ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คอลัมนิสต์ประจำอปท.นิวส์ ย้อนกลับ
CSR มหานคร
08 พ.ค. 2565

#CSRcontent โดย มนวิภา จูภิบาล กรรมการบริษัท วีอาร์ทวินส์ จำกัด

CSR มหานคร

ผู้สมัครเลือกตั้ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กำลังแข่งกันหาเสียงอย่างเข้มข้น แน่นอนว่า การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและสร้างพื้นที่สีเขียวเป็นหนึ่งประเด็นหลัก ที่ผู้สมัครหยิบยกขึ้นมาขับเคี่ยวกัน

เบอร์ 1 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร  “เมืองที่คนเท่ากัน” จะปรับปรุงทางเท้าให้ดี ปรับพื้นที่รกร้างเป็นสวนสาธารณะ ลอกท่อทั่วเมือง ลองคลองทั่วกรุง ขึ้นค่าเก็บขยะห้างใหญ่เอาไปปรับปรุงการเก็บขยะครัวเรือน จะซื้อหรือเช่าที่ดินเอกชน และใช้มาตรการทางภาษีจูงใจให้เอกชนยอมปล่อยที่ดินมาพัฒนาเป็นสวนสาธารณะ พร้อมการออกข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ให้อาคารสร้างใหม่ทุกแห่ง ต้องมีพื้นที่สีเขียวที่ใช้ประโยชน์ได้ เน้นการบริหารโปร่งใสไร้คอร์รัปชั่น

เบอร์ 3 นายสกลธี ภัททิยกุล “กทม.ดีกว่านี้ได้” นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม จะแก้ปัญหาการระบายน้ำและผังเมือง  จะขยายพื้นที่ขายของและหาพื้นที่ใหม่ นำพื้นที่ว่างเปล่าของ กทม. มาพัฒนาเป็นสวนสาธารณะ และวางระบบบริหารจัดการที่มีความโปร่งใส 

เบอร์ 4 นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ “เปลี่ยนกรุงเทพฯ เราทำได้” ชูนโยบายเปลี่ยนชีวิตคนกรุงเทพฯ และเปลี่ยนเมือง เน้นแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม จะปรับปรุงสวนสาธารณะที่มีอยู่เดิมและเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้คนฝั่งธนบุรี เปลี่ยนพื้นที่รกร้างให้เป็นสวนสาธารณะขนาดย่อม ต้องการให้มีพื้นที่ให้ครอบครัวพักผ่อนหย่อนใจแบบ Pocket Park จะลดภาษีให้เจ้าของที่ดินเอกชนนำมาเปลี่ยนเป็นสวนสาธารณะ และแก้ปัญหากรุงเทพฯจมบาดาลจากสถานการณ์โลกร้อน

เบอร์ 6 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง “กรุงเทพฯ ต้องไปต่อ” สร้างสิ่งแวดล้อมและเมืองที่ดีต่อจากที่ดำเนินการอยู่แล้ว เดินหน้าปลูกต้นไม้ในสวนสาธารณะ ริมทางรถไฟฟ้า เพื่อลดภาวะโลกร้อน เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้ 10 ตารางเมตรต่อคนตามแผน Green Bangkok 2030 ทั้งนี้ พื้นที่สีเขียวของคนกรุงเทพฯเพิ่มขึ้นทุกปี จากเดิมเมื่อปี 2556 อยู่ที่ 4.92 ตารางเมตรต่อคน ล่าสุดเพิ่มเป็น 7.34 ตารางเมตรต่อคน ทำให้ขยับเข้าใกล้เกณฑ์มาตรฐานองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ 9 ตารางเมตรต่อคนมากขึ้น พื้นที่สีเขียวต้องเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ง่าย และผลักดันโครงการแก้ปัญหาน้ำท่วมต่อเนื่อง

เบอร์ 8 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ “มาช่วยกันทำกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน” มีความเห็นว่าปัจจุบัน กทม. ใช้งบประมาณในการจัดการ "ขยะ" มากกว่าการจัดการ "ความรู้" หลายสิบเท่า ถ้าสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการขยะเพื่อลดค่าใช้จ่ายลงสัก 5-10% แล้วเอามาใช้ในการจัดการความรู้น่าจะทำสิ่งดีๆ ให้ กทม.ได้อีกเยอะ เสนอแนวคิดกรุงเทพ 15 นาที เน้นการพัฒนาพื้นที่สีเขียวร่วมกับภาคเอกชนโดยใช้มาตรการทางภาษีที่ดิน สร้างพื้นที่สาธารณะที่พ่อแม่ลูกเดินถึงภายใน 15 นาที และชูนโยบาย "ผู้ว่าฯ เที่ยงคืน" ดูแลชีวิตประชาชนได้อย่างรอบด้านตลอด 24 ชั่วโมง บริการภาครัฐช่วงกลางคืน เช่น จัดระเบียบตลาดและพื้นที่เศรษฐกิจ จัดเก็บขยะ และงานซ่อมบำรุงต่างๆ

เบอร์ 11 นาวาอากาศตรี ศิธา ทิวารี “ผมจะทำสิ่งที่ผู้ว่าฯ กทม.ไม่เคยทำ” สร้างเมืองหลวงด้วยนโยบาย 3P ได้แก่ People การสร้างเมืองแห่งโอกาสให้ชาวกรุงเทพ Profit สร้างงาน สร้างรายได้ ให้โอกาสในการทำมาค้าขายแก่ประชาชน และ Planet การสร้างคุณภาพชีวิตคนกรุงเทพอย่างยั่งยืน ใช้มาตรการทางภาษี และการให้รางวัลพิเศษในรูปแบบของเหรียญดิจิทัล "Bangkok Coin" สะสมคะแนนแลกรับสิทธิพิเศษจาก กทม.

สถาบันไทยพัฒน์เสนอไว้ตั้งแต่ปี 2556 ว่า กรุงเทพมหานคร ในฐานะที่เป็นเมืองชั้นนำซึ่งได้รับการยอมรับและเป็นที่รู้จักของนานาประเทศ และเป็นหนึ่งในสมาชิกของเครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อความยั่งยืน (ICLEI - Local Governments for Sustainability) ปัจจุบันมีสมาชิกเข้าร่วมกว่า 2500 แห่ง ใน 125 ประเทศทั่วโลก สามารถนำเอาแนวทางการบริหารกิจการเมืองที่ผนวกเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้ประกอบการ (CSR) เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะใน 3 เรื่องหลักด้วยกันคือ Gateway - Green - Good Life 

Gateway ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายด้านการศึกษา วัฒนธรรม และสุขภาพ เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินงานในรูปของ CSR เพื่อการพัฒนามหานครให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค

Green เพิ่มพื้นที่สีเขียว ด้วยการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพ ผลักดันให้ CSR ถูกกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ ส่งเสริมให้มีการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นมหานครตัวอย่างแห่งการจัดการเพื่อความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อมุ่งสู่การเป็นมหานครที่น่าอยู่และยั่งยืน (Sustainable Metropolis)

Good Life เป็นหุ้นส่วนร่วมกับภาคธุรกิจเอกชน เสริมสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้และอยู่ดีมีสุข เปิดโอกาสให้คนในชุมชนที่อยู่รอบสถานประกอบการเข้าฝึกงานเพื่อพัฒนาและเพิ่มศักยภาพการทำงานของตนเอง

นโยบาย CSR ของภาคเอกชน ส่วนหนึ่งจะสนับสนุนโครงการของภาครัฐอยู่แล้ว เพื่อให้โครงการใหญ่ขึ้น มีงบประมาณมากขึ้น และสัมฤทธิ์ผลได้เร็วขึ้น หรือมีการออกแบบโครงการที่เชิญภาครัฐมาร่วมด้วยเพื่อบูรณาการความเชี่ยวชาญ หรือเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน ในส่วนของเมืองใหญ่ CSR ด้านสิ่งแวดล้อมก็มักจะวนเวียนอยู่กับเรื่อง ขยะ น้ำเสีย น้ำท่วม ควันพิษ ปัญหาพลาสติก พื้นที่สาธารณะ เป็นต้น

ตัวอย่างเช่น โครงการ CSR ของบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC ที่ร่วมกับกรุงเทพมหานคร จัดการประกวดออกแบบคอกกั้นขยะพับได้ เมื่อเดือนสิงหาคมปี 2562 เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการรักษาความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง มีผู้ส่งผลงานเข้าประกวด 49 ชิ้นงาน ผลงานชนะเลิศ ออกแบบโดยคุณสำเริง กิกสันเทียะ ได้รับเงินรางวัล 100,000 บาท IRPC ได้นำแบบชนะเลิศไปผลิตคอกกั้นขยะจำนวน 600 ชิ้น โดยใช้เม็ดพลาสติก PP ของ IRPC ที่มีส่วนผสมของเม็ดพลาสติกรีไซเคิล มีความแข็งแรง คงทน และสามารถนำมาผลิตขึ้นรูปใช้ใหม่ได้ถึง 5 ครั้ง มอบให้กรุงเทพมหานครไว้ติดตั้งตามสถานที่ท่องเที่ยวและย่านการค้า

หวังว่าเลือกตั้งครั้งนี้ เราจะได้มหานครที่น่าอยู่และยั่งยืน

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...