ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คุณภาพชีวิต ย้อนกลับ
คปภ.ถกด่วน 15 พ.ย.เคสยกเลิกประกันโควิด
13 พ.ย. 2564

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวว่า กรณีที่สมาคมประกันวินาศภัยฯ เสนอขอให้พิจารณายกเลิกคำสั่งนายทะเบียนดังกล่าวนั้น อาจจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชน

โดยเห็นได้ชัดเจนในช่วงที่เกิดปัญหาการบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิดเมื่อช่วงเดือน กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา การบอกเลิกในลักษณะ “เหมาเข่ง” จะมีเสียงสะท้อนต่อความเชื่อมั่นของประชาชนอย่างมาก

อย่างไรก็ดีเมื่อบริษัทประกันวินาศภัยเดือดร้อน คปภ.ก็ต้องรับฟัง โดยขณะนี้บอร์ด คปภ.ได้รับทราบถึงปัญหาเบื้องต้นแล้ว แต่เห็นว่าต้องมีข้อมูลตัวเลขรายละเอียดและผลกระทบมาสนับสนุนเพิ่มเติม เพราะถ้าจะปรับปรุงหรือยกเลิกคำสั่งจะกระทบกับประชาชนผู้เอาประกันหลายสิบล้านคน

คปภ.จึงต้องระมัดระวังมาก และคงต้องชั่งน้ำหนักระหว่างการหามาตรการอื่นในการเยียวยา กับข้อเสนอให้ยกเลิกคำสั่งว่าแนวทางไหนจะมีผลกระทบมากกว่ากัน โดยสิ่งที่ คปภ.คำนึงถึงคือธุรกิจประกันต้องอยู่ได้ด้วยความเชื่อมั่นของประชาชน

“เราต้องมาดูว่าบริษัทประกันไหนบ้างที่ได้รับผลกระทบ และแต่ละบริษัทได้รับผลกระทบแค่ไหน ควรจะใช้มาตรการผ่อนผันแบบเจาะเป็นรายบริษัท หรือออกมาตรการผ่อนผันแบบเหมาเข่ง” นายสุทธิพลกล่าว

โดย คปภ.เตรียมนัดประชุมสมาคมประกันวินาศภัยไทยและบริษัทสมาชิกเข้าร่วมหารือในวันจันทร์ที่ 15 พ.ย. 64 ว่าจะมีวิธีการ หรือทางเลือกอื่น ๆ ให้ประชาชนหรือไม่ เพราะตอนนี้ข้อเสนอมีแค่แนวทางเดียวคือให้ยกเลิกคำสั่ง บอกเลิกกรมธรรม์ประกันโควิด ซึ่งไม่ค่อยได้รับการยอมรับจากประชาชน ดังนั้นควรจะเป็นแบบสมัครใจในการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขความคุ้มครองหรือไม่ และหากประชาชนพอใจก็เป็นสิทธิของคู่สัญญาที่จะตกลงกัน

“ไม่ใช่อยู่ ๆ ไปบังคับบอกเลิกกรมธรรม์โควิดกับลูกค้าแบบนั้นคงไม่ได้ แต่ควรจะต้องให้ออฟชั่น หรือมีมาตรการช่วยเหลือออกมาจะเหมาะสมมากกว่าจึงต้องมาคุยกันก่อน” เลขาธิการ คปภ.กล่าว

ขณะที่ปัจจุบันภาพรวมเบี้ยประกันภัยโควิดค่อนข้างนิ่งแล้ว ตั้งแต่ปี 63-64 เบี้ยประกันโควิดทั้งระบบประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท แต่ยอดเคลมเกือบ 3 หมื่นล้านบาท แต่คงต้องมาพิจารณาว่าแต่ละบริษัทจ่ายไปเท่าไร แต่ทราบแน่นอนแล้วว่า 3 บริษัทประกันที่ขายเจอจ่ายจบ และอนุมัติเข้ามาตรการเสริมสภาพคล่อง จ่ายเคลมสินไหมท่วมเบี้ยประกันไปแล้ว

นายสุทธิพลกล่าวเพิ่มเติมว่า คปภ.ก็กังวลว่าถ้าบริษัทมีปัญหาขาดสภาพคล่องและถูกเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งแม้ลูกค้าจะได้เงินคืน แต่ก็ต้องรอประมาณ 4-5 เดือน กับแนวทางที่บริษัทประกันเสนอมา คปภ.ก็คงต้องชั่งน้ำหนัก แต่โดยส่วนตัวมองว่าให้สิทธิประชาชนเป็นคนเลือกดีที่สุด

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 มีนาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...