรื่องทุนนิยม วัฒนธรรมมหาชน และความเป็นซ้ายของประชาธิปไตย มีตอนหนึ่งที่กล่าวถึงในมุมทางจิตวิเคราะห์ เรื่อง enjoyment ที่ขยายความได้ว่า เป็นความรู้สึกที่ดีจากการถูกจำกัด ถูกกีดขวาง ถูกห้าม แล้วเราพยายามที่จะแหกกฎ ข้ามเส้น หรือทำผิดกฎนั้น ทำให้เกิดความรู้สึกที่ดีขึ้น หรือเกิดความ enjoy ที่ได้มาจากการเติมเต็มสิ่งที่รู้สึกว่าขาด นอกจากเรื่องความไม่ยุติธรรมทางการเมืองที่ enjoyment อาจรงขับในการต่อต้าน ลุกขึ้นสู้แล้ว (Slavoj Zizek : enjoyment as a political factor) ยังโยงไปได้กับปรากฎการณ์มากมาย เช่น ทำไมครูอนุบาลจึงบูลลี่เด็กอนุบาล ทำไมบาทหลวงจึงละเมิดทางเพศเด็กผู้ชายที่ขับร้องประสานเสียง ทำไมมีการทำร้ายร่างกายกันในค่ายทหาร ในมหาวิทยาลัย ทำไมอาสาสมัคร peacekeeper ซื้อบริการทางเพศเด็กที่อายุต่ำกว่าเกณฑ์ หรือค้ามนุษย์เองด้วยซ้ำ หน้าข่าวไทยวันนี้ก็มีเรื่องพระสงฆ์ที่ละเมิดกฎอย่างรุนแรง สิ่งเหล่านี้ดูขัดแย้ง หากแต่ภาวะการถูกจำกัดดังกล่าวกลับไปสร้าง enjoyment ที่ล้นเกินทำให้เกิดเหตุขึ้นได้ เช่นนี้ เราและสังคมจะช่วยกันหาทางบรรเทาปัญหาที่เกิดกับเด็กได้อย่างไร

ผลพวงจากโควิด1-9 และเศรษฐกิจไม่ดี ทำให้มูลนิธิที่ดูแลเด็กได้รับผลกระทบพอสมควร กิจกรรม CSR ต่างq แทบไปจัดไม่ได้เนื่องจากความเสี่ยงในการแพร่กระจายของโรค ยกตัวอย่าง มูลนิธิคุ้มครองเด็ก ซึ่งเป็นองค์กรเอกชน มีภารกิจหลักในการช่วยเหลือเด็กที่โดนละเมิดสิทธิจากคนในครอบครัว ช่วยเหลือเด็กที่ตกอยู่ในความทุกข์ทรมานจากการถูกทำร้าย ช่วยรักษาและฟื้นฟูสุขภาพของเด็กที่ถูกทารุณกรรมทางร่างกายหรือทางเพศจากผู้ปกครอง โดยรับเด็กไทยทั้งหญิงชายจากทั่วประเทศมาอยู่ที่ศูนย์ฟื้นฟูที่ตำบลสวนหลวง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อให้เด็กมีสถานที่พักพิงอย่างอบอุ่นปลอดภัย ป้องกันมิให้เด็กหนีออกจากบ้าน ไปเร่ร่อน ค้าประเวณีหรือเป็นเหยื่อในรูปแบบต่างๆ  

เด็กบางคนมีความเสี่ยงที่จะถูกละเมิดหรือทำร้ายหากยังอยู่กับผู้ปกครอง ครูที่ศูนย์เล่าว่า ได้รับการติดต่อเพื่อให้ช่วยเหลือเด็กจากหลายช่องทาง เช่น หน่วยงานท้องถิ่น หมอ พยาบาล ครู นักสังคมสงเคราะห์ หรือชาวบ้านในชุมชน น่าดีใจที่เด็กๆ รอดปากเหยี่ยวปากกามาอยู่ที่ศูนย์ ซึ่งเรียกได้ว่ามีหลักประกันชีวิตความเป็นอยู่ ตั้งแต่ปัจจัยสี่ ไปจนถึงการศึกษา การคุ้มครอง และการฟื้นฟูพัฒนาร่างกายและจิตใจ

 

มูลนิธิคุ้มครองเด็ก มีโครงงาน ติดตามช่วยเหลือเด็กโดยเร่งด่วน งานบ้านคุ้มครองเด็กชาย งานบ้านคุ้มครองเด็กเล็ก งานบ้านคุ้มครองเด็กหญิง ศูนย์กิจกรรมเพื่อเด็ก บรรยากาศของศูนย์ฟื้นฟูโปร่งสบาย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง ด้านข้างมีร่มไม้เขียวชอุ่ม พื้นที่กว้างขวางสะอาด มีลานกว้างออกกำลังกาย ห้องเรียนที่เปิดโล่ง และมุมสำหรับพักผ่อนหย่อนใจ ดูทีวี วิดีโอ ชั้นหนังสือ เด็กโตผู้หญิงมีการแบ่งงานช่วยดูแลเด็กเล็กแต่ละคน เป็นกุศโลบายสอนให้เด็กรู้ซึ้งว่าการมีลูกเป็นภาระที่ต้องดูแลต่อเนื่อง จะได้ป้องกันไม่ให้พลาดพลั้งไปมีลูกในช่วงที่ยังไม่พร้อม เด็กทุกคนได้ไปโรงเรียนตามปกติ และดูยิ้มแย้มมีความสุข มูลนิธิยังต้องการความช่วยเหลือจากอาสาสมัคร ช่วยงาน หรือทำกิจกรรมสำหรับเด็ก  รับบริจาคเงิน อาหาร สิ่งของจำเป็นสำหรับเด็ก ตั้งแต่แบเบาะไปจนถึงวัยรุ่น ปัจจุบันรวม 64 คน ไปเที่ยวอัมพวาก็แวะเอาขนมไปฝากน้องๆ ได้ ศูนย์อยู่ห่างจากตลาดน้ำอัมพวาไม่ถึง 10 นาที โทรศัพท์: 034 753100 และ 08 6754 7986

เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2565 กระทรวงสาธารณสุข โดยเขตสุขภาพที่ 8 และองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย เปิดตัว Primero ระบบสารสนเทศออนไลน์ ซึ่งถูกนำไปใช้ในกว่า 40 ประเทศทั่วโลก เพื่อช่วยให้นักสังคมสงเคราะห์สามารถให้ความช่วยเหลือเด็กๆ ที่ต้องเผชิญกับความรุนแรงอย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเริ่มใช้ในโรงพยาบาลอุดรธานี เจ้าหน้าที่สามารถบันทึกข้อมูลแบบออนไลน์ และเชื่อมโยงข้อมูลของผู้ป่วยและบริการเข้ากับระบบสารสนเทศของโรงพยาบาล และในอนาคตเมื่อมีการขยายผลไปยังโรงพยาบาลอื่นๆ ก็จะสามารถส่งต่อผู้ป่วยและข้อมูลระหว่างโรงพยาบาลผ่านทางระบบได้อย่างตรงประเด็นและครอบคลุมมากขึ้น

ปัจจุบันประเทศไทยมีนักสังคมสงเคราะห์เพียงแค่ 4 คนต่อประชากร 100,000 คน การมีข้อมูลที่ครบถ้วนและทันต่อสถานการณ์เกี่ยวกับรูปแบบและปัจจัยความเสี่ยงของการล่วงละเมิด จะช่วยให้นักสังคมสงเคราะห์สามารถทำงานกับครอบครัวเพื่อจับสัญญาณของการใช้ความรุนแรงและป้องกันไม่ให้เกิดเหตุร้ายแรงได้ นางคยองซัน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า “การขาดแคลนนักสังคมสงเคราะห์ และเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพและง่ายต่อการใช้งาน ส่งผลให้เด็กจำนวนมากอาจต้องตกหล่นในช่วงการส่งต่อบริการระหว่างหน่วยงาน ระบบ Primero เป็นการใช้เทคโนโลยีเพื่อให้ความช่วยเหลือเด็กกลุ่มเปราะบางอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะไม่มีเด็กคนไหนควรใช้ชีวิตด้วยความหวาดกลัวหรือถูกทิ้งไว้ข้างหลัง”

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 มีนาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...